แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายด้วยการถอนเงินสดจำนวน 3,000 บาท เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2540 ในวันดังกล่าวมียอดเงินค้างชำระจำนวน 36,995.77 บาท หลังจากนั้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยนำเงินเข้าบัญชีจำนวน 2,000 บาท ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามข้อเท็จจริงที่รับกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ตามข้อเท็จจริงที่แถลงรับกันโดยไม่ต้องสืบพยาน และถือเอาคำวินิจฉัยของศาลเป็นข้อแพ้ชนะ หากศาลวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความก็ต้องพิพากษายกฟ้อง แต่หากวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความก็ต้องพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นคำท้าหรือมีการตกลงกันในประเด็นแห่งคดีโดยไม่ได้มีการถอนฟ้อง ซึ่งมีผลผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 การที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าหลังจากจำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2540 แล้ว จำเลยได้ชำระหนี้โดยนำเงินเข้าบัญชีให้แก่โจทก์เรื่อยมา อายุความจึงสะดุดหยุดลง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้น ความมุ่งหมายของโจทก์ก็เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับฟังข้อเท็จจริงอื่นนอกเหนือจากที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกัน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หามีผลบังคับแก่คดีไม่ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามมูลหนี้บัตรเครดิตรวม 57,100.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 36,995.77 บาท และค่าธรรมเนียม 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นับตั้งแต่จำเลยใช้บัตรเครดิตตามฟ้องถึงวันที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เกินกว่า 2 ปี และการคิดคำนวณดอกเบี้ยตามฟ้องเกินกว่า 5 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายด้วยการถอนเงินสดจำนวน 3,000 บาท เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2540 ในวันดังกล่าวมียอดต้นเงินค้างชำระจำนวน 36,995.77 บาท หลังจากนั้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยนำเงินเข้าบัญชีจำนวน 2,000 บาท ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดไปตามข้อเท็จจริงที่รับกันดังกล่าวข้างต้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ จำเลยให้การต่อสู้เฉพาะเรื่องอายุความ ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายด้วยการถอนเงินสดจำนวน 3,000 บาท เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2540 ในวันดังกล่าวมียอดเงินค้างชำระจำนวน 36,995.77 บาท หลังจากนั้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยนำเงินเข้าบัญชีจำนวน 2,000 บาท ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามข้อเท็จจริงที่รับกันดังกล่าวข้างต้น ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2548 พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์และจำเลยตกลงให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ตามข้อเท็จจริงที่แถลงรับกันโดยไม่ต้องสืบพยานและถือเอาคำวินิจฉัยของศาลเป็นข้อแพ้ชนะ หากศาลวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความก็ต้องพิพากษายกฟ้อง แต่หากวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความก็ต้องพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นคำท้าหรือมีการตกลงกันในประเด็นแห่งคดีโดยไม่ได้มีการถอนฟ้อง ซึ่งมีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 การที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าหลังจากจำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2540 แล้ว จำเลยได้ชำระหนี้โดยนำเงินเข้าบัญชีให้แก่โจทก์เรื่อยมา อายุความจึงสะดุดหยุดลงคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้น ความมุ่งหมายของโจทก์ก็เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับฟังข้อเท็จจริงอื่นนอกเหนือจากที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกันจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หามีผลบังคับแก่คดีไป ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกฎีกาจำเลย คืนค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์และจำเลยตามลำดับ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