คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 559/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 29ว่าด้วยเงินบำเหน็จ กำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จมีสาระสำคัญว่า พนักงานที่ทำงานมาแล้วตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป จึงจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ แม้พนักงานได้ลาออกหรือถึงแก่ความตายก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ซึ่งแตกต่างจากเงื่อนไขในการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งกำหนดว่าลูกจ้างที่มีอายุงาน120 วัน ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้ว ถ้า ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แต่ถ้า ลูกจ้างลาออกหรือตาย ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เมื่อเลิกจ้างจึงไม่ใช่ค่าชดเชย แม้ข้อบังคับดังกล่าวจะกำหนดให้ถือว่าการจ่ายเงินบำเหน็จเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้อบังคับดังกล่าวย่อมไม่มีผลยกเลิกค่าชดเชยตามกฎหมายแต่อย่างใด.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเพราะเหตุเกษียณอายุโดยโจทก์ทุกคนไม่มีความผิด และไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การต่อสู้คดีหลายประการ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้อง
จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ตามข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 29 ว่าด้วยเงินบำเหน็จข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 10 ได้กำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จมีสาระสำคัญว่า พนักงานที่ทำงานมาแล้วตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป จึงจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแม้พนักงานได้ลาออกหรือถึงแก่ความตายก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับดังกล่าวของจำเลยจึงแตกต่างจากเงื่อนไขในการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งกำหนดว่าลูกจ้างที่มีอายุงาน 120 วัน ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้วถ้าถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แต่ถ้าลูกจ้างลาออกหรือตายไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งห้า จึงไม่ใช่ค่าชดเชย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งห้าได้รับค่าชดเชยจากจำเลยแล้ว แม้ข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 11 กำหนดให้ถือว่าการจ่ายเงินบำเหน็จเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานก็ตาม เมื่อฟังว่าโจทก์ทั้งห้ายังไม่ได้รับค่าชดเชยตามประกาศทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อบังคับคดีดังกล่าวข้อ 11 จึงไม่มีผลให้ยกเลิกค่าชดเชยตามกฎหมายแต่อย่างใด”
พิพากษายืน.

Share