แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้น จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เพราะที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ส. อยู่เนื่องจากโจทก์กับนาย ส. สมรู้ร่วมกันแสดงเจตนาลวงว่าทำการซื้อขายกัน เพื่อเป็นข้ออ้างของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเรียกค่าเสียหายนิติกรรมระหว่างโจทก์กับนาย ส. จึงเป็นโมฆะ ตามคำให้การจำเลยดังกล่าวมิได้มีประเด็นพิพาทว่า โจทก์ซื้อที่ดินแทนบริษัท จ. จำกัดแต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะปรากฏว่ามีการยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ศาลชั้นต้นดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าประเด็นที่จำเลยหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกากล่าวอ้างมานั้น เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งนั้นจะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละปัญหากรณีๆ ไป หาใช่ว่าเมื่อเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งแล้ว จะต้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนทุกกรณีไม่ คดีนี้การที่จำเลยหยิบยกปัญหาว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เองหรือซื้อแทนบริษัท จ. จำกัด ขึ้นในชั้นอุทธรณ์เพื่อตั้งประเด็นข้อต่อสู้ว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมิได้เป็นของโจทก์อีกทั้งบริษัท จ. จำกัด ผู้ซื้อมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้จะเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องก็ตาม แต่ก็หาใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์และทำที่ดินของโจทก์ให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืนโจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยและให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 17,000,000 บาท กับขอให้ชำระค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปในอัตราเดือนะ 1,000,000 บาท จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมในที่ดินส่วนที่โรงเรือนปลูกรุกล้ำให้แก่จำเลยโดยให้โจทก์รับเงินค่าใช้ที่ดินดังกล่าวตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดให้ หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ กับขอให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 105442 ตามฟ้องทั้งหมดออกจากที่ดินของโจทก์ตามแผนที่วิวาท และส่งมอบที่ดินส่วนที่จำเลยรุกล้ำคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยตามเดิมและให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 35,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์แล้ว ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมาเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์เพียงเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้จำนวน 150,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์มีชื่อในทางทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 105442 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 122266 ซึ่งอยู่ติดกันและมีเนื้อที่เท่ากัน และเป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 105442 ซึ่งเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสนั่นรักษาสุข โดยจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายสนั่นก่อนแบ่งแยกโฉนดแล้วจำเลยได้เข้าถมดินกับปลูกสร้างสำนักงาน อาคารเก็บสินค้าและรั้วล้อมรอบที่ดินที่จะซื้อ ส่วนโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 105442 ส่วนที่เหลือหลังจากแบ่งแยกจากนายสนั่น ขณะที่มีอาคารสำนักงาน อาคารเก็บสินค้าและรั้วของจำเลยก่อสร้างอยู่แล้ว ต่อมาโจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ จึงทราบว่าจำเลยก่อสร้างอาคารและรั้วรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ครึ่งแปลง
สำหรับฎีกาของจำเลยในประการแรกเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งจำเลยฎีกาว่าโจทก์เบิกความต่อศาลชั้นต้นยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทแทนบริษัทเจนเนอรัลคอมพิวเตอร์จำกัดและกล่าวในฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทำให้บริษัทดังกล่าวไม่อาจปลูกสร้างอาคารสำนักงานและโกดังของบริษัทได้ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทแทนบริษัทเจนเนอรัลคอมพิวเตอร์ จำกัด บริษัทดังกล่าวจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้รับมอบอำนาจจากบริษัทดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ยอมรับและได้ว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นฎีกาในทำนองคัดค้านว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้น จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เพราะที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสนั่นอยู่เนื่องจากโจทก์กับนายสนั่นสมรู้ร่วมกันแสดงเจตนาลวงว่าทำการซื้อขายกัน เพื่อเป็นข้ออ้างของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเรียกค่าเสียหายนิติกรรมซื้อขายระหว่างโจทก์กับนายสนั่นจึงเป็นโมฆะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวมิได้มีประเด็นพิพาทว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทแทนบริษัทเจนเนอรัลคอมพิวเตอร์ จำกัด แต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะปรากฏว่ามีการยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นจริงดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็ตามแต่ก็เป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การของจำเลย จึงถือไม่ได้ว่าประเด็นที่จำเลยหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกากล่าวอ้างมานั้น เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าประเด็นเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2556 ระหว่างบริษัท เอส.เอ.แลนด์ จำกัด โจทก์ นางทัศนีย์ จำเลย นั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งนั้นจะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละปัญหาเป็นกรณีๆ ไป หาใช่ว่า เมื่อเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งแล้วจะต้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนทุกกรณีไม่ คดีนี้การที่จำเลยหยิบยกปัญหาว่าที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เองหรือซื้อแทบบริษัทเจนเนอรัล คอมพิวเตอร์ จำกัด ขึ้นในชั้นอุทธรณ์เพื่อตั้งประเด็นข้อต่อสู้ว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมิได้เป็นของโจทก์ อีกทั้งบริษัทเจนนอรัล คอมพิวเตอร์ จำกัด ผู้ซื้อมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้จะเป็นปัญหาเรื่องออำนาจฟ้องก็ตาม แต่ก็หาใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้นเป็นเรื่องที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเจ้าของภารยทรัพย์ไม่มีอำนาจฟ้องเจ้าของสามยทรัพย์เพื่อปลดเปลื้องภาระจำยอมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยประการต่อมามีว่า จำเลยปลูกสร้างรั้วและอาคารโรงงานลงในที่ดินของโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ จำเลยมีนายจิระยศ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของบริษัทจำเลยเบิกความว่า เมื่อบริษัทจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับนายสนั่นซึ่งตามสัญญาข้อ 8 นายสนั่น ผู้จะขายยินยอมให้บริษัทจำเลยเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินที่จะขายได้ แต่เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขัง บริษัทจำเลยจึงว่าจ้างนายบัณฑิตไม่ทราบนามสกุลมาดำเนินการถามที่ดิน และปรากฏว่าในขณะนั้นที่ดินยังไม่มีการแบ่งแยก นายสนั่นจึงเป็นคนแบ่งแนวเขตให้แก่บริษัทจำเลย โดยนายสนั่นใช้ไม้รวกจำนวนประมาณ 20 ท่อน ซึ่งมีความสูงต้นหญ้าและผูกผ้าเป็นสัญลักษณ์เพื่อประโยชน์ในการถมที่ดินและให้รู้ว่าเป็นบริเวณที่ดินของจำเลยพยานได้ติดตามดูผลงานการถมดินของนายบัณฑิต นายสนั่นก็ได้ไปดูการถมดินบ้างและแจ้งให้พยานทราบว่ามีการถมที่ดินไปมากแล้ว ขณะที่มีการถมที่ดินนายสนั่นไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่ามีการถมที่ดินรุกล้ำแต่อย่างใด และในระหว่างที่บริษัทจำเลยถมที่ดิน นานสนั่นได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกจนแล้วเสร็จในราวเดือนธันวาคม 2537 และต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2538 นายสนั่นก็ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ส่วนที่แบ่งแยกให้แก่บริษัทจำเลยตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.5 บริษัทจำเลยถมที่ดินเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2538 หลังจากนั้นประมาณเดือนเมษายน 2538 บริษัทจำเลยก็ได้เริ่มก่อสร้างโกดังและก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2538 และจนกระทั่งบริษัทจำเลยก่อสร้างโรงงานแล้วเสร็จ นายสนั่นก็ยังไม่เคยโต้แย้งคัดค้านอีกทั้งเมื่อนายสนั่นขายที่ดินส่วนที่เหลือภายหลังจากแบ่งแยกให้แก่โจทก์เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2538 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าทั้งนานสนั่นและโจทก์จะได้โต้แย้งคัดค้านว่าบริษัทจำเลยก่อสร้างโรงงานรุกล้ำที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด จนกระทั่งปี 2540 เมื่อโจทก์ขอรังวัดสอบเขตทราบว่า