คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2703/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกค้าของธนาคารจำเลยที่ 3 สาขาลาดพร้าว ได้ติดต่อรับซื้อลดเช็คจาก พ. พนักงานฝ่ายสินเชื่อของจำเลยที่ 3 ซึ่งเช็คดังกล่าว พ. อ้างว่าเป็นของลูกค้าจำเลยที่ 3 โดยโจทก์กับ พ. แบ่งผลประโยชน์ในส่วนลดกัน เมื่อเช็คถึงกำหนด พ. จะนำไปเก็บเงินจากลูกค้าแล้วนำเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ ดังนี้เท่ากับ พ. เป็นผู้ไปรับฝากเงินจากโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ต้องนำเงินเข้าบัญชีด้วยตนเอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีและผู้จัดการของจำเลยที่ 3 สาขา ลาดพร้าว ก็ทราบเรื่องที่ พ.นำเงินเข้าบัญชีโจทก์ดังกล่าว ถือว่าจำเลยทั้งสามเชิดให้ พ.เป็นตัวแทนออกไปรับฝากเงินจากลูกค้านอกสถานที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 หาก พ. ได้รับเงินจากลูกค้าผู้สั่งจ่ายเช็คเพื่อนำมาเข้าบัญชีโจทก์แล้ว ถึงแม้ พ.จะทุจริตมิได้นำเข้าบัญชีจำเลยที่ 3 ก็จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 821

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของธนาคารกรุงไทย จำกัดจำเลยที่ ๓ สาขาลาดพร้าว ตำแหน่งสมุห์บัญชี จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการธนาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๖ โจทก์ฝากเงินสดเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ที่เปิดไว้กับจำเลยที่ ๓ จำนวน ๒ รายการเป็นเงิน ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ ได้ลงรายการเข้าบัญชีเรียบร้อยแล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ลงรายการแก้ไขหักเงินออกจากบัญชีโดยลงรายการประเภทแก้ไขข้อผิดพลาด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน ๑,๑๔๙,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ๑๘ ต่อปี ในต้นเงิน ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่เคยได้รับเงินฝากดังกล่าวจากโจทก์ การแก้ไขบัญชีกระแสรายวันเป็นการแก้ไขเมื่อลงตัวเลขในบัญชีผิดพลาด เป็นวิธีปฏิบัติตามปกติของธนาคารขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑มีนาคม ๒๕๒๖ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๑ มีตำแหน่งเป็นสมุห์บัญชี จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการ ส่วนนายไพโรจน์ลักษณาวิน เป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด จำเลยที่ ๓ สาขาลาดพร้าว โจทก์เป็นลูกค้าเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับจำเลยที่ ๓ สาขาลาดพร้าว นายไพโรจน์ นำเช็คซึ่งอ้างว่าเป็นของลูกค้าจำเลยที่ ๓ ไปขายให้กับโจทก์ โดยโจทก์จะได้ส่วนลดร้อยละ ๖ ของจำนวนเงินตามเช็คแต่ละฉบับ ส่วนลดที่โจทก์ได้นี้โจทก์จะแบ่งให้นายไพโรจน์ร้อยละ ๒ โจทก์คงได้ร้อยละ ๔ เมื่อเช็คที่นายไพโรจน์นำมาขายถึงกำหนด นายไพโรจน์จะมาขอรับเช็คเพื่อนำไปเก็บเงินจากลูกค้าผู้สั่งจ่ายเช็ค แล้วนำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ต่อมาวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๖ นายไพโรจน์มาขอรับเช็คที่ถึงกำหนดเพื่อนำไปเก็บเงินรวมเป็นเช็ค ๙ ฉบับ เป็นเงิน ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท และในวันเดียวกันนายไพโรจน์ได้นำบัญชีกระแสรายวันหรือสเตทเมนต์ซึ่งลงรายการว่าจำเลยที่ ๓ ได้รับเงินฝากรวม ๒ รายการ เป็นเงิน๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท มาแสดงต่อโจทก์เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติ หลังจากนั้นปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้ขีดฆ่ารายการลงรับเงิน ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาทโดยอ้างว่ามิได้มีการนำเงิน ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท ฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ สำหรับเรื่องที่นายไพโรจน์นำเช็คไปขายลดให้โจทก์นั้น ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำของนายไพโรจน์แต่ประการใด เช็คที่นำไปขายลดให้แก่โจทก์ก็มีทั้งของจำเลยที่ ๓ และมิใช่ของจำเลยที่ ๓ดังนั้นในเรื่องที่นายไพโรจน์นำเช็คไปขายลดให้แก่โจทก์โดยต่างได้รัผลประโยชน์จากส่วนลดร่วมกันนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างโจทก์กับนายไพโรจน์ จำเลยทั้งสามหามีส่วนจะต้องรับผิดในเรื่องดังกล่าวนี้ไม่ ส่วนเรื่องที่นายไพโรจน์นำเงินที่เก็บได้จากลูกค้าผู้สั่งจ่ายเช็ค แล้วนำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์นั้นเห็นว่า เท่ากับนายไพโรจน์เป็นผู้ไปรับเงินฝากเข้าบัญชีจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้า โดยที่โจทก์ไม่ต้องนำเงินมาฝากเข้าบัญชีที่ธนาคารด้วยตนเอง อันเป็นการให้ความสะดวกแก่ลูกค้าของจำเลยที่ ๓ นั่นเองจำเลยที่ ๑ ก็ตอบค้านทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ ทราบว่านายไพโรจน์เคยเขียนใบเปย์อิน และนำเงินเข้าบัญชีให้แก่โจทก์บ่อย ๆ ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีความเสียหาย คำเบิกความของจำเลยที่ ๑ ดังนี้ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ยอมรับเอาการกระทำหรือการปฏิบัติของนายไพโรจน์ที่ไปรับฝากเงินจากลูกค้านอกสถานที่ และเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ก็ทราบด้วยดังจะเห็นได้จากใบรับฝากเงิน และบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ รายการฝากเงินดังกล่าวหลายรายการฝากเป็นจำนวนหลายแสนบาท จึงมีผลเท่ากับจำเลยทั้งสามเชิดให้นายไพโรจน์เป็นตัวแทนออกไปรับฝากเงินจากลูกค้านอกสถานที่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๑ เมื่อถือว่านายไพโรจน์เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยไปรับฝากเงินจากลูกค้านอกสถานที่แล้ว เรื่องการนำเงินที่รับฝากมาเขียนใบเปย์อินการลงบัญชีรับฝากเงินสด การที่จำเลยที่ ๑ จะต้องลงชื่อกำกับยอดเงินในบัญชีกระแสรายวันตลอดจนนายไพโรจน์จะมีหน้าที่ทำอะไรบ้างนั้น เป็นเรื่องภายใน บุคคลภายนอกหารู้ไม่ ดังนั้นในกรณีเรื่องนี้ หากนายไพโรจน์ได้รับเงินจากลูกค้าผู้สั่งจ่ายเช็คเพื่อนำมาเข้าบัญชีให้โจทก์อย่างที่เคยปฏิบัติแล้ว ถึงแม้นายไพโรจน์จะทุจริตมิได้นำมาเข้าบัญชี ธนาคารจำเลยก็จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๐, ๘๒๑ แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่านายไพโรจน์มิได้รับฝากเงินจากโจทก์ตามฟ้อง ดังนั้นแม้จะมีการลงรายการในบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ว่าฝากเงิน๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นการผิดพลาดไป จำเลยก็มีอำนาจที่จะขีดฆ่ารายการดังกล่าวออกและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share