คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อำนวยการบริการมีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินให้แก่ลูกค้าของผู้เสียหายตามวันเกิดเหตุโจทก์ร่วมได้นำเงินมอบให้จำเลยเพื่อฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมที่ธนาคารผู้เสียหาย รวม 9 ครั้งเป็นเงิน 487,810 บาท ในการฝากเงินของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมมอบเงินฝากให้จำเลย จำเลยจะเป็นผู้เขียนกรอกข้อความลงในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค โดยใช้กระดาษคาร์บอนอัดสำเนาแล้วฉีกต้นฉบับไว้และมอบสำเนาให้โจทก์ร่วมเป็นหลักฐานต่อมาจำเลยได้แก้ไขจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ครวม 5 ฉบับ ให้น้อยลงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝากจริงแล้วจำเลยนำเอกสารที่จำเลยแก้ไขดังกล่าวพร้อมจำนวนเงินตามเอกสารที่แก้ไขใหม่ให้หัวหน้าหน่วยการเงินตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งเงินเก็บรักษา การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแก้ไขต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คที่แท้จริงเพื่อแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 5 ฉบับและการที่จำเลยเขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นใหม่รวม 3 ฉบับ ระบุจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรให้น้อยลงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝากแล้วนำเอกสารที่จำเลยแก้ไขดังกล่าวพร้อมจำนวนเงินตามเอกสารที่ทำขึ้นใหม่ให้หัวหน้าหน่วยการเงินตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งเงินเก็บรักษาต่อไป เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 3 ฉบับเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เป็นเพียงการปลอมเอกสารธรรมดาเพราะต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คมีข้อความแสดงว่าได้รับเงินเพื่อฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วม ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิแก่โจทก์ร่วมที่จะเรียกถอนเงินฝากคืนได้เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยทำลายต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค 4 ฉบับ อันเป็นหลักฐานของธนาคารผู้เสียหายซึ่งจำเลยจะต้องนำไปลงบัญชีในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงยอดเงินฝากของโจทก์ร่วม โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะทำลายต้นฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 จำเลยได้ยักยอกเงินฝากของโจทก์ร่วมรวม 9 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 140,000 บาท โดยจำเลยได้แก้ไขจำนวนเงินในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ครวม 5 ฉบับ ให้จำนวนเงินน้อยลงกว่าความเป็นจริง และจำเลยได้เขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นมาใหม่รวม 3 ฉบับ ระบุจำนวนเงินฝากน้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝาก แล้วจำเลยนำเงินลงบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมตามจำนวนเงินในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คที่จำเลยแก้ไขและทำขึ้นใหม่ และการฝากเงินในวันที่เกิดเหตุมีแต่สำเนาชุดฝากเงินสด-เช็คระบุจำนวนเงินฝาก 20,000 บาท แต่จำเลยไม่นำเงินฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมการที่จำเลยได้เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไป 9 ครั้งเป็นจำนวนเงิน 140,000 บาท โดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ การที่จำเลยเป็นพนักงานธนาคารมีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินให้แก่ลูกค้าของธนาคารผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ฎีกาจำเลยที่ว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์นั้น ไม่ว่าโจทก์ร่วมจะเป็นผู้เสียหายตามที่จำเลยฎีกาหรือไม่เมื่อไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปศาลฎีกาจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 715/2537 ของศาลชั้นต้น แต่คดีอาญาหมายเลขดำที่ 715/2537 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งสองสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องสำนวนแรกขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 188, 264, 265, 268, 352,354 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 110,000 บาท แก่ผู้เสียหายและนับโทษจำเลยนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 715/2537 และ 137/2538 ของศาลชั้นต้น
จำนวนที่สองโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 264, 265, 268, 352, 354ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 30,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 656/2537และ 715/2537 ของศาลชั้นต้น
