คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์ร่วมโดยทำหนังสือสัญญากู้กันไว้และจำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดที่ดินที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมมอบให้โจทก์ร่วมยึดถือเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ร่วมเพิ่มขึ้นโดยระบุให้เอาโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์ร่วมยึดถือเป็นประกันในการกู้เงินครั้งแรกเป็นประกันการกู้ครั้งที่สองด้วย เช่นนี้ การกู้เงินของจำเลยที่ 1 ในครั้งที่สองเป็นการใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมอีกและคราวกับการใช้ครั้งแรก เพราะการที่โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เงินเพิ่มก็เพราะเชื่อถือในเอกสารฉบับดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีความผิด 2 กระทง กล่าวคือ ครั้งแรกจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมด้วยมีความผิดตามมาตรา 266 (1) และมาตรา 268 วรรค 2 แต่ในการใช้ครั้งที่สองจำเลยที่ 1 มิได้ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการขึ้นอีก คงใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการอันเก่านั้นเอง จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมอย่างเดียวตามมาตรา 268 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔,๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๔๑, ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษของจำเลยที่ ๑ ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๖๙/๒๕๒๗ และนับโทษจำเลยที่ ๒ ต่อจากโทษของจำเลยที่ ๒ ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๖๙/๒๕๒๗ หมายเลขดำที่๑๓๗๑/๒๕๒๗ และหมายเลขแดงที่ ๑๐๐๒/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
นายแปลก วิลัยวรรณ์ ร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖ (๑), ๒๖๘, ๓๔๑, ๘๓, ๙๑ แต่จำเลยที่๑ เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอมด้วย ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตามมาตรา ๒๖๘ กระทงเดียว และเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ อันเป็นบทหนักรวม ๒ กระทง จำคุกกระทงละ ๓ ปี รวมเป็นจำคุก ๖ ปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามมาตรา ๒๖๘, ๓๔๑, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ อันเป็นบทหนักจำคุก ๓ ปี จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามมาตรา ๒๖๘, ๓๔๑, ๘๓, ๙๑ ซึ่งเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ อันเป็นบทหนักรวม ๒ กระทง จำคุกกระทงละ ๓ ปี รวมเป็นจำคุก ๖ ปี นับโทษจำเลยที่ ๒ ต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๐๐๒/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ คืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ใช้เอกสารปลอมครั้งแรกเพียงครั้งเดียวจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ๑ กระทง ส่วนครั้งหลังมีความผิดฐานฉ้อโกงอีก ๑กระทง ส่วนจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ไม่มีความผิด พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดกระทงที่สองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑ จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ทั้งสิ้น ๔ ปี ๖ เดือน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ปัญหาแรกตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ ๑ จะมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมรวม ๒ กระทงหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าครั้งแรกจำเลยที่ ๑ ได้นำโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.๑ ไปอ้างต่อโจทก์ร่วมว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงเพื่อขอกู้เงินจากโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๗ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑กันยายน ๒๕๒๗ จำเลยที่ ๑ ได้ติดต่อขอกู้เงินเพิ่มจากโจทก์ร่วมอีก ๒๐,๐๐๐ บาท และได้ทำหนังสือสัญญากู้กันไว้ตามเอกสารหมายจ.๓ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ มาขอกู้เงินจากโจทก์ร่วมครั้งที่สองนี้ โจทก์ร่วมเบิกความว่าจำเลยที่ ๑ ได้พูดขอให้เอาโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.๑ เป็นประกันเงินกู้ฉบับนี้ด้วย และตามหนังสือสัญญากู้ครั้งที่สองตามเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๒ จำเลยที่ ๑ ได้ระบุข้อความไว้ว่า ‘เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้าได้กู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๖๗๑ เลขที่ดิน ๑๐๗ หน้าสำรวจ ๗๗๔ ตำบลหาดอาสา อำเภอสรรพยาจังหวัดชัยนาท ให้ท่านยึดถือไว้เป็นประกันด้วย และข้าพเจ้าขอรับรองว่าทรัพย์สินที่ข้าพเจ้านำมานี้เป็นของข้าพเจ้าโดยแท้จริง และไม่มีภาระติดพันในหนี้รายอื่นเลย’ เช่นนี้แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ประสงค์ขอกู้เงินจากโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาใช้เอกสารหมาย จ.๑ เป็นหลักฐานและเป็นหลักประกันที่แน่นอน เพื่อที่โจทก์ร่วมจะได้มีความมั่นใจและยินยอมให้จำเลยที่ ๑ กู้เงินเพิ่มอีกได้ แม้ขณะนั้นเอกสารหมาย จ.