คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8899/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 แล้ว คงเหลือปัญหาตามฎีกาซึ่งเป็นเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงข้อเดียวว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าธรรมเนียมศาลให้ฝ่ายจำเลยใช้แทนแก่โจทก์สูงเกินไป โดยที่ไม่ได้ยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่าเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 168 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 9,725,172.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,288,121.96 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระเงิน 12,667,467.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 11,788,121.96 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 6 เนื่องจากจำเลยที่ 6 ถึงแก่ความตายก่อนฟ้องคดีแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 500,000 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 50,000 บาท จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 562,500 บาท จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 562,500 บาท จำเลยที่ 7 ชำระเงิน 250,000 บาท และจำเลยที่ 8 ชำระเงิน 12,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 สิงหาคม 2558) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 2,644,484.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันชำระเงิน 4,020,769 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์กระทำในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจบริษัทเอ็นทีซี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศญี่ปุ่น) จำกัด ตามสัญญาซื้อขายหุ้น โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ส่วนจำเลยที่ 1 มิใช่คู่สัญญากับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ใช่ความผิดของคู่สัญญาฝ่ายใด คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์และโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้ว แสดงว่าต่างฝ่ายต่างมีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนฐานะดังเดิม เมื่อสัญญาซื้อขายหุ้น ข้อ 9.3 วรรคสอง ระบุในกรณีที่สัญญาเลิกกันตามข้อ 9.3 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตกลงคืนเงินที่รับไว้แล้วทั้งหมด รวมถึงชดใช้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปเนื่องจากการปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักรตามความเป็นจริง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จึงต้องชำระเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 รับไป และค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ่ายไปในการปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักร เมื่อจำเลยที่ 2 ถือหุ้น 20,000 หุ้น จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินค่าหุ้น 500,000 บาท จำเลยที่ 3 ถือหุ้น 2,000 หุ้น จำเลยที่ 3 จึงต้องคืนเงินค่าหุ้น 50,000 บาท จำเลยที่ 4 ถือหุ้น 22,500 หุ้น จำเลยที่ 4 จึงต้องคืนเงินค่าหุ้น 562,500 บาท จำเลยที่ 5 ถือหุ้น 22,500 หุ้น จำเลยที่ 5 จึงต้องคืนเงินค่าหุ้น 562,500 บาท จำเลยที่ 7 ถือหุ้น 10,000 หุ้น จำเลยที่ 7 จึงต้องคืนเงินค่าหุ้น 250,000 บาท จำเลยที่ 8 ถือหุ้น 500 หุ้น จำเลยที่ 8 จึงต้องคืนเงินค่าหุ้น 12,500 บาท แก่โจทก์ ส่วนค่าปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักร ตามตารางสรุปค่าใช้จ่าย มีค่าใช้จ่ายก่อนวันที่ 22 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาและหลังจากเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งโจทก์แจ้งยุติการปรับปรุงซ่อมแซมแล้ว จึงไม่กำหนดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ คงมีค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต้องรับผิดต่อโจทก์ 3,412,237.96 บาท แต่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ไปแล้ว โดยจำเลยที่ 6 มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ร้อยละ 22.5 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 8 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ 2,644,484.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายหุ้นระบุไว้ว่า โจทก์ทำสัญญาในฐานะส่วนตัวและตัวแทนของบริษัทเอ็นทีซี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศญี่ปุ่น) จำกัด โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญา มีอำนาจฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 1 มีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้น การทำสัญญาซื้อขายหุ้นไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่ศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว และวินิจฉัยว่าตามสัญญาซื้อขายหุ้นข้อ 8.1 กำหนดกรณีผิดสัญญาของฝ่ายจำเลยไว้ 3 กรณี คือ กรณีแรกเมื่อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด กรณีที่สองเมื่อผิดคำรับรองข้อหนึ่งข้อใด กรณีที่สามเมื่อทำให้สิทธิในการประกอบกิจการมีมูลค่าลดน้อยถอยลงหรือเสื่อมค่าเสื่อมราคา ซึ่งฝ่ายจำเลยให้คำรับรองไว้ในข้อ 4.17 ว่าจะให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่โจทก์หรือตัวแทนในการเข้าปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้จำเลยที่ 1 สามารถจำหน่ายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ และจะให้ความร่วมมือประสานงาน จัดเตรียมหรือให้ข้อมูลเอกสารต่าง ๆ อย่างเต็มที่เมื่อมีการร้องขอจากโจทก์ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องการหรือแจ้งให้ฝ่ายจำเลยช่วยเหลือประการใด และยังได้ความว่า จำเลยที่ 2 พยายามติดต่อขอทราบปัญหาของโจทก์ที่ไม่สามารถดำเนินการทดสอบระบบการผลิตไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตามกำหนด แต่ไม่ได้รับการติดต่อจากโจทก์ และได้ความจากการที่จำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จ่ายเงินค่าไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแทนโจทก์และยังให้โจทก์ยืมเงินเพื่อนำไปซ่อมเครื่องจักร แสดงให้เห็นว่าฝ่ายจำเลยพยายามช่วยเหลือโจทก์ในการปรับปรุงและซ่อมแซมเครื่องจักรตลอดจนแก้ไขปัญหาขัดข้องอื่นตามคำรับรองที่ให้ไว้ในสัญญา จึงฟังไม่ได้ว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญา และตามสัญญาข้อ 8.2 กำหนดกรณีที่ฝ่ายโจทก์ผิดสัญญาไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกเมื่อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด กรณีที่สองเมื่อผิดคำรับรองข้อหนึ่งข้อใด เว้นแต่คำรับรอง ข้อ 5.6 ที่กำหนดว่า “ผู้รับโอนจะดำเนินการปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อให้จำเลยที่ 1 สามารถขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2556” นอกจากนั้นสัญญาข้อ 8.2 วรรคสองยังกำหนดไว้อีกว่า ไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหากโจทก์ไม่สามารถปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตามกำหนดเวลาในข้อ 6.1 คือ วันถัดจากวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามสัญญาเลขที่ VSPP-PEA 129/2555… หรือภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 แล้วแต่วันใดจะถึงกำหนดก่อน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้เครื่องจักรผลิตไฟฟ้าได้ตามกำหนดในคำรับรอง ก็ไม่ถือเป็นการผิดสัญญา เมื่อฟังไม่ได้ว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามข้อ 9.3 ซึ่งเป็นกรณีที่การรับซื้อไฟฟ้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด อันมิใช่ความผิดของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ อันไม่ใช่ความผิดของคู่สัญญาฝ่ายใดและจำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 9.3 ซึ่งในวรรคสองกำหนดว่า ในกรณีที่เป็นการเลิกสัญญาเพราะเหตุตามข้อ 9.3 ฝ่ายจำเลยตกลงคืนเงินที่ได้รับไว้แล้วทั้งหมดรวมทั้งชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ฝ่ายโจทก์ต้องเสียไปเนื่องจากการปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักรตามความเป็นจริง เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายหุ้นในฐานะส่วนตัวและตัวแทนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 โดยกำหนดคำรับรองและหน้าที่ตามสัญญาที่ต้องปฏิบัติในลักษณะของลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์คืนเงินค่าหุ้น 2,500,000 บาท ที่ได้รับไว้ตามสัญญา สำหรับค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักรที่โจทก์ขอมา เมื่อพิจารณาตารางสรุปค่าใช้จ่าย ปรากฏค่าใช้จ่ายหลายประเภท แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุและอุปกรณ์มีจำนวน 1,520,769 บาท ซึ่งตามสัญญาซื้อขายหุ้นข้อ 9.3 กำหนดให้โจทก์ได้รับการชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ฝ่ายโจทก์ต้องเสียไปเนื่องจากการปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักรตามความเป็นจริงเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักรไป 1,520,769 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกา
ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นเพียงตัวแทนของบริษัทเอ็นทีซี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศญี่ปุ่น) จำกัด ในการทำสัญญาซื้อขายหุ้นเท่านั้น โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ฝ่ายจำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินค่าหุ้นหรือชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรแก่โจทก์ เห็นว่า เนื้อหาฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ในประเด็นดังกล่าวนี้ ส่วนที่เป็นสาระสำคัญล้วนคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยแจ้งชัดว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ควรวินิจฉัยอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ยกขึ้นอ้างในฎีกาว่า ก่อนลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น จำเลยที่ 2 เปิดเผยสภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในโรงงาน ณ เวลานั้น ด้วยความสุจริตใจโดยไม่มีการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด ซึ่งโจทก์รับทราบความจริงทั้งหมดและได้มีการติดต่อหาข้อมูลจากผู้ขายชิ้นส่วนในสาธารณรัฐประชาชนจีนเกี่ยวกับชิ้นส่วนที่ต้องใช้ในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมดเพื่อให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ อีกทั้งมีการวางแผนเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 ก่อนมีการลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์จึงไม่สามารถปฏิเสธการรับรู้สภาพที่แท้จริงของเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมด หรือกล่าวหาว่าจำเลยปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับสภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ ณ เวลานั้นได้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ชำระค่าธรรมเนียมศาลแทนโจทก์สูงเกินไป เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ดังกล่าวแล้ว คงเหลือปัญหาตามฎีกาซึ่งเป็นเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงข้อเดียวว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าธรรมเนียมศาลให้ฝ่ายจำเลยใช้แทนแก่โจทก์สูงเกินไป โดยไม่ได้ยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่าเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 ซึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share