แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท ทนายจำเลยได้โต้แย้งด้วยวาจาขอให้กำหนดประเด็นเพิ่ม และคัดค้านการกำหนดภาระการพิสูจน์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า หากจำเลยจะคัดค้านให้คัดค้านเข้ามาเป็นหนังสือภายใน 8 วัน จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่าไม่มีเหตุสมควรเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้อง จึงเป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคสาม จำเลยต้องโต้แย้งไว้ตามมาตรา 226 จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้ง จำเลยก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตำแหน่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของกรุงเทพมหานครตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 50 จึงอาจฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีความในศาลได้ ไม่จำต้องเอากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นนิติบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีของภาษีโรงเรือนและที่ดิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังเป็นผู้พิจารณาการประเมินใหม่ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 25 ประกอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ มาตรา 50 และ 109 นอกจากนี้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 32 ยังกำหนดว่า เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลซึ่งแก้คำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาล (ในคดีนี้คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) นั้น ได้ส่งไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้บัญชีการประเมินให้ถูกต้องโดยเร็ว ดังนี้ ผู้ที่จะถูกบังคับตามกฎหมายและคำพิพากษาโดยตรงก็คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการทั้งปวงของกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร และเมื่อมีการแก้ไขประเมินก็หมายถึงต้องคืนเงินภาษีที่รับชำระเกินมาจากผู้รับประเมินด้วย โจทก์จึงฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยขอให้แก้ไขการประเมินและคืนเงินภาษีได้ เพราะเป็นการฟ้องจำเลยในฐานะเป็นผู้ชี้ขาดการประเมินและเป็นผู้แทนของกรุงเทพมหานคร มิใช่ฟ้องให้รับผิดเป็นส่วนตัว
ค่ารายปีของโรงเรือนนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ จึงไม่อาจนำ ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเพียงอย่างเดียวมาเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปีหรือค่าภาษีในปีภาษีที่พิพาทได้ ปรากฏว่า ปี 2539 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราค่าเช่าโรงเรือนในปีดังกล่าวจึงน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางลดลง ทั้งตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 63/2538 ข้อ 2.1 ก็กำหนดให้พิจารณาปรับค่ารายปีตามภาวะเศรษฐกิจ พนักงานเจ้าหน้าที่ ของจำเลยจึงต้องประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะ ที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 8 ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาเพียงอย่างเดียว จึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีประจำปี ๒๕๔๐ สำหรับโรงเรือนของโจทก์ และคำชี้ขาดของจำเลย ซึ่งชี้ขาดให้โจทก์ชำระภาษีตามที่พนักงานเก็บภาษีประเมินไว้ กับให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีที่จำเลยเก็บเกินไป ๔๕๐,๖๕๒.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยไม่ยอมชำระค่าภาษีคืนแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินโดยให้ลดค่ารายปีลง ๙๙๔,๔๘๘.๐๔ บาท ลดค่าภาษีลง ๑๒๐,๒๑๘.๖๓ บาท กับให้จำเลยคืนเงินภาษี ๑๒๐,๒๑๘.๖๓ บาท ภายในสามเดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๓ วรรคสาม จำเลยมีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นสั่งกำหนดประเด็นและศาลชั้นต้นต้องชี้ขาดคำคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยาน ซึ่งคำชี้ขาดคำคัดค้านดังกล่าวให้อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ข้อหนึ่งว่า โรงเรือนตามฟ้องสมควรจะให้เช่าได้เป็นจำนวนเงินเท่าใด และให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้ตกแก่จำเลย ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๑ ทนายจำเลยได้แถลงโต้แย้งด้วยวาจาขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเพิ่มอีกประเด็นหนึ่งว่า จำนวนเงินอันสมควรให้เช่าได้ของโรงเรือนพิพาทเท่ากับค่ารายปีของปีก่อนหรือไม่ รวมทั้งแถลงคัดค้านภาระการพิสูจน์ด้วย ศาลชั้นต้นสั่งว่าหากจำเลยจะคัดค้านให้คัดค้านเข้ามาเป็นหนังสือภายใน ๘ วัน จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ ขอให้ศาลชั้นต้น มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงประเด็นพิพาทและภาระการพิสูจน์ใหม่ โดยกำหนดประเด็นดังกล่าวใหม่ว่า การคิดค่ารายปีสำหรับโรงเรือนตามฟ้องตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดนั้นถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายหรือไม่ และให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้ตกแก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า ไม่มีเหตุสมควรเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้อง เป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๓ วรรคสาม จำเลยทั้งสองต้องโต้แย้งไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ วรรคสอง จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า โจทก์ฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๑๐๙ บัญญัติให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร และมาตรา ๕๐ บัญญัติให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายอื่นได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี หรือคณะเทศมนตรีแล้วแต่กรณีโดยอนุโลม ดังนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตำแหน่งจะต้องเป็นผู้ต้องรับผิดและรับชอบในกิจการของกรุงเทพมหานครจึงอาจฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีความในศาลได้ ไม่จำต้องเอากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นนิติบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความเสมอไปโดยเฉพาะในกรณีของภาษีโรงเรือนและที่ดินนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังเป็นผู้พิจารณาการประเมินใหม่ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๒๕ ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๕๐ และ ๑๐๙ ดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๓๒ ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลซึ่งแก้คำชี้ขาดของอธิบดี กรมสรรพากร หรือสมุหเทศาภิบาลนั้น (ในกรณีนี้คือคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ได้ส่งไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้บัญชีการประเมินให้ถูกต้องโดยเร็ว” ดังนี้ ผู้ที่จะถูกบังคับตามกฎหมายและคำพิพากษาโดยตรงก็คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการทั้งปวงของกรุงเทพมหานครและเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร และเมื่อมีการแก้ไขการประเมินก็หมายถึงต้องคืนเงินภาษีที่รับชำระเกินมาจากผู้รับประเมินด้วย โจทก์จึงฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยขอให้แก้ไขการประเมินและคืนเงินภาษีได้ เพราะเป็นการฟ้องจำเลยในฐานะเป็นผู้ชี้ขาดการประเมินและเป็นผู้แทนของกรุงเทพมหานคร มิใช่ฟ้องให้รับผิดเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า ค่ารายปีของโรงเรือนตามฟ้องควรจะเป็นจำนวนเงินเท่าใด เห็นว่า ค่ารายปีของโรงเรือนนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ จึงไม่อาจจะนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเพียงอย่างเดียวมาเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปีหรือค่าภาษีในปีภาษีที่พิพาทได้ คดีนี้โจทก์มีนายประเสริฐ จงเกษมวงศ์ และนางสาวชูจิตต์ ปริยวาที เป็นพยานเบิกความว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำและสภาวะของราคาค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงตกต่ำลงในปี ๒๕๓๙ โจทก์จำเป็นต้องลดค่าเช่าลงซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้ง ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าในปี ๒๕๓๙ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอัตราค่าเช่าโรงเรือนในปีดังกล่าวจึงน่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ลดลง ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาเพียงอย่างเดียวจึงไม่ถูกต้อง ทั้งตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ ๖๓/๒๕๓๘ ข้อ ๒.๑ ตามเอกสารหมาย ล. ๑ แผ่นที่ ๔ ก็กำหนดให้พิจารณาปรับค่ารายปีตามภาวะทางเศรษฐกิจ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงต้องประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๘
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.