คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1840/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 610/2495 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการยักยอกเงินอยู่ในระหว่างระยะเวลาที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดในคดีนี้ด้วยก็ดี แต่เมื่อปรากฏว่าเงินที่จำเลยได้รับไว้ในคดีนี้จากบุคคลคนละคน คนละคราวต่างกรรมต่างวาระกัน ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎีกาที่ 1086/2496)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นพนักงานเทศบาลมีหน้าที่เก็บเงินผลประโยชน์ของเทศบาล วันที่ 19 มิถุนายน 2493 เวลากลางวันจำเลยได้รับเงินค่าใบอนุญาตสะสมอาหารจากนางเม้ง 20 บาท อันเป็นเงินผลประโยชน์ของเทศบาลตำบลป่าโมกครั้นวันใดไม่ปรากฏชัดระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน 2493 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2494 จำเลยยักยอกเงินสะสมอาหาร 20 บาท ดังกล่าวไป จำเลยนี้เป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีแดงของศาลจังหวัดอ่างทองที่ 610/2495 ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 ฯลฯ

จำเลยปฏิเสธและตัดฟ้องว่า ความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นกรณีเดียวกันกับความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตามสำนวนคดีดำที่ 329/2494 คดีแดงที่610/2495 สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) และคำพิพากษาฎีกาที่ 752/2486 โจทก์ควรจะรวมฟ้องเสียคราวเดียวกัน เพราะเป็นกรรมและวาระเดียวกันซึ่งศาลได้พิพากษาในความผิดนี้เสร็จเด็ดขาดไปแล้วจะนำกฎหมายบทอื่นที่จำเลยทำละเมิดแต่ไม่ได้ฟ้องในครั้งก่อนมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1182/2494 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยได้ถูกฟ้องและศาลได้พิพากษาลงโทษไปแล้วในคดีอาญาแดงที่ 610/2495 ถึงจะปรากฏหลักฐานขึ้นภายหลังว่าจำเลยได้ยักยอกเงินรายอื่นของเทศบาลป่าโมก แต่ก็เป็นเงินจำพวกผลประโยชน์ของเทศบาลอยู่นั่นเอง โจทก์หมดสิทธิฟ้องร้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์คัดค้านว่า ต่างกรรม ต่างวาระกัน

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วสืบพยานต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 610/2495ของศาลจังหวัดอ่างทอง ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการยักยอกเงินในระหว่างระยะเวลาที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดในคดีนี้ด้วยก็ดีแต่เงินที่จำเลยได้รับไว้ตามหน้าที่นั้น จากบุคคลคนละคน และรับเงินไว้คนละคราว ต่างกรรม ต่างวาระ ฉะนั้นฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องซ้ำดังฎีกาของจำเลย โดยนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1086/2496

พิพากษายืนให้ยกฎีกาจำเลย

Share