คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หมายถึง บุคคลใดๆ ก็ได้ที่มิใช่เจ้าของที่ดินเดิมซึ่งได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อธนาคาร ก. เป็นทั้งผู้รับจำนองที่ดินพิพาทจากเจ้าของที่ดินเดิมและยังเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ธนาคาร ก. จึงเป็นบุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง
เมื่อธนาคาร ก. ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลโดยไม่ปรากฏว่าซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่ อย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณแก่ผู้ซื้อว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ถือว่าธนาคาร ก. ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ผู้ร้องไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองปรปักษ์ขึ้นใช้ยันธนาคาร ก. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง แม้เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. ภายใน 10 ปี นับแต่วันรับโอนจากธนาคาร ก. และรับโอนโดยไม่สุจริตก็ตาม ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ครองครองปรปักษ์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นใช้ยันผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับโอนคนต่อมาได้ เพราะสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่ธนาคาร ก. ผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตตอนแรก แม้ผู้ร้องจะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่การครอบครองในช่วงหลังที่ธนาคาร ก. และผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์มา เมื่อนับถึงวันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ยังไม่ครบ 10 ปี ก็จะถือว่ามีการครอบครองปรปักษ์ต่อผู้คัดค้านที่ 1 ครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วด้วยหาได้ไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 29 และ 30 ตำบลลาดพร้าว (ออเป้า) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันแขวงจระเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร) จำนวนเนื้อที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์และขอให้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินเขตลาดพร้าวกรุงเทพมหานคร (ที่ถูกสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว) แก้ทะเบียนผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยให้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2533 (ที่ถูก 2532) ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดิน 42 แปลง จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด โดยสุจริต เปิดเผยมีค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนั้นมีผู้บุกรุกอยู่บนที่ดินดังกล่าว ได้มีการเจรจาจ่ายค่ารื้อถอนให้แก่ผู้บุกรุก ผู้ร้องปลูกบ้านรุกล้ำที่สาธารณประโยชน์และที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 ประมาณ 35 ตารางวา ผู้ร้องครอบครองยังไม่ถึง 10 ปี และไม่มีเจตนาทำให้ได้กรรมสิทธิ์ ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครอง ขอให้ยกคำร้องขอ
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2532 ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทมาจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้ร้องจึงไม่อาจยกข้อต่อสู้การครอบครองปรปักษ์ขึ้นลบล้างสิทธิของผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้รับจำนองได้ ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความสำหรับผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 40,000 บาท และสำหรับผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 20,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคาะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 29 และ 30 ตำบลลาดพร้าว (ออป้า) อำเภอบางกระปิ กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันแขวงจระเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร) มีเนื้อที่ 30 ไร่ 92 ตารางวา และ 7 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา ตามลำดับ เป็นของบริษัทสยามพัฒนาการอาคารและที่ดิน จำกัด ได้นำมาจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2519 และ 21 พฤษภาคม 2513 ตามลำดับ และธนารคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สิงหาคม 2529 และได้จดทะเบียนโอนขายต่อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2532 ผู้ค้ดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2532 ผู้คัคค้านที่ 1 ได้นำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2532 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามแผนที่วิวาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวข้างต้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกมีว่า การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกประเด็นที่ว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด และผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตขึ้นวินิจฉัยแล้วยกคำร้องขอของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้ร้องครอบครองที่ดินยังไม่ถึง 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ศาลฎีกาได้ตรวจดดูคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 แล้ว ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้ระบุไว้ชัดเจนในคำคัดค้านว่าเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้วอีกทั้งตามคำร้องขอและคำคัดค้าน คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ หากฟังได้ว่าผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ย่อมมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด และผู้คัดค้านที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ และผู้ร้องจะยกการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดและผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกประเด็นที่ว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด และผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทน และโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตขึ้นวินิจฉัยแล้วยกคำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแต่อย่างไร ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2545 ระหว่าง บริษัทโรจน์ธนะบดี จำกัด โจทก์ นายมาก โดนางแกะ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน จำเลย ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อต่อไปมีว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นบุคคลภายนอกได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง หรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า บุคคลภายนอกต้องเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท แต่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยตรง เพราะเป็นผู้รับจำนองและซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนองของตนจากการขายทอดตลาดอีกด้วย จึงไม่ใช่บุคคลภายนอก เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้นมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วๆ ดังนี้ บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ย่อมหมายถึง บุคคลใดๆ ก็ได้ที่มิใช่เจ้าของที่ดินเดิมซึ่งได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นทั้งผู้รับจำนองที่ดินพิพาทจากเจ้าของที่ดินเดิม และยังเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงเป็นบุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อสุดท้ายมีว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2514 เป็นเวลา 24 ปีแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แต่ปรากฏว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ได้รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากบริษัทสยามพัฒนาการอาคารและที่ดิน จำกัด เจ้าของเดิมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2519 และ 21 พฤษภาคม 2513 ตามลำดับ และได้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2529 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่ผู้ร้องได้ยึดถือครอบครองไว้ แต่ผู้ร้องมิได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนแต่อย่างใด เมื่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลโดยไม่ปรากฏว่าซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่ อย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณแก่ผู้ซื้อว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องและตามทางพิจารณาไม่ปรากฏเหตุที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ถือว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ผู้ร้องไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองปรปักษ์ขึ้นใช้ยันธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ฉะนั้นเมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากธนาคารศรีอยุธยา จำกัด เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2532 อันเป็นระยะเวลาภายใน 10 ปี นับแต่วันรับโอนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะรับโอนโดยไม่สุจริตดังข้อฎีกาของผู้ร้องก็ตามผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นยันผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับโอนคนต่อมาได้ เพราะสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่ผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตตอนแรก แม้ผู้ร้องจะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาแต่การครอบครองในช่วงหลังที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด และผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์มา เมื่อนับถึงวันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องเมื่อ 17 มิถุนายน 2539 ยังไม่ครบ 10 ปี ก็จะถือว่ามีการครอบครองปรปักษ์ต่อผู้คัดค้านที่ 1 ครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วด้วยหาได้ไม่ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2538 ระหว่าง นายสุชาติ โจทก์ นายธนพงศ์ จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้วฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
อนึ่ง ที่ผู้คัดค้านที่ 1 แก้ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์เป็นพับไม่ชอบนั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง (เดิม) และเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share