คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4095/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ ในการรับจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินและรับฝากรถสัญญาจ้างดูแลทรัพย์สินรวมทั้งความปลอดภัยที่หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยทำกับเจ้าของคอนโดมีเนี่ยม จึงเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยไม่ผูกพันจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในเหตุที่รถยนต์ซึ่งจอดอยู่ในคอนโดมีเนียมถูกลักไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน5 ช-9521 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางสาวนิภาพรรณ แช่ลอร์ โจทก์จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัย เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้เกิดวินาศภัยสูญหายในระหว่างอายุสัญญาในวงเงิน 280,000 บาทจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในทางการค้ารับดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินโดยมีบำเหน็จสินจ้างเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 เวลาประมาณ 0.30 นาฬิกานางสาวนิภาพรรณขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ช-9521 กรุงเทพมหานครไปจอดที่บริเวณอาคารแดนตะวันคอนโดมิเนียม ซึ่งมีลูกจ้างของจำเลยเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยทรัพย์สินของผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมเมื่อลูกจ้างของจำเลยรับรถยนต์ดังกล่าวไว้ในความดูแลรักษาแล้วลูกจ้างของจำเลยได้กระทำการโดยประมาท มิได้ดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ดังกล่าวตามหน้าที่ เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวถูกผู้อื่นลักไป โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วเป็นเงิน 280,000 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการของพนักงานผู้มีชื่อจัดหาที่จอดรถและดูแลความปลอดภัยนอกจากนี้จำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์คันดังกล่าวไว้ในความครอบครองดูแลแห่งตน แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรทำให้รถยนต์สูญหายไปจะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 5ช-9521 กรุงเทพมหานครแก่โจทก์ หากส่งมอบไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวน 292,250 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 280,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สิน และรับฝากรถและไม่ได้รับฝากรถยนต์เก๋งคันพิพาทไว้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ 2 จำเลยมีวัตถุประสงค์ในการรับดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินและรับฝากรถหรือไม่กับจำเลยได้รับฝากรถพิพาทตามฟ้องหรือไม่ 3 โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ช-9521 กรุงเทพมหานคร และมีอำนาจรับช่วงสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ 4 ขณะเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใด ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ชัดแจ้งชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ไม่เคลือบคลุม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ช-9521กรุงเทพมหานคร ไว้แล้วรถคันดังกล่าวได้หายไป โจทก์จ่ายเงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์แล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ได้พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังไม่พอฟังว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการรับดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินและรับฝากรถ กับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับฝากรถไว้ตามฟ้อง จึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้อ 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบไว้พอฟังได้ว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการรับดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินและรับฝากรถ กับจำเลยได้รับฝากรถยนต์คันพิพาทไว้ตามฟ้องศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์ แต่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่า รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้หายไปเกิดจากความผิดของใคร จำเลยมีพันธกรณีตามสัญญาอย่างไรที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ และไม่ปรากฏว่าเหตุรถยนต์หายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ อันเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทและนอกประเด็นแห่งคำฟ้องอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183ประกอบด้วยมาตรา 131(2) และมาตรา 246 แต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์นั้น โจทก์มีนายประเมต ปัญญาใสผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ นายสายันห์ จันทร์ศรีบุตรผู้ช่วยหัวหน้าส่วนติดตามรถหายของโจทก์ นายวุฒินันท์ เลิศฉัตรโกศลพนักงานติดตามรถหายของโจทก์และนางสาวนิภาพรรณ แซ่ลอร์ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่หายเบิกความเป็นพยานรวม 4 ปากนายประเมตและนายสายันห์เป็นเพียงผู้ที่ทราบข้อเท็จจริงมาจากนายวุฒินันท์ สำหรับนายวุฒินันท์เบิกความได้ใจความเพียงว่านายวุฒินันท์ได้ไปสอบถามนายบุญส่ง เทพสุรินทร์ ที่แดนตะวันคอนโดมิเนียมแล้ว ได้บันทึกรายละเอียดข้อเท็จจริงตามคำนายบุญส่งไว้ในเอกสารหมาย ล.6 และถ่ายภาพนายบุญส่งไว้ตามภาพถ่ายหมาย ล.7 ในเอกสารหมาย ล.6 มีข้อเท็จจริงที่สำคัญคือนายบุญส่งเป็นลูกจ้างของจำเลย มีหน้าที่เป็นยามดูแลทรัพย์สินรถยนต์ รวมทั้งความปลอดภัย จำเลยส่งนายบุญส่งมาปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่แดนตะวันคอนโดมิเนียมเป็นเวลาติดต่อกันนานถึง 7 ปี แล้วโดยได้รับเงินเดือนเดือนละ 3,000 บาท เครื่องแบบที่นายบุญส่งสวมอยู่ตามภาพถ่ายหมาย ล.7 นั้น มีอักษรย่อว่า ไอทีเอสซึ่งหมายถึงห้างหุ้นส่วนจำกัดอินเตอร์สยามจำเลย ส่วนนางสาวนิภาพรรณ เบิกความว่า ขณะนางสาวนิภาพรรณขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ไปจอดที่ลานจอดรถแดนตะวันคอนโดมิเนียมนั้นมีนายบุญส่งทำหน้าที่ยามรักษาความปลอดภัย นายบุญส่งเป็นลูกจ้างจำเลย เจ้าของแดนตะวันคอนโดมิเนียมเป็นผู้จ้างจำเลยเฝ้ายามโดยผู้เช่าห้องเป็นผู้จ่ายค่ายามให้แก่เจ้าของแดนตะวันคอนโดมิเนียมเดือนละ 400 บาท ดังนี้ ข้อเท็จจริงคงได้ความเพียงว่าเจ้าของแดนตะวันคอนโดมิเนียมจ้างจำเลยดูแลทรัพย์สินรถยนต์รวมทั้งความปลอดภัยให้แก่ผู้ที่มาเช่าห้องพักอยู่ที่แดนตะวันคอนโดมิเนียม โดยเจ้าของแดนตะวันคอนโดมิเนียมเรียกเก็บค่าเฝ้ายามดังกล่าวจากผู้เช่าห้องพักเดือนละ 400 บาท หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยได้ส่งนายบุญส่งลูกจ้างของจำเลยมาทำหน้าที่เฝ้ายามดูแลทรัพย์สินรถยนต์ รวมทั้งความปลอดภัยที่แดนตะวันคอนโดมิเนียมในคืนที่นางสาวนิภาพรรณผู้พักอาศัยอยู่กับผู้เช่าห้องพักแดนตะวันคอนโดมิเนียมจอดรถยนต์ไว้ที่บริเวณลานจอดรถของแดนตะวันคอนโดมิเนียมได้หายไปนั้น แต่การที่จะฟังว่าจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินและรับฝากรถหรือไม่นั้น จะต้องฟังจากรายการที่ลงทะเบียนไว้ในการจดทะเบียนต่อหอทะเบียนหรือสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโจทก์ไม่มีหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครอันเป็นตำบลที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของจำเลยมาแสดงว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์ดังกล่าวหรือมีพยานบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนของจำเลยมาเบิกความรับรอง ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินและรับฝากรถ ดังนั้น สัญญาจ้างที่หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยทำการเจ้าของแดนตะวันคอนโดมิเนียมจึงเป็นการที่ได้กระทำไปนอกวัตถุประสงค์ของจำเลย จึงไม่ผูกพันจำเลย จำเลยหาต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไม่ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1076/2515คดีระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิไลดีนำ โจทก์ พันตรีอิศศระวีระเสนีย์ ที่ 1 กองทัพบกที่ 2 จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share