คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายมิได้บัญญัติว่าถ้าสามีฟ้องคดีจะต้องได้รับความยินยอมจากภริยาเสียก่อนทุกกรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฟ้องคดีต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก็เฉพาะการฟ้องคดีเกี่ยวกับสินสมรสซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองฝ่ายต้องจัดการร่วมกันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1476สำหรับคดีนี้ปรากฎว่าจำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาโดยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเกี่ยวกับสินสมรสที่โจทก์กับภริยาต้องจัดการร่วมกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นข้อโต้เถียงว่าทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องเป็นสินสมรสอันจะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยาเสียก่อน โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทเมื่อวันที่8ธันวาคม2532จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1480ก่อนแก้ไขในปี2533ซึ่งบัญญัติว่า”ในการจัดการสินสมรสถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งนิติกรรมนั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน”ดังนั้นหากที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับป. และป. มิได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาจะซื้อจะชายนิติกรรมดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญามิได้คดีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อนว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับป.หรือไม่ถ้าเป็นสินสมรสแล้วป.ได้ให้ความยินยอมด้วยหรือไม่ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาย่อมเป็นการวินิจฉัยคดีโดยยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงให้แน่ชัดดังกล่าวข้างต้นทั้งยังเป็นการวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1480ที่แก้ไขแล้วในปี2533จึงยังไม่ถูกต้องกรณีมีเหตุสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2532 โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 816 ในราคา 144,000 บาท วางมัดจำในวันทำสัญญา 40,000 บาทที่เหลือจะไปชำระในวันซื้อขายและโอนที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินอำเภอทายาง จังหวัดเพชรบุรีในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2533 เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ยอมโอนขายที่ดินให้อ้างว่าภริยาไม่ยินยอมให้ขาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากต้องเสียดอกเบี้ยในเงินมัดจำที่ยืมผู้อื่นมาเป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน 8,950 บาทจึงขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนซื้อขายโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 816 ให้โจทก์ในราคา144,000 บาท หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายจำนวน 8,950 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาจึงไม่มีอำนาจฟ้อง นางปาน จันทร์โภชาหรือแซ่ลิ้ม เป็นภริยาของจำเลยได้นำเงินที่หาได้ในระหว่างที่จำเลยกับนางปานเป็นสามีภริยากันซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2520 ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสอันจะต้องจัดการร่วมกับนางปานซึ่งโจทก์รู้อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากนางปานจึงเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ และโจทก์ไม่มีสิทธินำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยให้โอนที่ดินพิพาทได้ เงินมัดจำเลยจำนวน 40,000 บาท เป็นเงินของโจทก์เอง ไม่ได้กู้ยืมผู้อื่น โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดค่าเสียหายและหากจะต้องเสียดอกเบี้ยก็เป็นความผิดของโจทก์ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดย่อมตกเป็นโมฆะด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนชี้สองสถานโจทก์แถลงขอสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 เสีย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนซื้อขายโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการกระทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 816 หน้า 16ตำบลกลัดหลวง(เขากระปุก) อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีให้แก่โจทก์ในราคา 144,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาได้เฉพาะข้อกฎหมายในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาให้ฟ้องคดีนี้ จึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสนั้น โจทก์มีอำนาจหรือไม่ เห็นว่าตามกฎหมายมิได้บัญญัติว่า ถ้าสามีฟ้องคดีจะต้องได้รับความยินยอมจากภริยาเสียก่อนทุกกรณี คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฟ้องคดีต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก็เฉพาะการฟ้องคดีเกี่ยวกับสินสมรสซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองฝ่ายต้องจัดการร่วมกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สำหรับคดีนี้ปรากฎว่าจำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาโดยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเกี่ยวกับสินสมรสที่โจทก์กับภริยาต้องจัดการร่วมกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นข้อโต้เถียงว่าทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องเป็นสินสมรสอันจะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยาเสียก่อน
ปัญหาต่อไปว่า ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยและนางปานหรือไม่ และนางปานได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทเมื่อวันที่ 8ธันวาคม 2532 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1480 ก่อนแก้ไขในปี 2533 ซึ่งบัญญัติว่า “ในการจัดการสินสมรส ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่ง นิติกรรมนั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน” หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางปาน และนางปานมิได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาจะซื้อจะขายนิติกรรมดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์ โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญามิได้ ดังนั้นจึงต้องฟังข้อเท็จจริงให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางปานหรือไม่ ถ้าเป็นสินสมรสแล้วนางปานได้ให้ความยินยอมด้วยหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษามานั้นเป็นการวินิจฉัยคดีโดยยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงให้แน่ชัดดังกล่าวข้างต้นทั้งยังเป็นการวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1,480ที่แก้ไขแล้วในปี 2533 จึงยังไม่ถูกต้อง กรณีมีเหตุสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นและพิพากษาศาลอุทธรณ์ตลอดจนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย ให้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและสืบพยานโจทก์จำเลยในปัญหาที่ว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางปานหรือไม่ และนางปานได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share