ระหว่างพิจารณา นางขวัญใจ หะยีหมาด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 265, 268, 352, 354รวม 10 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำลายเอกสารของผู้อื่นและยักยอกทรัพย์เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทที่มีโทษเท่ากันรวมสองกรรม ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 352 รวม 2 กรรม จำคุกกระทงละ3 ปี ฐานทำลายเอกสารของผู้อื่น ปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมและยักยอกทรัพย์รวม 3 กรรม เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมจึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 3 กรรม จำคุกกระทงละ 3 ปีและฐานปลอมเอกสารสิทธิใช้เอกสารสิทธิปลอมและยักยอกทรัพย์รวม 5 กรรม เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 รวม 5 กรรม จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 30 ปีลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 20 ปี และให้จำเลยคืนเงินจำนวน140,000 บาท แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายด้วย
จำเลยทั้งสองสำนวนนี้และจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 715/2537ของศาลชั้นต้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดข้อหาทำลายเอกสารของผู้อื่นและยักยอกทรัพย์ 1 กระทง ข้อหาทำลายเอกสารของผู้อื่นปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมและยักยอกทรัพย์ 3 กระทง และข้อหาปลอมเอกสารสิทธิใช้เอกสารสิทธิปลอมและยักยอกทรัพย์ 5 กระทง รวม 9 กระทงวางโทษกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 9 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 6 ปี ยกฟ้องโจทก์ในความผิดที่เกี่ยวกับการทำลายเอกสารและยักยอกเงินของนายบุญส่งและนางชื่นฤดี พิริเยศยางกูณ(สำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 715/2537 ของศาลชั้นต้น)และที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อนั้นให้ยก เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาคดีเข้าด้วยกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย สาขาท่าชนะอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อำนวยการบริการ 8 มีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินให้แก่ลูกค้าของผู้เสียหาย ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง นางขวัญใจ หะยีหมาดโจทก์ร่วมได้นำเงินมอบให้จำเลยเพื่อฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมที่ธนาคารผู้เสียหายสาขาท่าชนะรวม 9 ครั้งเป็นเงิน 487,810 บาท จำเลยเป็นผู้เขียนกรอกข้อความลงในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค โดยใช้กระดาษคาร์บอนอัดสำเนาแล้วฉีกต้นฉบับไว้ส่วนสำเนามอบให้โจทก์ร่วมเป็นหลักฐานหลังจากนั้นจำเลยได้แก้ไขจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค รวม 5 ฉบับ คือ ฉบับลงวันที่6 กรกฎาคม 2536 จาก 38,000 บาท เป็น 28,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 ฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม 2536 จาก 30,000 บาทเป็น 20,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.8 ฉบับลงวันที่17 ธันวาคม 2536 จาก 33,000 บาท เป็น 23,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.10 ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม 2537จาก 35,000 บาท เป็น 25,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.16และฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 จาก 30,000 บาท เป็น20,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.20 และจำเลยได้เขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นใหม่ภายใน 3 ฉบับ คือ ต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค ฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2537 ระบุจำนวนเงินฝาก163,010 บาท ตามเอกสารหมาย จ.12 ฉบับลงวันที่13 มกราคม 2537 ระบุจำนวนเงินฝาก 20,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.14 และฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2537 ระบุจำนวนเงินฝาก 48,800 บาท ตามเอกสารหมาย จ.18 แล้วจำเลยนำต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คดังกล่าวลงบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คที่จำเลยแก้ไขและเขียนขึ้นใหม่นั้น และจำเลยได้เขียนกรอกข้อความลงในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คระบุจำนวนเงินฝาก 20,000 บาทและมอบสำเนาชุดฝากเงินสด-เช็คฉบับลงวันที่15 กุมภาพันธ์ 2537 จำนวนเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.15 แต่จำเลยร่วมไม่ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วม
