คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6323/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 8 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาสั่งคำร้องนั้น มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น” และวรรคสองบัญญัติว่า “คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด” ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า คดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ มิใช่เป็นพยานหลักฐานใหม่อันขัดแย้งและสำคัญแก่คดีไม่ เหตุตามคำร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 (1) (2) (3) แล้วพิพากษายกคำร้อง เท่ากับว่าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องของจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นที่สุด ตามมาตรา 10 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 24 หน่วยการใช้หรือถุง น้ำหนักสุทธิ 36.790 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 34.792 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยทั้งสองเสพเมทแอมเฟตามีนปริมาณและวิธีใดไม่ปรากฏชัดเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ จำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท ฐานมีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2665/2554 ของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 พ้นโทษมาแล้วภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษได้กระทำความผิดในคดีนี้อีก และจำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7507/2555 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 พ้นโทษในคดีดังกล่าวมาแล้วภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษได้กระทำความผิดในคดีนี้อีก และขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 97, 100/1, 102 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคสาม, 91 ประกอบมาตรา 100/2 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 25 ปี และปรับคนละ 500,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 6 เดือน เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 คงลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 37 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 750,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 9 เดือน รวมโทษจำคุกคนละ 37 ปี 15 เดือน และปรับคนละ 750,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 18 ปี 13 เดือน 15 วัน และปรับคนละ 375,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 5 มกราคม 2558 ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7507/2555 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 นั้น ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และให้คุมความประพฤติไว้ 1 ปี กรณีถือว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจำคุก อันมีผลให้ไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ ขอให้กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ใหม่โดยไม่เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ถึงที่สุดแล้วโดยไม่มีผู้ใดอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่อาจกำหนดโทษใหม่ให้ได้ ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7507/2555 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 นั้น ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติไว้ 1 ปี จำเลยที่ 2 จึงไม่เคยต้องโทษจำคุก อันมีผลทำให้ไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ ที่มีความสำคัญและน้ำหนักมากพอ ขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนโดยตรวจคำร้องแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 เห็นสมควรไม่รับคำร้องดังกล่าว
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน และยกคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 โดยเกิดเหตุเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยที่ 2 แล้ว และจำเลยที่ 2 รับว่าตนเองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดและพ้นโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7507/2555 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจริง โดยศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้องและให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์มีคำขอ จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 แล้ว จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้กำหนดโทษใหม่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 และยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ร้องขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นตามมาตรา 8 และศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาสั่งคำร้องของศาลอุทธรณ์นั้น มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป แต่ถ้าอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น” และวรรคสองบัญญัติว่า “คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด” เมื่อคดีนี้อยู่ในชั้นที่ศาลอุทธรณ์จักต้องพิจารณาว่าคำร้องของจำเลยที่ 2 นั้นมีมูลพอที่จะให้รับคำร้องหรือไม่ ตามมาตรา 10 ดังกล่าว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า คดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ มิใช่เป็นพยานหลักฐานใหม่อันขัดแย้งและสำคัญแก่คดีไม่ กรณีเหตุตามคำร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 (1) (2) (3) แล้วพิพากษายกคำร้อง เท่ากับว่าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องของจำเลยที่ 2 นั้นไม่มีมูล คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นที่สุด ตามบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฎีกา ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาดังกล่าวของจำเลยที่ 2 มาจึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในภายหลังว่า ศาลอุทธรณ์ในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและรอการลงโทษ คดีนี้ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ได้ แต่ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว การเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้จึงมีข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 บัญญัติให้แก้ไขคำพิพากษาซึ่งอ่านแล้วได้เฉพาะถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดเท่านั้น มิได้บัญญัติรวมถึงการแก้ไขกรณีมีข้อผิดหลงเล็กน้อยไว้เหมือนดังเช่นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ดังนี้ แม้คดีนี้จะถึงที่สุดไปแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลผิดหลงเพิ่งปรากฏต่อศาลฎีกา เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขเรื่องเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องได้ เพราะมิใช่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม และแม้ไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏแก่ศาลเองว่า ภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิดอันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังแล้วแต่กรณี เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาท้ายคำร้องขอรื้อฟื้นคดีของจำเลยที่ 2 ว่าคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 นั้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคดีเป็นที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาเป็นที่สุดให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จึงเป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองจากฎีกาของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว เมื่อภายในกำหนดระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนจำเลยที่ 2 กระทำความผิดคดีนี้อีก จึงต้องนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ก็ตาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี 9 เดือน และปรับ 250,000 บาท ให้นำโทษจำคุก 3 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7507/2555 ของศาลชั้นต้น มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เป็นจำคุก 12 ปี 12 เดือน และปรับ 250,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share