๑ยังคงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ ๑ กู้เงินเพิ่มก็เพราะเชื่อถือในเอกสารฉบับนี้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการใช้เอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมคนละคราวกับการใช้ครั้งแรก อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิด ๒ กระทง กล่าวคือในการใช้ครั้งแรก จำเลยที่ ๑ ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมด้วย จึงมีความผิดตามมาตรา ๒๖๖ (๑) และ ๒๖๘ วรรค ๒ กระทงหนึ่ง แต่ในการใช้ครั้งที่สอง จำเลยที่ ๑ มิได้ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการขึ้นอีก คงใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการอันเก่านั่นเอง จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมอย่างเดียวตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดในข้อหานี้เพียง๑ กระทง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทำความผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ ๒ นั้น ขณะที่จำเลยที่ ๑ ไปขอกู้เงินจากโจทก์ร่วมที่บ้านของโจทก์ร่วมในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๗ จำเลยที่ ๒ มิได้ไปด้วย โจทก์ร่วมเบิกความว่า เมื่อนำเอกสารหมาย จ.๑ มาให้นายเปรม ชูควร พนักงานที่ดินอำเภอเมืองชัยนาท ตรวจสอบ และได้รับแจ้งว่าเป็นเอกสารแท้จริงแล้ว นายเปรมได้พิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินตามเอกสารหมายจ.๒ ให้โจทก์ร่วมและจำเลยที่ ๑ ลงชื่อเป็นผู้ให้กู้และผู้กู้ ขณะที่โจทก์ร่วมไปซื้ออากรแสตมป์จำเลยที่ ๒ ได้มาลงชื่อเป็นพยาน โจทก์ร่วมได้สอบถามแล้ว นายเปรมว่าไม่เป็นไรเพียงเป็นพยานเท่านั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ใช้เอกสารปลอมหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อฉ้อโกงโจทก์ร่วมที่โจทก์ฎีกาว่านายชวน ขวัญบุญ พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ ๒ เคยพาจำเลยที่ ๑ โดยนำโฉนดที่ดินปลอมมาขอกู้เงินจากนายชวน แสดงว่าจำเลยที่ ๒รู้ว่าเอกสารหมาย จ.๑ เป็นเอกสารปลอมและมีการวางแผนการกันมาก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการกระทำต่างรายกัน ไม่อาจนำมาประกอบการวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดคดีนี้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดดังโจทก์ฟ้อง ฎีกาของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น สำหรับจำเลยที่ ๓ นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์ร่วมว่า ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๗ จำเลยที่ ๓ ได้พาจำเลยที่ ๑ มาขอกู้เงินจากโจทก์ร่วมครั้งแรกโจทก์ร่วมไม่ยอมให้กู้ จำเลยที่ ๓ ได้พูดขอร้องโดยอ้างเหตุความเดือดร้อนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ นำเอกสารหมายจ.๑ มาให้ดู โดยจำเลยที่ ๓ รับรองกับโจทก์ร่วมว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง การที่จำเลยที่ ๓ พาจำเลยที่ ๑ ไปขอกู้เงินจากโจทก์ร่วมพร้อมกับอ้อนวอนโดยยกความเดือดร้อนของจำเลยที่ ๑ ขึ้นอ้างและรับรองว่าเอกสารหมาย จ.๑ เป็นเอกสารที่แท้จริง แสดงว่าจำเลยที่ ๓ มีความสนิทสนมกับจำเลยที่ ๑ มาก จำเลยที่ ๓ จึงอยู่ในฐานะที่จะรู้ถึงทรัพย์สินที่เป็นที่ดินของจำเลยที่ ๑ ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ทั้งต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๗ จำเลยที่ ๓ ยังพาจำเลยที่ ๑ ไปขอกู้เงินจากโจทก์ร่วมอีก โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ติดต่อขอร้องต่อโจทก์ร่วมถึง ๔ ครั้ง เมื่อโจทก์ร่วมบอกว่าไม่มีเงิน จำเลยที่ ๓ ยังคงใช้ความพยายามโดยแนะนำให้โจทก์ร่วมไปหาเงินมาจากบุคคลอื่น ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ ๓ เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ ๓ ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ ๑ มาก่อน แต่มารู้จักเมื่อนายจงและนางทิ้งพามาพบ แล้วจำเลยที่ ๓ พาจำเลยที่ ๑ ไปขอกู้เงินจากโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมยอมให้จำเลยที่ ๑ กู้เงินครั้งที่สอง จำเลยที่ ๓ ก็ได้นำบุตรชายของตนไปเพื่อเขียนหนังสือสัญญากู้ทันที พฤติการณ์ที่แสดงถึงความเอาใจใส่ ความพยายามที่จะให้โจทก์ร่วมยอมให้จำเลยที่ ๑ กู้เงิน ทั้ง ๆ ที่เพิ่งรู้จักกับจำเลยที่ ๑ เช่นนี้เป็นเรื่องที่ผิดปกติและขัดต่อเหตุผลมาก พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม และฉ้อโกงอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น พยานหลักฐานของจำเลยที่ ๓ ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๓ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๖ (๑), มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง และมาตรา ๓๔๑ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖ (๑) อันเป็นบทหนัก กระทงหนึ่งและมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก และมาตรา๓๔๑ เป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖ (๑)อันเป็นบทหนักอีกกระทงหนึ่ง รวม ๒ กระทง จำคุกกระทงละ ๓ ปีรวมเป็นจำคุก ๖ ปี จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๘ วรรคแรก และมาตรา ๓๔๑ เป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖ (๑) อันเป็นบทหนัก รวม ๒ กระทงจำคุกกระทงละ ๓ ปี รวมเป็นจำคุก ๖ ปี ให้จำเลยที่ ๓ คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’.

Share