คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 4, 16 วรรคหนึ่ง, 88 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยมีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 มากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 100/2 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7, 8, 14 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 5, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 83, 91 ริบของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 771/2555 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อหามีคีตามีนเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้ไว้ในครอบครองเพื่อขาย ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อศาลลงโทษดังกล่าวแล้วจึงไม่อาจบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 771/2555 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา เข้ากับโทษในคดีนี้ได้ คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ริบเมทแอมเฟตามีน (ที่ถูก ริบคีตามีนด้วย) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 หมายเลข 08 0627 xxxx และ 09 8304 xxxx ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากหมายเลขดังกล่าวให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่สมคบกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง และจำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจจึงลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 25 ปี และปรับ 2,000,000 บาท กับจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 4,000,000 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 12 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000,000 บาท บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 771/2555 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้รวมเป็นจำคุก 12 ปี 10 เดือน และปรับ 1,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 2,666,666.67 บาท เฉพาะจำเลยที่ 3 เมื่อบวกโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 2 ปี 6 เดือน แล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 35 ปี 10 เดือน และปรับ 2,666,666.67 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) การกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ริบของกลางทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติเบื้องต้นว่า ตามวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ก่อนมีการจับกุมจำเลยทั้งสาม เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดได้คนหนึ่งชื่อนายธนาวุฒิ พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางคดีนั้น 100 เม็ด นายธนาวุฒิให้การว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานตำรวจให้นายธนาวุฒิใช้โทรศัพท์ติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 จำนวน 200 เม็ด จนนำไปสู่การจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ในเบื้องต้น 200 เม็ด และให้จำเลยที่ 1 นำไปยึดได้จากห้องเช่าของจำเลยที่ 1 ที่คอนโดลุมพินีหรืออาคารชุดลุมพินีเมกะซิตี้ บางนาอีก 36,000 เม็ด แล้วทำการสอบสวนขยายผลตามไปจับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับยึดคีตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของกลาง 2 ขวด ได้จากในห้องพักของจำเลยที่ 3 ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 3 เฉพาะข้อหามีคีตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่มีฝ่ายใดฎีกา เป็นอันยุติ
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ ได้ความจากพยานโจทก์ผู้จับกุมปากดาบตำรวจธนาชัย และดาบตำรวจชัยวุฒิ ว่าเหตุที่มีการจับกุมจำเลยที่ 3 เกิดจากคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ว่าได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาเพื่อจำหน่าย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงนอกเหนือจากนี้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลางอย่างไร เพราะเมทแอมเฟตามีนของกลางตามข้อเท็จจริงยึดได้ในห้องพักของจำเลยที่ 1 ซึ่งดาบตำรวจธนาชัยเองก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 3 ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เก็บซุกซ่อนไว้ในห้องพักของจำเลยที่ 1 หลักฐานอย่างอื่นเช่นข้อความการพูดคุยตามโปรแกรมไลน์ก็ดี ในสมุดบันทึกที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 ก็ดี หรือตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์ก็ดี ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเชื่อมโยงแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 กระทำการเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางอย่างไร แม้จะปรากฏในบันทึกการจับกุมว่าจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ ก็ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ส่วนในชั้นสอบสวนปรากฏว่า ครั้งแรกจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ ต่อมาสอบสวนเพิ่มเติมให้การปฏิเสธ อ่านถ้อยคำให้การโดยรวมแล้วเหมือนจำเลยที่ 3 ให้ถ้อยคำรับสารภาพไม่ชัดแจ้งว่าเป็นการกระทำเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางในคดีนี้หรือเป็นการกระทำก่อนเกิดเหตุ เจือสมกับที่จำเลยที่ 3 นำสืบชั้นพิจารณาว่าเป็นการให้การเกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งก่อนไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ทั้งจำเลยที่ 1 ก็มาเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้อง ดังนั้น พยานหลักฐานหลักของโจทก์จึงมีแต่คำซัดทอดของผู้ต้องหาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 และคำพยานบอกเล่าชั้นสอบสวนมีน้ำหนักน้อยไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนให้รับฟังได้มั่นคงสิ้นสงสัย ต้องยกประโยชน์ แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษข้อหานี้แก่จำเลยที่ 3 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเมื่อโจทก์ไม่มีพยานนำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 0305 xxxx และ 09 3304 xxxx ที่ยึดได้จากจำเลยที่ 3 ติดต่อซื้อขายและส่งมอบยาเสพติดในคดีนี้อย่างใด โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางดังกล่าวจึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเลยที่ 3 ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับและให้ยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 4, 16 วรรคหนึ่ง, 88 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยมีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สี่แสนถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 มากกว่าพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ส่วนโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 118 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 0305 xxxx และ 09 3304 xxxx ของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share