แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์อ้างตามคำฟ้องว่าโจทก์ส่งมอบงานที่จำเลยว่าจ้างให้จำเลยตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม 2542 เท่ากับโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระสินจ้างได้ตั้งแต่วันส่งมอบงานที่ทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 ถือว่าสิทธิเรียกร้องสินจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ และจำเลยไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนของโจทก์ที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นโดยวิธีทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 โจทก์โดยผู้บริหารแผนจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง หากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ถูกต้อง ก็ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ปูและติดตั้งหินอ่อนและหินแกรนิตในโครงการทิปโก้ ทาวเวอร์ ของจำเลย มูลค่างานตามสัญญา 45,073,540.82 บาท ต่อมาระหว่างทำงานมีมูลค่างานเพิ่มเติมอีกประมาณ 25,800,129.07 บาท รวมมูลค่างานทั้งหมดประมาณ 71,663,251.33 บาท โจทก์ทำงานให้จำเลยจนสำเร็จ สามารถส่งมอบงานให้แก่จำเลยได้สมบูรณ์ในเดือนมกราคม 2542 จำเลยมีหนี้ค้างชำระ 15,438,328.12 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยอ้างว่าชำระครบถ้วนแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 17,639,877.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 15,438,328.12 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ต่อมามีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้บริหารแผนแล้ว การติดตามทวงหนี้และการฟ้องคดีจะต้องดำเนินการผ่านเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/38 และมาตรา 90/39 การที่โจทก์ดำเนินการติดตามทวงหนี้และฟ้องคดีเองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง มูลหนี้ในคดีนี้เป็นมูลหนี้เดียวกับคดีหมายเลขแดงที่ 4506/2547 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากไม่ได้บรรยายว่าโจทก์ทำงานในส่วนใดของอาคาร อีกทั้งไม่มีรายละเอียดหลักของงานและไม่ได้แนบเอกสารสัญญามาท้ายฟ้อง คดีโจทก์มีอายุความ 2 ปี เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำและเป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาค่าจ้างอันพึงจะได้รับในการนั้น สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ โจทก์สามารถบังคับสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างจากจำเลยได้ตั้งแต่ปี 2542 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2550 เกินกว่า 2 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ทำงานให้จำเลยไม่ตรงตามแบบล่าช้ากว่ากำหนดและโจทก์ตัดหินเสียหายจำนวนมาก โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การพอวินิจฉัยได้ จึงงดสืบพยานคู่ความ แล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า เมื่อปี 2540 จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการปูและติดตั้งหินอ่อนและหินแกรนิตในโครงการทิปโก้ ทาวเวอร์ โจทก์ทำงานและส่งมอบงานงวดสุดท้ายให้แก่จำเลยเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2542 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์และตั้งโจทก์เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งนายวรายุทธ์ เป็นผู้บริหารแผน โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้ค่าปูและติดตั้งหินอ่อนและหินแกรนิตที่ค้างชำระจำนวน 15,438,328.12 บาท แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์โดยผู้บริหารแผนจึงแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์โดยผู้บริหารแผนมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ส่งมอบงานที่ทำให้จำเลยตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม 2542 และทวงถามหนี้ที่ค้างชำระแล้ว แต่จำเลยอ้างว่าชำระแล้ว เมื่อโจทก์อ้างมาในคำฟ้องดังกล่าวเท่ากับโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระสินจ้างได้ตั้งแต่วันส่งมอบงานที่ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 กรณีจึงต้องถือว่าสิทธิเรียกร้องสินจ้างจากจำเลยของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม 2542 ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วและจำเลยไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนของโจทก์ที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นโดยวิธีทวงหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 โจทก์โดยผู้บริหารแผนจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนที่โจทก์อ้างในฎีกาทำนองว่า ภายหลังจากโจทก์ส่งมอบงานแล้ว จำเลยโต้แย้งว่างานที่โจทก์ส่งมอบไม่ถูกต้องตามสัญญาและบอกให้โจทก์แก้ไข โจทก์ก็ได้ดำเนินการแก้ไขให้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบงานแล้วนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นอ้างดังกล่าวโจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้อง ทั้งยังขัดกับข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่อ้างว่าโจทก์ทำงานเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม 2542 โจทก์จึงหาอาจยกเหตุนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อแสดงว่าสิทธิเรียกร้องสินจ้างของโจทก์เกิดขึ้นภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้ไม่ และที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า ตามคำให้การจำเลยก็ได้ให้การแล้วว่า โจทก์ทำงานต่ำกว่ามาตรฐานไม่เป็นไปตามแบบและล่าช้า แสดงว่าโจทก์กับจำเลยยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องกันอยู่ จึงถือไม่ได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยเกิดขึ้นก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการนั้น เห็นว่า ในการพิจารณาว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำฟ้องเกิดขึ้นเมื่อใด จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องเป็นสำคัญ เมื่อคดีนี้โจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาที่โจทก์เกิดสิทธิเรียกร้องมาโดยชัดแจ้งแล้ว ข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงหาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องนำมาพิจารณาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฎีกานั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในสำนวนเป็นความบกพร่องของศาลชั้นต้นในการส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลย ทำให้จำเลยไม่ได้รับสำเนาฎีกา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาภายในเวลาที่ศาลกำหนดอันจะเป็นการทิ้งฎีกาตามกฎหมาย จึงให้ยกคำร้อง แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยแล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะย้อนสำนวนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยอีกและคดีนี้โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งหากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง ก็ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงเห็นควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