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับข้อหาปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น เห็นว่าในการฝากเงินของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมมอบเงินฝากให้จำเลย จำเลยจะเป็นผู้เขียนกรอกข้อความลงในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค โดยใช้กระดาษคาร์บอนอัดสำเนาแล้วฉีกต้นฉบับไว้ และมอบสำเนาให้โจทก์ร่วมเป็นหลักฐาน ต่อมาจำเลยได้แก้ไขจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ครวม 5 ฉบับให้น้อยลงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝาก ตามเอกสารหมาย จ.6 จ.8 จ.10 จ.16 และ จ.20แล้วนำเอกสารที่จำเลยแก้ไขดังกล่าวพร้อมจำนวนเงินตามเอกสารที่แก้ไขใหม่ให้หัวหน้าหน่วยการเงินตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งเงินเก็บรักษาต่อไปดังนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแก้ไขต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คที่แท้จริงเพื่อแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหายแล้วจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 5 ฉบับ และการที่จำเลยเขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นใหม่รวม 3 ฉบับ ระบุจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรให้น้อยลงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝากตามเอกสารหมาย จ.12 จ.14 และ จ.18 แล้วนำเอกสารที่จำเลยแก้ไขดังกล่าวพร้อมจำนวนเงินตามเอกสารที่ทำขึ้นใหม่ให้หัวหน้าหน่วยการเงินตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งเงินเก็บรักษาต่อไปดังนี้ เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 3 ฉบับเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เป็นเพียงการปลอมเอกสารธรรมดาดังที่จำเลยฎีกา เพราะต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คมีข้อความแสดงว่าได้รับเงินเพื่อฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมย่อมเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิแก่โจทก์ร่วมที่จะเรียกถอนเงินฝากคืนได้ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 265
สำหรับข้อหาทำลายเอกสารของผู้อื่นนั้น ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยได้ทำลายต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค 4 ฉบับ อันเป็นหลักฐานของธนาคารผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยจะต้องนำไปลงบัญชีในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงยอดเงินฝากของโจทก์ร่วม จำเลยไม่มีสิทธิจะทำลายต้นฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่นตามฟ้อง
สำหรับข้อหายักยอกทรัพย์นั้น โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมนายไตรรงค์สมุห์บัญชีธนาคารผู้เสียหาย สาขาท่าพระ และนายทวีศักดิ์ จารุวัชรวรรณ ผู้ตรวจสอบบัญชีธนาคารผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานได้ความว่า จำเลยได้ยักยอกเงินฝากของโจทก์ร่วมรวม 9 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 140,000 บาท โดยจำเลยได้แก้ไขจำนวนเงินในต้นฉบับชุดเงินสด-เช็ครวม 5 ฉบับ ให้จำนวนเงินน้อยลงกว่าความเป็นจริง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 จ.8 จ.10จ.16 และ จ.20 และจำเลยได้เขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นมาใหม่รวม 2 ฉบับ ระบุจำนวนเงินฝากน้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝากตามเอกสารหมาย จ.12 จ.14 และ จ.18แล้วจำเลยนำเงินลงบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมตามจำนวนเงินในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คที่จำเลยแก้ไขและทำขึ้นใหม่ และการฝากเงินในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 มีแต่สำเนาชุดฝากเงินสด-เช็คระบุจำนวนเงินฝาก 20,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.15แต่จำเลยไม่นำเงินฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วม เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานบุคคลและพยานเอกสารประกอบทำให้มีน้ำหนักรับฟัง ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่าจำเลยมิได้ยักยอกเงินของโจทก์ร่วมนั้นเป็นข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทกืและโจทก์ร่วมได้เชื่อได้ว่าจำเลยได้เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไป 9 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน140,000 บาท โดยทุจริตจริง จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์การที่จำเลยเป็นพนักงานธนาคารมีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินให้แก่ลูกค้าของธนาคารผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354
ส่วนฎีกาจำเลยในข้อกฎหมายที่ว่า นางขวัญใจ หะยีหมาดไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการโจทก์นั้นเห็นว่า ไม่ว่านางขวัญใจจะเป็นผู้เสียหายตามที่จำเลยฎีกาหรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วางโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 9 ปี นั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษให้เบาลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือนรวม 9 กระทง รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share