คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5828/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่บริษัท ค. ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้รับขนส่งสินค้าพิพาททางทะเล พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับและไม่มีบทบัญญัติให้มีผลย้อนหลังนำไปปรับใช้กับสัญญารับขนของทางทะเลที่ทำกันขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ประกอบกับสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งทำกันขึ้นนั้นคู่สัญญามีเจตนาให้ผูกพันกันตามสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญากัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของอันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับใช้นั้น จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับขนส่งทางทะเล และเป็นบริษัทสาขาหรือเครือเดียวกันกับจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้รับขนสินค้าพิพาทที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ได้ดำเนินการนำเรือ ป.เข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพโดยได้รับบำเหน็จค่าจ้าง ทั้งยังเป็นผู้ดำเนินการติดต่อทำพิธีการต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่ที่ เกี่ยวข้องเช่น กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กองตรวจคนเข้าเมืองการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อนำเรือดังกล่าวเข้าเทียบท่าเรือเมื่อเรือดังกล่าวเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพจำเลยที่ 2ก็เป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือดังกล่าวให้ผู้ซื้อสินค้าทราบทั้งยังเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าเพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าพิพาทนำไปรับสินค้าจากเรือขนส่ง นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือ ป. ลงเรือลำเลียงหรือเรือฉลอม และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการนำเรือขนถ่ายสินค้าด้วย การดำเนินการต่าง ๆของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการดำเนินการขนส่งเพื่อให้สินค้าถึงมือผู้ซื้อ ย่อมถือได้ว่าเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608 และ 618 โดยจำเลยที่ 2 หาจำต้องเป็นผู้ออกใบตราส่งหรือเป็นเจ้าของเรือ ป.ไม่ ขณะเรือ ป. เดินทางอยู่ในทะเลได้เผชิญกับพายุอย่างรุนแรงเรือโยกคลอน น้ำซัดเข้าเรือเป็นเหตุให้สินค้าพิพาทได้รับความเสียหาย โดยไม่ได้ความว่าพายุรุนแรงขนาดไหน ความเสียหายดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้เพราะ เหตุใด และผู้ควบคุมเรือซึ่งต้องประสบเหตุเช่นนั้นได้จัดการ ระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะ และภาวะเช่นนั้นหรือไม่อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าความเสียหาย ของสินค้าพิพาทเกิดจากเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 206,278.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 198,018.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 206,278.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 198,018.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ต้องนำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาวินิจฉัยปรับกับคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2534 บริษัทคาวาโชคอร์ปอเนชั่น จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1ให้เป็นผู้รับขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลนั้น พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับเพราะใช้บังคับในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไป และไม่มีบทบัญญัติให้มีผลย้อนหลังนำไปปรับใช้กับสัญญารับขนของทางทะเลที่ทำกันขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ประกอบกับสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งทำกันขึ้นก่อนดังกล่าว คู่สัญญาย่อมมีเจตนาให้ผูกพันกันตามสิทธิและหน้าที่ความรับผิดตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญากัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาวินิจฉัยปรับกับคดีนี้ แต่นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของอันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับใช้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งเท่านั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับขนส่งทางทะเลและเป็นบริษัทสาขาหรือเครือเดียวกันกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้รับขนสินค้าพิพาทที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ได้ดำเนินการนำเรือปริ้นเซสเข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพโดยได้รับบำเหน็จค่าจ้าง ทั้งยังเป็นผู้ดำเนินการติดต่อทำพิธีการต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กองตรวจคนเข้าเมือง การท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อนำเรือดังกล่าวเข้าเทียบท่าเรือ เมื่อเรือดังกล่าวเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพก็เป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือดังกล่าวให้ผู้ซื้อสินค้าทราบ ทั้งยังเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าเพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าพิพาทนำไปรับสินค้าจากเรือขนส่ง นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือปริ้นเซสลงเรือลำเลียงหรือเรือฉลอม ซึ่งนายสมศักดิ์หวังวานิช นายฉลาด พิทักษ์บุรี และนายวิวัฒน์ สุวัชรชัยพยานทั้งสามของจำเลยทั้งสองเบิกความเจือสมข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือปริ้นเซสลงเรือลำเลียงและต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการนำเรือขนถ่ายสินค้าด้วย การดำเนินการต่าง ๆ ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการดำเนินการขนส่งเพื่อให้สินค้าถึงมือผู้ซื้อ ย่อมถือได้ว่าเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล โดยจำเลยที่ 2เป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608และ 618 ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องเป็นผู้ออกใบตราส่งหรือเป็นเจ้าของเรือปริ้นเซสดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากเหตุสุดวิสัยนั้น ได้ความเพียงว่า ขณะเรือปริ้นเซสเดินทางอยู่ในทะเลได้เผชิญกับพายุอย่างรุนแรง เรือโยกคลอน น้ำซัดเข้าเรือเป็นเหตุให้สินค้าพิพาทได้รับความเสียหาย โดยไม่ได้ความว่าพายุรุนแรงขนาดไหนความเสียหายดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้เพราะเหตุใดและผู้ควบคุมเรือซึ่งต้องประสบเหตุเช่นนั้นได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้นหรือไม่อย่างไร ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากเหตุสุดวิสัย
พิพากษายืน

Share