คำวินิจฉัยที่ 87/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้อง กรมที่ดิน จำเลย อ้างว่า โจทก์นำคำพิพากษาคดีถึงที่สุดของศาลฎีกาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลย เพื่อให้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกา แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ให้คำแนะนำแก่โจทก์ผิดพลาดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถขายที่ดินดังกล่าวได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของโจทก์ ข้อความที่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งต่อโจทก์เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายและไม่มีผลผูกพันจำเลย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น… คดีนี้แม้จำเลยจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยกระทำละเมิดให้คำแนะนำแก่โจทก์ผิดพลาดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถขายที่ดินให้แก่ผู้อื่นได้ โดยคดีพิพาทเป็นเพียงการให้คำแนะนำซึ่งเป็นความเห็นของเจ้าหน้าที่ของจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยสั่งการตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่จะถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และมิใช่กรณีที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ หรือคำสั่งอื่น เพื่อให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทจากการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share