คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7754/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยประกอบอาชีพพาณิชยกรรมการค้าขายวัสดุก่อสร้างทุกชนิด และรับเหมาก่อสร้างงานโยธาทุกประเภทที่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดนั้น ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นที่ดินสำหรับทำไร่ ส่วนแปลงที่ 2 เป็นที่ดินสำหรับอยู่อาศัย และทั้งสองแปลงอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีรายได้ประจำปีหรือมีการประกอบพาณิชยกรรมในขณะนั้นที่จำเลยจะขอตั้งผู้จัดการทรัพย์แทนการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบหมู่ 2 หน้า 280เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 3502 เนื้อที่ประมาณ 40 ตารางวา เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ประกอบการพาณิชยกรรมใช้ชื่อว่าบริษัทเลิศวงศ์ จำกัด อยู่ที่กรุงเทพมหานครทำการค้าขายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง มีรายได้ประจำปีจากการประกอบพาณิชยกรรมดังกล่าวเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและบังคับคดีได้ขอให้ตั้งผู้จัดการทรัพย์และกิจการต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 เพื่อรวบรวมรายได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนส่งมอบต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาและกำหนดตามที่ศาลเห็นสมควร แทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ในชั้นนี้จำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานข้อมูลเบื้องต้นพอที่จะให้รับฟังได้ว่า รายได้ประจำปีจากการประกอบพาณิชยกรรมของจำเลยที่ 1 มีเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1ที่ขอให้ตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 แทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และไม่มีการไต่สวนก่อนนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่าการที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นเอง ในปัจจุบันมีรายได้ประจำปีจากการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษา การนำยึดอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะดังนี้ออกขายทอดตลาดโดยตรงอาจนำความเสียหายมาสู่ฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือฝ่ายลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้โดยเฉพาะลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจสูญเสียทรัพย์สินที่เคยใช้ประกอบอาชีพและมีรายได้ที่ได้รับโดยสม่ำเสมอเป็นประจำดังนั้น บทบัญญัติในวิธีการบังคับคดีจึงให้โอกาสแก่คู่ความที่จะเลือกใช้วิธีการบังคับคดีตามมาตรา 307 ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็อาจได้รับชำระหนี้ของตนได้เต็มตามจำนวนจนเป็นที่พอใจแต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ปรากฏตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพพาณิชยกรรมค้าขายวัสดุก่อสร้างทุกชนิดและรับเหมาก่อสร้างงานโยธาทุกประเภท อยู่ที่กรุงเทพมหานครส่วนทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดนั้น ปรากฏตามประกาศขายทอดตลาดเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 ว่า ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นที่ดินสำหรับทำไร่ ส่วนแปลงที่ 2 เป็นที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทั้งสองแปลงอยู่ที่จะหวัดนครราชสีมา อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีรายได้ประจำปีหรือมีการประกอบพาณิชยกรรมในขณะนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307กรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าวอนึ่ง บทบัญญัติมาตรา 21(4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิได้บังคับว่าศาลต้องทำการไต่สวนทุกกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอเข้ามา แต่ศาลมีอำนาจจะไต่สวนตามคำขอหรือไม่แล้วแต่ศาลจะพิจารณาเห็นสมควร กรณีนี้ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่า คำร้องของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยมาตรา 307 แม้จะไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องขอก็ไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอนั้นได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share