แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาจ้างเดิมไม่มีข้อตกลงที่นายจ้างจะปรับลูกจ้างผู้ลาออกระหว่างปีการศึกษาและไม่มีข้อกำหนดให้ลูกจ้างต้องมีผู้ค้ำประกัน การที่นายจ้างเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าวขึ้นใหม่และเป็นประโยชน์แก่นายจ้าง ฝ่ายเดียว อันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานโดยแท้ จึงเป็น การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง นายจ้างทำบันทึกถึงลูกจ้างสอบถามว่าจะทำงานต่อไปหรือ จะลาออก พร้อมทั้งกำหนดเวลาให้ลูกจ้างตอบ หากไม่ตอบให้ถือว่า ลูกจ้างลาออกเช่นนี้ หากลูกจ้างไม่ตอบบันทึกนายจ้างจะถือเอาเองว่า ลูกจ้างลาออกหาได้ไม่ การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป ย่อมเป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างทำเครื่องหมายลงในหัวข้อขอลาออกและมีหนังสือชี้แจงเหตุผล ว่าไม่สามารถจัดหาผู้ค้ำประกันได้ ถือได้ว่าลูกจ้างลาออกโดยสมัครใจ ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากนายจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นครูทำการสอนในโรงเรียนสากลวิทยาต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2526 จำเลยให้โจทก์ลาออกเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถหาผู้ค้ำประกันในการทำงานได้ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยให้หาผู้ค้ำประกันเพราะครูมักลาออกในระหว่างปีการศึกษา ทำให้นักเรียนเสียหาย โจทก์ลาออกด้วยความสมัครใจ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นนิติกรรมมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ และสัญญาค้ำประกันยังไม่ได้เริ่มต้น แต่โจทก์ลาออกเสียก่อน กรณีจึงปรับเข้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 153 ซึ่งห้ามมิให้โจทก์ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมก่อนถึงเวลากำหนดนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยได้มีอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2525 แต่จำเลยไม่พอใจที่ครูลาออกระหว่างปีการศึกษา ดังนั้นในปีการศึกษา พ.ศ. 2526 จำเลยจึงให้ครูที่ต้องการทำงานต่อไปต้องหาผู้ค้ำประกันมาทำสัญญากับจำเลยว่า หากครูผู้นั้นลาออกระหว่างปีการศึกษา พ.ศ. 2526 ครูผู้นั้นจะต้องถูกจำเลยปรับโดยผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดกับครูผู้นั้นด้วย ซึ่งหากครูผู้ใดหาผู้ค้ำประกันไม่ได้ครูผู้นั้นต้องลาออก กรณีเป็นดังนี้ บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 153 จึงไม่ตรงกับรูปเรื่องศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยให้โจทก์จัดหาผู้ค้ำประกันมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หากเป็นเพียงให้สภาพการจ้างผูกพันกันยิ่งขึ้นเท่านั้นเห็นว่า เมื่อปีการศึกษา พ.ศ. 2525 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยหาได้มีข้อตกลงที่จำเลยจะปรับครูผู้ลาออกระหว่างปีการศึกษา และต้องให้มีผู้ค้ำประกันด้วยไม่การที่จำเลยเพิ่มเงื่อนไขในการจ้างสอนประการนั้นขึ้นใหม่ มิฉะนั้นครูจะต้องลาออกเงื่อนไขสองประการนั้นเป็นประโยชน์ของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว อันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานโดยแท้ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ลาออกเพราะหาผู้ค้ำประกันไม่ได้เป็นการลาออกด้วยความสมัครใจของโจทก์เองนั้น เห็นว่า ตามบันทึกที่จำเลยสอบถามความประสงค์ของโจทก์ ความในวรรคแรกจำเลยปรารภถึงเหตุที่ครูลาออกในระหว่างปีการศึกษาอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ความในวรรคที่สองจำเลยสอบถามความประสงค์ของโจทก์ว่าประสงค์จะทำการสอนในโรงเรียนของจำเลยในปีการศึกษา พ.ศ. 2526 หรือไม่ โดยให้โจทก์ตอบด้วยการทำเครื่องหมายหัวข้อในท่อนล่างของบันทึกดังกล่าว และกำหนดเวลาให้โจทก์ตอบ หากไม่ตอบภายในกำหนดจำเลยจะถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะทำการสอนต่อไปและลาออก เช่นนี้เมื่อโจทก์ทำเครื่องหมายในหัวข้อลาออก ทั้ง ๆ ที่หากโจทก์ไม่ตอบ และจำเลยถือเอาเองว่า โจทก์ลาออก ย่อมเป็นการเลิกจ้าง นอกจากนี้โจทก์ยังยืนยันขอลาออกอีกโดยหนังสืออีกฉบับหนึ่งโดยอ้างเหตุผลว่าไม่สามารถทำสัญญาค้ำประกันได้ จึงเห็นได้ว่า เมื่อโจทก์ด่วนแสดงเจตนาขอลาออกเสียเอง ย่อมถือว่าโจทก์ลาออกด้วยความสมัครใจหามีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยไม่
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง