แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับสหภาพแรงงาน น. กำหนดว่าการประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงาน น. จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่จดทะเบียนไว้ สหภาพแรงงาน น. มีคณะกรรมการตามที่จดทะเบียนไว้จำนวน 11 คน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงาน น. เพื่อแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างมีกรรมการสหภาพแรงงาน น. เข้าร่วมประชุม 5 คน จึงไม่ครบองค์ประชุม โจทก์จึงเป็นกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างรวม 27,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้างค้างชำระจากเงินต้น 19,150 บาท ทุกระยะ 7 วัน และให้จำเลยชำระค่าจ้างทุกรอบระยะเวลาจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนพร้อมทั้งค่าน้ำมันเดือนละ 4,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าโจทก์จะเกษียณอายุ 60 ปี
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างของเดือนพฤษภาคม 2547 รวมเป็นเงิน 10,883.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระเงินเดือน เดือนละ 38,300 บาท กับเงินค่าน้ำมันรถเดือนละ 4,500 บาท นับจากเดือนมิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะพ้นจากสถานะการเป็นลูกจ้างของจำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินเดือน และเงินค่าน้ำมันรถนับแต่วันผิดนัดที่ถึงกำหนดการจ่ายแต่ละเดือนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า… คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2 และข้อ 2.4 ที่ว่าสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มีกรรมการ 11 คน เมื่อการประชุมกรรมการสหภาพดังกล่าวเพื่อแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง มีกรรมการเข้าประชุมเพียง 5 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามข้อบังคับข้อ 41 การประชุมดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประชุมตามข้อบังคับข้อ 24 และข้อ 41 การประชุมแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางนั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์กำหนดว่าการประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่จดทะเบียนไว้สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มีคณะกรรมการตามที่จดทะเบียนไว้จำนวน 11 คน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เพื่อแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างมีกรรมการสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เข้าร่วมประชุม 5 คน จึงไม่ครบองค์ประชุม โจทก์จึงเป็นกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 การเลิกจ้างโจทก์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยอีกต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.