คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2427/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ที่ 2 เข้าทำสัญญารับรองการเช่าซื้อของ โจทก์ที่ 1โดยในกรณีที่โจทก์ที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ที่ 2 จะต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รถที่เอาประกันภัยมาเป็นของโจทก์ที่ 2 นั้น เป็นการรับโอนสิทธิเรียกร้องอันมีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ที่1 มีต่อผู้ให้เช่าซื้อมาเป็นของโจทก์ที่ 2 เท่านั้น หาได้รวมไปถึงสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ที่ 1 มีต่อ จำเลยที่ 3 ตามสัญญาประกันภัยด้วยไม่ เพราะเป็นสัญญาอีก ฉบับหนึ่งแยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อ ขณะเกิดวินาศภัยแก่รถที่เอาประกันภัยโจทก์ที่ 1 ยังอยู่ในฐานะเป็นผู้เช่าซื้อ สิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 3ใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุวินาศภัยย่อมเป็นของโจทก์ที่1ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 3 การที่โจทก์ที่ 2 จะใช้สิทธิเรียกร้องนี้ได้ก็แต่โดยโจทก์ที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องนั้นให้แก่โจทก์ที่ 2เท่านั้น และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 875 เพราะโจทก์ที่ 2 ได้รับโอนรถที่เอาประกันภัยมาภายหลังที่ความวินาศภัยได้ เกิดขึ้นแล้ว สิทธิอันมีอยู่ ในสัญญาประกันภัย ย่อมไม่โอนตามไป
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นฝ่ายนำสืบก่อน โจทก์ที่1 ขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยมิได้สั่งจำหน่ายคดีของ โจทก์ที่ 1 ย่อมถือได้ว่าเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คัดค้านจนศาลชั้นต้นสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นและ วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว จึงล่วงเลยเวลาที่จะคัดค้าน กรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งจำหน่ายคดีโจทก์ที่ 1 แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จำเลยจึงหมด สิทธิที่จะยกข้อคัดค้านเรื่องนี้ในชั้นอุทธรณ์ฎีกา
ตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ติดประจำเนื่องจากการชนที่เกิดขึ้น ระหว่างระยะเวลาประกันภัยย่อมหมายความว่า ความเสียหายที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดมีเฉพาะแต่ความเสียหายต่อตัวรถและอุปกรณ์ เท่านั้น ความเสียหายเนื่องจากขาดรายได้ประจำวัน มิใช่ความเสียหายต่อตัวรถและอุปกรณ์ จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ที่ ๑ เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน น.ฐ.๒๒๗๑๕มาจากบริษัทเชสแมน ฮัตตัน อินเวสต์เมนต์ (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ติดต่อให้โจทก์ที่ ๑ เช่าซื้อรถดังกล่าว โดยมีสัญญากันว่าถ้าโจทก์ที่ ๑ ผิดสัญญาโจทก์ที่ ๒ จะต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างทั้งหมด พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าเสียหายให้แก่บริษัทดังกล่าวทันที และรับโอนกรรมสิทธิ์และผลประโยชนืต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อรวมทั้งกรรมสิทธิ์ในรถยนต์มาเป็นของโจทก์ที่ ๒ ด้วย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียนร.บ.๐๖๕๐๙ และเป็นนายจ้างของนายวงค์ ซึ่งเป็นผู้ขับรถของจำเลยทั้งสองและเป็นผู้ทำละเมิดคดีนี้ จำเลยที่ ๓ ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียนน.ฐ.๒๒๗๑๕ ไว้จากโจทก์ที่ ๑
เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๑ นายวงค์ ลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ร.บ.๐๖๕๐๙ ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ตามถนนสายจอมบึง – ราชบุรี มุ่งหน้าไปทางถ้ำจอมพล ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถเสียหลักพุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน น.ฐ.๒๒๗๑๕ ซึ่งนายวีระบุตรโจทก์ที่ ๑ ขับเสียหายหลายรายการคิดเป็นเงิน ๑๘๙,๓๕๗.