แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพ่วงกับอุปกรณ์ของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยเสียหายเมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามในที่ประชุมแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีก จนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาคำสั่งเช่น ว่านั้นเป็นอาจิณ และเป็นการกระทำอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตนอกจากนั้นการกระทำของโจทก์ดังกล่าวยังยากแก่การบังคับบัญชาหากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปมีแต่จะทำให้จำเลยเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้ปิดประกาศเลิกจ้างโจทก์ที่ทางเข้าบริษัท โดยไม่ได้ระบุเหตุผลและโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 2,800 บาท ค่าชดเชย 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 20,300 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพ่วงกับอุปกรณ์ของจำเลยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพูดคุยทางคอมพิวเตอร์ในเวลาทำงานเป็นประจำอันเป็นข้อห้ามของจำเลยและออกไปติดต่อทำการค้าขายในกิจการส่วนตัวกับบุคคลภายนอกโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบจำเลยได้ตักเตือนเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวในที่ประชุมแล้วแต่โจทก์ยังคงประพฤติปฏิบัติเช่นเดิม จำเลยจึงมีหนังสือตักเตือนโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 หลังจากนั้นโจทก์ได้กระทำความผิดอีกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 1,050 บาท และค่าชดเชยจำนวน 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างและค่าชดเชยดังกล่าว กับให้จ่ายสินค้าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 20,300 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 21,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายดังกล่าว โดยให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…การพิจารณาว่าจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เพียงใดนั้น จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี และบทกฎหมายดังกล่าวก็มิได้บัญญัติไว้ว่าถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้วนายจ้างจะยกเหตุผลแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้น แม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานก็ย่อมมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างให้คุ้มกับค่าจ้างที่เสียไป การที่โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพ่วงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามในที่ประชุมแล้วโจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้งเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณและเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะแสวงหาประโยชน์อันมิชอบและเบียดบังเวลาทำงานของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้นจำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์อีกเช่นกัน ส่วนค่าชดเชยนั้นจำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้าง จำเลยจึงจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง