คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5148/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร บัญญัติให้เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานสามารถเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 45) ได้แบ่งประเภทเงินได้ดังกล่าวออกเป็น 4 ประเภท สำหรับข้อ 1 (ค) มีข้อความกำหนดไว้เพียงว่าให้หมายถึงเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุครบเกษียณอายุ และได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงานรวม 3,118,040 บาท โดยหนังสือแจ้งการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินบำเหน็จของบริษัทฯ แยกเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 1,792,000 บาท และเงินบำเหน็จ 1,326,040 บาท เงิน 1,792,000 บาท เป็นการจ่ายตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ กรณีพนักงานที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี และนายจ้างคำนวณจ่ายให้แก่โจทก์จากเงินเดือนอัตราสุดท้ายเป็นระยะเวลา 300 วัน ซึ่งวิธีการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 118 (5) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อีกทั้งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อเกษียณอายุอันเป็นการเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามความหมายของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถือได้ว่าเข้าลักษณะเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เลขที่ ภ.ง.ด. 12-02012340-25520921-001-00308 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ.2/1/25/2553 ของจำเลย และบังคับให้จำเลยคืนเงิน 159,167.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,707.86 บาท และ 117,355.48 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ ภ.ง.ด. 12-02012340-25520921-001-00308 ลงวันที่ 21 กันยายน 2552 ของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่ม (เงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 30 กันยายน 2552) รวมเป็นเงิน 30,291 บาท และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ.2/1/25/2553 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยชำระเงิน 30,707.86 บาท และ 117,355.48 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2552 จนถึงวันที่มีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์ ดอกเบี้ยของแต่ละต้นเงินคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ตุลาคม 2553) ไม่เกิน 2,303 บาท และ 8,801 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ดอกเบี้ยของเงินภาษีอากรแต่ละจำนวนที่ได้รับ คำนวณแล้วต้องไม่เกินเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนจำนวน 30,707.86 บาท และ 117,355.48 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นพนักงานของบริษัทนานดีอินเตอร์เทรด จำกัด ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2539 โดยบริษัทดังกล่าวมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวดที่ 11 ข้อ 31.7 เมื่อปี 2551 โจทก์มีอายุครบ 60 ปี บริษัทจึงเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ รวมระยะเวลาทำงาน 12 ปี 4 เดือน มีเงินเดือนเดือนสุดท้าย 179,200 บาท โจทก์ได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท 2 จำนวน ได้แก่ เงินชดเชย 1,792,000 บาท และเงินบำเหน็จ 1,326,040 บาท รวมเป็นเงิน 3,118,040 บาท โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ประจำปีภาษี 2551 ผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยใช้สิทธินำเงินได้จำนวน 3,118,040 บาท แยกคำนวณภาษีจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และแสดงการคำนวณภาษีตามใบแนบระบุเงินได้ 1,792,000 บาท เป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามข้อ ก.3 และนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นฐานเพื่อคำนวณหักค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน ส่วนเงินจำนวน 1,326,040 บาท ระบุเป็นเงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวที่มีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญราชการ ตามข้อ ก.5 ซึ่งมีจำนวนไม่เกินกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน โจทก์จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นฐานเพื่อคำนวณหักค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนเช่นกัน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 3 ดังนั้น จำนวนเงินได้ที่โจทก์ใช้เป็นฐานเพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่ายคือ 3,118,040 บาท เมื่อคำนวณภาษีแล้วมีเงินภาษีที่โจทก์ชำระเกินไปและขอคืนจำนวน 117,355.48 บาท เจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยเห็นว่า โจทก์คำนวณใบแนบออกจากงานไม่ถูกต้องเนื่องจากเงินชดเชย 1,792,000 บาท ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะนำมาคำนวณเป็นเงินได้ข้อ ก.3 แต่ถือเป็นเงินได้ตามข้อ ก.5 ของใบแนบ เมื่อคำนวณภาษีใหม่จึงไม่มีเงินภาษีที่โจทก์ชำระเกินแต่มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม 27,790.52 บาท เจ้าพนักงานจำเลยมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) ให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มเป็นเงิน 30,291 บาท โจทก์ชำระเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มให้แก่จำเลยแล้ว ตามใบเสร็จรับเงิน โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินขอให้ยกเลิกการประเมินและคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์โจทก์โดยเห็นว่า การที่โจทก์ถูกให้ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน เงินชดเชย 1,792,000 บาท ที่โจทก์ได้รับกรณีเกษียณอายุเป็นเงินชดเชยที่ได้รับจากการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน แต่เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่กฎหมายให้สิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปคำนวณรวมกับเงินได้อื่นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และนำมาคำนวณในใบแนบข้อ ก.3 ได้จะต้องเป็นเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ไม่ใช่กรณีเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เงินชดเชยที่โจทก์ได้รับดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามใบแนบ ข้อ ก.3 และไม่ถือเป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ค) ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) แต่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญราชการตามใบแนบข้อ ก.5 และถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ข้อ 1 (ง) ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) และต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเป็นฐานเพื่อคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้เพียงไม่เกินกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน บวกด้วยร้อยละ 10 ของเงินเดือนถัวเฉลี่ยนั้น กรณีโจทก์คือ 2,150,400 บาท การที่เจ้าพนักงานประเมินให้เงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานรวม 3,118,040 บาท ถือเป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ง) และนำไปเป็นฐานเพื่อคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้เพียงไม่เกิน 2,150,400 บาท จึงชอบแล้ว โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงมาฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับเงินจำนวน 1,792,000 บาทที่โจทก์ได้รับจากบริษัทนานดีอินเตอร์เทรด จำกัด เนื่องจากเกษียณอายุชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานสามารถเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 45) ได้แบ่งประเภทเงินได้ดังกล่าวออกเป็น 4 ประเภท สำหรับข้อ 1 (ค) มีข้อความกำหนดไว้เพียงว่าให้หมายถึงเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุครบเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทนานดีอินเตอร์เทรด จำกัด ข้อ 31.7 และได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงานรวมทั้งสิ้น 3,118,040 บาท ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย3 โดยหนังสือแจ้งการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินบำเหน็จของบริษัทนานดีอินเตอร์เทรด จำกัด ระบุว่า เงินได้ดังกล่าวแยกเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 1,792,000 บาท และเงินบำเหน็จ 1,326,040 บาท เงินจำนวน 1,792,000 บาท เป็นการจ่ายตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท ข้อที่ 32.2.5 กรณีพนักงานที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป และนายจ้างคำนวณจ่ายให้แก่โจทก์จากอัตราเงินเดือนสุดท้ายเป็นระยะเวลา 300 วัน ซึ่งวิธีการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 118 (5) แห่งพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อีกทั้งเงินจำนวน 1,792,000 บาท ที่โจทก์ได้รับเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อเกษียณอายุอันเป็นการเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามความหมายของมาตรา 118 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 ดังนี้จึงถือได้ว่าเงินจำนวน 1,792,000 บาท เข้าลักษณะเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 45) ข้อ 1 (ค) แล้วการที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมใบแนบ โดยนำเงินได้จำนวนดังกล่าวทั้งจำนวนมาลงรายการในข้อ ก. 3 และนำมาคำนวณค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 45) จึงชอบด้วยมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบและให้จำเลยคืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share