๒๙ บาท จำเลยที่ ๓ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๒๒๗๑๕ จะต้องใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ที่ ๑ เจ้าของรถ และร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากเจ้าของเดิมด้วย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ มิได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ร.บ.๐๖๕๐๙ เพราะได้ให้จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อไปแล้วนายวงค์มิใช่ลูกจ้างจำเลยที่ ๑ แต่เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ โจทก์ที่ ๒ ไม่มีอำนาจฟ้องค่าเสียหายมากเกินกว่าเหตุ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๒๒๗๑๕ และไม่ได้เสียค่าซ่อมจึงไม่เสียหาย โจทก์ที่ ๑ ไม่ใช่เจ้าของรถดังกล่าว ในขณะเอาประกันภัยและขณะเกิดเหตุ กรมธรรม์ประกันภัยจึงตกเป็นโมฆะโจทก์ที่ ๒ ก็ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ที่เอาประกันภัยและไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ ๓จะบังคับตามสัญญาประกันภัยไม่ได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหาย ๑๒,๐๐๐ บาท และ ๗๘,๑๘๐บาทแก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ตามลำดับพร้อมด้วยดอกเบี้ยโดยให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๔๙,๕๐๐ บาท ตามส่วน พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ สำหรับจำเลยที่ ๓
โจทก์ที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ที่ ๑ ได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน น.ฐ.๒๒๗๑๕ จากบริษัทเชสแมนอัตตัน อินเวสต์เมนต์(ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๕ โดยมีโจทก์ที่ ๒ ทำสัญญารับรองที่จะชำระหนี้สินที่โจทก์ที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.๑๒ และโจทก์ที่ ๑ ได้เอารถที่เช่าซื้อประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมงคลยนตการเป็นเจ้าของรถและได้รับเงินค่าเสียหายกรณีที่เอาประกันภัยไว้เสียหายหรือสูญหายจนซ่อมไม่ได้ ตามเอกสารหมาย จ.๖ มีกำหนดสัญญา ๑ ปี นับแต่วันที่ ๓ มีนาคม๒๕๒๑ เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๑ รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียนน.ฐ.๒๒๗๑๕ ถูกรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ร.บ.๐๖๕๐๙ ของจำเลยที่ ๒ชนเสียหายโดยประมาทเลินเล่อ คิดค่าซ่อมเป็นเงิน ๗๘,๑๘๐ บาท หลังจากรถโจทก์ที่ ๑ถูกชนแล้ว โจทก์ที่ ๑ ไม่มีเงินชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ที่ ๒ จึงชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือให้แก่บริษัทเชสแมนฮัตตัน อินเวสต์เมนต์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมเป็นเงิน๕๕,๐๒๖ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๑๐ แทนโจทก์ที่ ๑ และคดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ทั้งสองนำสืบก่อน ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก โจทก์ที่ ๑ ไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งว่า โจทก์ที่ ๑ ขาดนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ที่ ๒ ระหว่างสืบพยานโจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๑ ได้เข้าเบิกความเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ ตามหมายเรียกพยานของโจทก์ที่ ๒ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ คดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาเฉพาะ จำเลยที่ ๓ ว่าจำเลยที่ ๓ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยหรือไม่
ที่โจทก์ที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์ที่ ๒ ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถที่เอาประกันภัยแทนโจทก์ที่ ๑โจทก์ที่ ๒ ย่อมรับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ ๑ ในบรรดาที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งการที่โจทก์ที่ ๒ได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถที่เอาประกันภัยมาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ ๒ ก็ย่อมได้รับโอนสิทธิอันมีอยู่ตามสัญญาประกันภัยที่จะได้รับชดใช้เงินจากจำเลยที่ ๓ ผู้รับประกันภัยด้วย เห็นว่า การที่โจทก์ที่ ๒ เข้าทำสัญญารับรองการเช่าซื้อของโจทก์ที่ ๑ โดยในกรณีที่โจทก์ที่ ๑ ผิดสัญญา โจทก์ที่ ๒ จะต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างทั้งหมดพร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รถที่เอาประกันภัยมาเป็นของโจทก์ที่ ๒ นั้น เป็นการรับโอนสิทธิเรียกร้องอันมีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ที่ ๑ มีต่อผู้ให้เช่าซื้อมาเป็นของโจทก์ที่ ๒ เท่านั้น หาได้รวมไปถึงสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ที่ ๑ มีต่อจำเลยที่ ๓ ตามสัญญาประกันภัยด้วยไม่เพราะเป็นสัญญาอีกฉบับหนึ่งแยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุวินาศภัยแก่รถที่เอาประกันภัยนี้ โจทก์ที่ ๑ ยังอยู่ในฐานะเป็นผู้เช่าซื้อ สิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุวินาศภัยย่อมเป็นของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ ๓ การที่โจทก์ที่ ๒ จะใช้สิทธิเรียกร้องนี้ได้ก็แต่โดยโจทก์ที่ ๑ โอนสิทธิเรียกร้องนี้ให้แก่โจทก์ที่ ๒ เท่านั้น อีกทั้งโจทก์ที่ ๒ ได้รับโอนรถที่เอาประกันภัยมาภายหลังที่ความวินาศภัยได้เกิดขึ้นแล้วสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยย่อมไม่โอนตามไป ซึ่งกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๗๕ โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ ๓ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ ๓ ในข้อที่ว่า เมื่อโจทก์ที่ ๑ ขาดนัดพิจารณาศาลต้องจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ ๑ นั้น เห็นว่าคดีนี้ โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายนำสืบก่อนที่โจทก์ที่ ๑ ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป โดยมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ที่ ๑ ย่อมถือว่าเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ได้คัดค้านจนศาลชั้นต้นสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นและวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้วจึงล่วงเลยเวลาที่จะคัดค้านกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งจำหน่ายคดีโจทก์ที่ ๑ แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา ๒๗ จำเลยที่ ๓จึงหมดสิทธิที่จะยกข้อคัดค้านเรื่องนี้ในชั้นอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น
ส่วนจำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า โจทก์ที่ ๑ ขาดนัดพิจารณาจึงไม่มีสิทธิอ้างตนเองเป็นพยาน และศาลไม่ควรรับฟังคำเบิกความของโจทก์ที่ ๑ มาพิพากษาให้จำเลยที่ ๓รับต่อโจทก์ที่ ๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามหมายเรียกพยานลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์๒๕๒๔ เป็นหมายเรียกให้โจทก์ที่ ๑ มาเป็นพยานของโจทก์ที่ ๒ และในชั้นที่โจทก์ที่ ๑เบิกความ โจทก์ที่ ๑ เบิกความตอบคำถามของทนายโจทก์ที่ ๒ และไม่มีตอนใดเลยที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ ๑ เบิกความในฐานะที่เป็นพยานตนเอง กรณีถือได้ว่าโจทก์ที่ ๑ เบิกความในฐานะเป็นพยานของโจทก์ที่ ๒ มิใช่เบิกความเป็นพยานตนเองดังที่จำเลยที่ ๓ เข้าใจ ส่วนกรณีศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาให้โจทก์ที่ ๑ได้รับค่าเสียหายที่ต้องขาดรายได้จากการไม่ได้ใช้รถประจำวันจากจำเลยที่ ๓ นั้นปัญหานี้แม้จำเลยที่ ๓ มิได้ฎีกาโต้แย้ขึ้นมาโดยตรงก็ตาม เมื่อมีกรณีที่จะต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ ๓ จึงต้องพิจารณาตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.๖ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเห็นสมควรที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยด้วย ดังนั้นเมื่อตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.๖ รายการ ๔ สัญญาข้อ ๓.๒ (หมวดที่ ๓ สัญญาคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ติดประจำเนื่องจากการชนที่เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาประกันภัย ย่อมหมายความว่าความเสียหายที่จำเลยที่ ๓ จะต้องรับผิดมีเฉพาะแต่ความเสียหายต่อตัวรถและอุปกรณ์เท่านั้น ความเสียหายเนื่องจากขาดรายได้ประจำวัน มิใช่ความเสียกหายต่อตัวรถและอุปกรณ์จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ ๑ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่าให้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ สำหรับจำเลยที่ ๓ ด้วย

Share