คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 950/2491 ว่า เป็นหน่วยอยู่ในราชการบริหาร ไม่มีกรมหรือส่วนราชการใดจัดไว้สำหรับทำการค้า หรือหากำไร ฉะนั้นจึงมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องเรียกหนี้สิน ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น
กระทรวงพาณิชย์เป็นโจทก์ฟ้องเรียกหนี้จากจำเลยโดยอ้างว่าสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดเป็นองค์การค้าส่วนหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ จำเลยเป็นลูกจ้างของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดตำแหน่งหัวหน้ากองการค้าได้รับเงินไปจากสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดเป็นเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการขนน้ำตาลจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ อันเป็นธุรกิจของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดและอยู่ในหน้าที่ของจำเลย เมื่อมีเงินเหลือจำเลยต้องส่งคืน จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งเงินที่ขาดอยู่อีกเป็นเงินจำนวนหนึ่งแต่เพิกเฉยเสีย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้เงินนั้นพร้อมทั้งดอกเบี้ย ดังนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ได้จ่ายทดรองแก่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างคืนมิใช่เป็นเรื่องของการค้าหรือหากำไรกับบุคคลภายนอก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้ ส่วนเรื่องฟ้องบุคคลภายนอกตามสัญญาการค้า หรือหากำไรแล้วก็ไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

คดี 4 สำนวนนี้กระทรวงพาณิชย์เป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาเพื่อมีคำสั่งเรื่องอำนาจฟ้องโดยโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นกระทรวงในรัฐบาล สำนักงานกลางบริษัทจังหวัด เป็นองค์การค้าส่วนหนึ่งของโจทก์ คือกระทรวงพาณิชย์

ในสำนวนแรกฟ้องว่า นายอารีย์จำเลยเป็นลูกจ้างของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด ตำแหน่งหัวหน้ากองค้าได้รับเงินไปจากสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด เป็นเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการขนน้ำตาลจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ อันเป็นธุระกิจการค้าของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดและอยู่ในหน้าที่จำเลย โดยมีข้อตกลงประกอบกับมีระเบียบปฏิบัติว่า เมื่อจำเลยใช้จ่ายไปในการขนน้ำตาลเท่าใด จำเลยจะต้องรวบรวมใบสำคัญในการใช้จ่ายส่งหักล้างเงินที่จำเลยรับไป ถ้ามีเงินเหลือต้องนำส่งคืนพร้อมด้วยใบสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งเงินที่ขาดอยู่อีก 46,845 บาท 57 สตางค์ ใช้แก่สำนักงานกลางบริษัทจังหวัดแต่เพิกเฉยเสีย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยให้ใช้เงินกับดอกเบี้ย

สำนวนที่ 2 ฟ้องว่า นายเฉลียวจำเลยได้ขอซื้อไม้ขีดไฟของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด 100 หีบ ราคา 72,000 บาท แล้วค้างชำระราคา ขอให้ศาลบังคับใช้เงินและดอกเบี้ย

สำนวนที่ 3 ฟ้องว่า นายเฉลียวจำเลยได้ตกลงทำสัญญารับจ้างขนส่งไม้ขีดไฟของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดกรุงเทพฯไปต่างจังหวัด จำเลยได้รับเงินทดรองค่าขนไปจากสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดหลายครั้ง รวม 150,960 บาท ต่อมาจำเลยส่งใบสำคัญแสดงค่ารับจ้างขนส่งที่ถูกต้องมาหักล้างได้เป็นเงิน 129,312 บาทยังค้างที่จำเลยอีก 21,648 บาท ขอให้จำเลยชำระพร้อมทั้งดอกเบี้ย

สำนวนที่ 4 ฟ้องว่า นายสนั่นจำเลยเป็นผู้ทำการค้า และติดต่อรับจ้างขนส่งในกิจการของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด จำเลยได้รับเงินทดรองค่าขนไม้ขีดไฟของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด 12,000 บาทแล้วมิได้จัดการขนส่งไม้ขีดไฟตามสัญญา จึงขอบังคับให้จำเลยคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยแต่ละสำนวนต่อสู้หลายประการ และตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแทนสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด โดยเหตุโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย สำนักงานกลางบริษัทจังหวัดไม่ใช่หน่วยราชการของโจทก์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้ง 4 สำนวน

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอ้างฎีกาที่ 950/2491 จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องทั้ง 4 สำนวน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อำนาจหน้าที่กระทรวงพาณิชย์นี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 950/2491 ว่าเป็นหน่วยอยู่ในราชการบริหาร ไม่มีกรมหรือส่วนราชการใดจัดไว้สำหรับทำการค้าหรือหากำไร ฉะนั้น จึงต้องพิจารณาว่าหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกนี้จะอยู่ในขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่

ในสำนวนแรกนั้น คำฟ้องปรากฏว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ได้จ่ายทดรองแก่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างคืน จึงมิใช่เรื่องของการค้าหรือหากำไรกับบุคคลภายนอก โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้

ส่วนในสำนวนที่ 2, 3, 4 นั้นเป็นเรื่องฟ้องคนภายนอกตามสัญญาการค้าหรือหากำไร จึงไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจและหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่กล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

จึงพิพากษาแก้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาในสำนวนแรก ส่วนสำนวนที่ 2, 3, 4 ให้ยกฟ้อง

Share