โรงงานของบริษัทจำเลยก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จึงเพิ่งแจ้งให้บริษัทจำเลยทราบแต่ฝ่ายโจทก์มีนายสนั่นเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ก่อนพยานทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลย บริษัทจำเลยได้มอบหมายให้นายจิระยศเป็นคนมาติดต่อขอซื้อที่ดินพยานนำนายจิระยศไปดูที่ดินซึ่งขณะนั้นเป็นที่ว่างเปล่า ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง มีหญ้าขึ้นสูงแต่สามารถเดินจากถนนด้านหน้าเข้าสู่ที่ดินได้ พยานใช้ไม้ไผ่ความสูงประมาณท่วมศีรษะปักเป็นเครื่องหมายไว้ที่หลักเขตของที่ดินทั้ง 4 มุม ตามที่วงกลมด้วยหมึกสีน้ำเงินของแนวเขตที่ดินในเอกสารหมาย ล.1 พยานบอกแก่นายจิระยศว่าจะขายที่ดินเพียงครึ่งแปลง แต่ขณะที่ดูที่ดินครั้งแรกยังมิได้ปักเขตแบ่งกึ่งกลางที่ดินทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพราะว่าต้องรอเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดสอบเขตให้แน่นอนเสียก่อนตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน พยานมีหน้าที่ในการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน พยานได้ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดแล้วเสร็จออกมาเป็นโฉนดเลขที่ 122266 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2537 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.5 โดยในวันที่รังวัดแบ่งแยกที่ดินพยานได้ไปชี้แนวเขตที่ดินด้วย และเมื่อรังวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว พยานใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตร ปักไว้ตามหลักเขตที่ดินทั้งเก่าและใหม่ทุกจุดรวม 6 จุด และในวันนั้นฝ่ายจำเลยมีนายจิระยศกับชายอีกสองคนไปร่วมรู้เห็นอยู่ด้วยในการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินได้สำรวจหลักเขตเดิมทั้ง 4 จุด จากนั้นก็หาจุดกึ่งกลางที่จะแบ่งแยกแล้วปักหลักเขตใหม่อีก 2 หลัก ตรงกลางรูปแผนที่โฉนดเอกสารหมาย ล.2 หลังจากนั้นพยานให้คนงานของพยานนำไม้รวกยาวท่อนละประมาณ 2 เมตร จำนวน 6 ท่อน ไปปักตามหลักเขตทั้งเก่าและใหม่รวม 6 หลัก ซึ่งตลอดเวลาดังกล่าว นายจิระยศกับพวกก็ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด หลังจากรังวัดแบ่งแยกโฉนดเสร็จแล้วพยานได้มีหนังสือให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2538 ตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 โดยปรากฏว่าในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวจำเลยยังมิได้ถมดินในที่ดินพิพาท จนกระทั่งต่อมาอีกประมาณ 1 เดือน นายจิระยศกับพวกอีกสองคนได้พากันไปรับพยานที่บ้านเพื่อให้พยานชี้แนวเขตที่พิพาทเมื่อไปถึงที่พิพาทพยานพบชายไม่ทราบชื่อซึ่งนายจิระยศแนะนำว่าเป็นผู้รับเหมาถมดินให้จำเลย พยานชี้หลักเขตสองหลักของที่ดินด้านติดถนนตามเอกสารหมาย ล.5 ส่วนหลักอื่นๆ ไม่ได้ชี้เพราะผู้รับเหมาถมดินอ้างว่าเป็นที่ดินมีโฉนดอยู่แล้ว และในวันนั้นไม้รวกที่ปักตามหลักเขตยังปักอยู่ด้านหน้า 1 หลัก ส่วนด้านหลังยังคงอยู่ครบถ้วน ผู้รับเหมาถมดินได้บอกแก่พยานว่าหลักเขตที่ดินด้านหลังเนื่องจากมีสำเนาโฉนดที่ดินอยู่แล้ว จะไปตรวจหาเองได้ พยานจึงขอแยกตัวกลับก่อนและไม่ทราบว่านายจิระยศกับผู้รับเหมาถมดินจะดำเนินการตามที่อ้างต่อไปอย่างไรดังนี้ เห็นว่า จำเลยมีนายจิระยศเป็นพยานเบิกความลอยๆ ว่า ระหว่างที่นายสนั่นกำลังดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนด จำเลยถมดินและปลูกสร้างโรงงานในแนวเขตที่นายสนั่นแบ่งแนวเขต และนำไม้รวกมาปักกับผูกผ้าเป็นสัญลักษณ์และตลอดเวลาที่จำเลยถมดินและปลูกสร้างโรงงาน นายสนั่นและโจทก์ไม่เคยมาโต้แย้งคัดค้านเท่านั้น โดยจำเลยมิได้มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบสนับสนุน อีกทั้งนายสนั่นกลับมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า จำเลยเพิ่งให้นายจิระยศกับพวกมารับพยานไปชี้แนวเขตที่ดินเพื่อให้ผู้รับเหมาถมดินในที่ดินพิพาทภายหลังจากพยานได้รังวัดแบ่งแยกโฉนดเสร็จและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่จะขายให้แก่จำเลยเสร็จแล้วหาใช่ว่าจำเลยได้เริ่มถนที่ดินในระหว่างที่พยานกำลังดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดไม่และในประการสำคัญคือตามหนังสือสัญญาจ้างทำของก็ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าบริษัทจำเลยได้ลงนามทำสัญญาจ้างทำของกับบริษัทเชิดชูชาติ จำกัด ผู้รับจ้าง ในการก่อสร้างอาคารโกดังเก็บสินค้าในวันที่ 25 เมษายน 2538 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่บริษัทจำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อจะขายโฉนดเลขที่ 122266 จากนายสนั่นแล้วเพราะตามสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดดังกล่าว (เอกสารหมาย ล.5) ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 23 มกราคม 2538 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขณะจำเลยเริ่มลงมือก่อสร้างโรงงานนั้นจำเลยได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 122266 เอกสารหมาย ล.5 มาจากนายสนั่น ผู้จะขายแล้ว และจำเลยย่อมทราบดีว่าที่ดินที่จำเลยจะปลูกสร้างโรงงานนี้อยู่ชิดติดกับที่ดินอีกแปลงหนึ่งของนานสนั่น อีกทั้งอาคารโกดังสินค้าหรือโรงงานที่จำเลยจะปลูกสร้างก็มีขนาดใหญ่เพราะตามสัญญาจ้างทำของระบุมูลค่าก่อสร้างรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินค่าจ้างถึง 24,910,000 บาท สมควรที่จำเลยจะต้องใช้ความระมัดระวังด้วยการรังวัดสอบเขตให้แน่นอนชัดเจนว่าได้ปลูกสร้างอาคารและสร้างรั้วภายในแนวเขตที่ดินของตนจริงแต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ ประกอบกับข้อเท็จจริงยังได้ความตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย ล.14 ด้วยว่าแนวเขตที่ดินที่จำเลยก่อสร้างรุกล้ำนั้น รวมเนื้อที่ถึง 2 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา หรือประมาณเกือบกึ่งหนึ่งของที่ดินของจำเลยและโจทก์ซึ่งมีเนื้อที่แปลงละ 5 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา เท่านั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังที่ได้วินิจฉัยมา แม้หากยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนารุกล้ำที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งถือได้ว่าจำเลยได้กระทำโดยไม่สุจริต จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ในอันที่จะอ้างว่าตนเป็นเจ้าของอาคารโรงงานและรั้งที่สร้างขึ้น โดยต้องเสียเงินให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และบังคับให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอมตามฟ้องแย้งของจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยปลูกสร้างธนาคารโรงงานโดยไม่สุจริตและพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยมานั้นชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นสุดท้ายเป็นปัญหาตามฎีกาของจำเลยและโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 35,000 บาท นั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายที่เหมาะสมและถูกต้องแล้ว ข้อโต้แย้งของจำเลยและโจทก์ที่กล่าวอ้างในฎีกา ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังหักล้างเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน คือวันที่ 2 กรกฎาคม 2539 โดยอ้างเหตุว่าจำเลยได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิดเนื่องจากการปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่จำเลยกระทำ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกรุกล้ำได้ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ด้วยอยู่ในตัว จึงชอบที่โจทก์จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันละเมิด เมื่อขณะจำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้งรุกล้ำที่ดินพิพาท โจทก์ยังมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมชอบที่จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนับตั้งแต่วันที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังที่โจทก์กล่าวในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยฟังว่าหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 กำหนดให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับหนังสือเมื่อใด ประกอบกับอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเป็นโรงงานขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการรื้อถอน จึงให้โจทก์เริ่มเรียกค่าเสียหายได้จากจำเลยนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไปนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 35,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์แล้วจำเลยจึงต้องนำเงินค่าเสียหายส่วนนี้ซึ่งคำนวณเพียงถึงวันยื่นฟ้องคือวันที่ 3 ธันวาคม 2540 มารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ชั้นฎีกาเท่านั้น การที่จำเลยนำค่าเสียหายส่วนนี้มาคำนวณถึงวันยื่นฎีกาคือวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 และเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในยอดเงินที่คำนวณได้ จึงไม่ถูกต้อง สมควรที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ชำระเกินมาให้แก่จำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไป และให้คืนเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยชำระเกินมาแก่จำเลยด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