คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6944/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นาย ช. นาย ธ. และนาย พ. ลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางให้แก่ลูกค้าของโจทก์ที่มาใช้บริการเพื่อการท่องเที่ยว ได้ร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ไม่กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างทั้งสาม จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างทั้งสาม โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกี่ยวกับวันหยุดและวันลาประเภทต่างๆ ไว้ นอกจากนี้ในกรณีไม่มีงานทำหรือไม่ได้ขับรถเพราะไม่มีผู้ว่าจ้างใช้บริการของโจทก์ โจทก์ยังยินยอมให้ลูกจ้างขอลาหยุดปีละไม่น้อยกว่า 30 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งโจทก์อ้างว่าการขอลาหยุดในกรณีนี้ได้รวมวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 6 วัน เข้าไว้แล้ว เพียงแต่การลาดังกล่าวลูกจ้างไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการลาประเภทใด แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าเป็นการลาหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 บัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน แม้โจทก์จะกำหนดเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานสอดคล้องกับบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพื่อให้ลูกจ้างได้ใช้สิทธิหยุด แม้โจทก์จะให้ลูกจ้างสามารถลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างปีละไม่น้อยกว่า 30 วัน มากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นคุณแก่ลูกจ้างก็ตาม แต่ก็เฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างไม่มีงานทำหรือไม่ได้ขับรถเพราะไม่มีผู้ว่าจ้างใช้บริการ ลักษณะวันหยุดดังกล่าวจึงไม่ใช่วันหยุดพักผ่อนประจำปี เพราะมีเงื่อนไขว่าจะลาหยุดได้เฉพาะกรณีไม่มีงานทำเท่านั้น ทั้งลูกจ้างก็มิได้ระบุให้ชัดเจนว่าวันลาหยุดดังกล่าวเป็นการขอลาหยุดในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ถือได้ว่าลูกจ้างของโจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิหยุดสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์จำต้องชำระค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างทั้งสามตามคำสั่งของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจสอบแรงงานที่ 10/2547 ลงวันที่ 9 เมษายน 2547 ของจำเลยโดยให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างดังกล่าวเป็นเงินคนละ 2,040 บาท รวมเป็นเงิน 6,120 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์จะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2545 และปี 2546 ให้แก่ลูกจ้างโจทก์สามคนตามคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน ลงวันที่ 9 เมษายน 2547 หรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นายเชาว์ นายธงชัยและนายพนอเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขับรถทำหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางให้แก่ลูกค้าของโจทก์ที่มาใช้บริการเพื่อการท่องเที่ยว เริ่มทำงานเมื่อปี 2529 ปี 2521 และปี 2537 ตามลำดับ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละ 5,100 บาท ต่อเดือน ต่อมาลูกจ้างทั้งสามได้ร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ไม่กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2545 และปี 2546 ให้แก่ลูกจ้างทั้งสาม ขอให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างทั้งสาม จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างทั้งสามคนละ 12 วัน เป็นเงินคนละ 2,040 บาท ตามคำสั่งดังกล่าวแล้วข้างต้น โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกี่ยวกับวันหยุดและวันลาประเภทต่างๆ นอกจากนี้ในกรณีไม่มีงานทำหรือไม่ได้ขับรถเพราะไม่มีผู้ว่าจ้างใช้บริการของโจทก์ โจทก์ยังยินยอมให้ลูกจ้างขอลาหยุดปีละไม่น้อยกว่า 30 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งโจทก์อ้างว่าการขอลาหยุดในกรณีนี้ได้รวมวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 6 วัน เข้าไว้แล้ว เพียงแต่การลาดังกล่าวลูกจ้างไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการลาประเภทใด แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าเป็นการลาหยุดพักผ่อนประจำปี ดังนี้ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน…” จากบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างจะต้องเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือมิฉะนั้นก็จะต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน สำหรับคดีนี้จะเห็นได้ว่า แม้โจทก์จะกำหนดเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานสอดคล้องกับบทบัญญัติข้างต้นก็ตาม แต่โจทก์ก็หาได้เป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพื่อให้ลูกจ้างได้ใช้สิทธิหยุดไม่ แม้โจทก์จะให้ลูกจ้างสามารถลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างอีกปีละไม่น้อยกว่า 30 วัน มากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นคุณแก่ลูกจ้างก็ตาม แต่ก็เฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างไม่มีงานทำหรือไม่ได้ขับรถเพราะไม่มีผู้ว่าจ้างใช้บริการ ลักษณะวันหยุดดังกล่าวจึงหาใช่เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ เพราะมีเงื่อนไขว่าจะลาหยุดได้เฉพาะกรณีที่ลูกจ้างไม่มีงานทำเท่านั้น ทั้งลูกจ้างก็มิได้ระบุให้ชัดเจนว่าวันลาหยุดดังกล่าวเป็นการขอลาหยุดในวันหยุดพักผ่อนประจำปีด้วย ถือได้ว่าลูกจ้างทั้งสามรายของโจทก์ดังกล่าวยังมิได้ใช้สิทธิหยุดสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2545 และปี 2546 โจทก์จำต้องชำระค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโจทก์ทั้งสามรายตามคำสั่งของจำเลย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share