คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3763/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368,386มิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษให้ดำเนินคดีนี้จะเป็นผู้ใดหามีความสำคัญไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368, 386,83

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 คงพิจารณาคดีไปเฉพาะจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานปลูกปักหรือวางสิ่งของเกะกะไว้ในทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 386 ลงโทษปรับ 500 บาทกระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ลงโทษปรับ 500 บาทอีกกระทงหนึ่ง รวมสองกระทง เป็นโทษปรับ1,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากนายจรูญพัฒนเสถียรกุล ผู้แจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษให้ดำเนินคดีนี้เป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอกำแพงแสน ไม่ใช่นายอำเภอ ถือไม่ได้ว่าเป็นผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษให้ดำเนินคดีนี้ได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จะเป็นคดีความผิดลหุโทษแต่มิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษให้ดำเนินคดีนี้จะเป็นผู้ใดหามีความสำคัญไม่ จำเลยเองก็ได้แถลงรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2525 ว่า พนักงานสอบสวนได้สอบสวนคดีนี้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฉะนั้น จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องย่อมฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share