คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 705/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 แม้จะบรรยายว่าจำเลยได้โอนเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2501 อันเป็นระยะเวลาภายใน 3 ปี ก่อนถูกฟ้องล้มละลาย โดยมิได้ใช้คำว่า ‘ก่อนล้มละลาย’ แต่เมื่อได้บรรยายด้วยว่าศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยโดยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 18กุมภาพันธ์ 2502 ซึ่งเป็นวันที่การล้มละลายของจำเลยเริ่มต้น มีผลตามมาตรา 62 แล้ว ก็ถือได้ว่าการโอนที่ขอให้เพิกถอนคือการโอนที่ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนล้มละลายนั่นเอง คำร้องเช่นนี้ต้องด้วย มาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว
กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา 114 และ 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164
จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินและตึกแถวให้ ส. มีข้อสัญญาให้ส. ชำระราคาเป็นงวด ๆ จนกว่าจะหมดใน 3 ปี ชำระหมดแล้วจึงจะโอนกัน หลังจากทำสัญญาได้เพียง 4 เดือนและอยู่ในระหว่าง3 เดือนก่อนจำเลยถูกฟ้องล้มละลาย จำเลยก็โอนที่ดินและตึกแถวให้ส. ทั้ง ๆ ที่ยังชำระราคาไม่ครบ และจำเลยก็รู้ดีว่าตนเป็นหนี้คนอื่นอีก มากและการโอนทรัพย์รายนี้ จะทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ดังนี้ย่อมถือว่า ส. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามความหมายของมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องทั้ง ๔ สำนวน มีใจความว่าโจทก์ฟ้องจำเลยให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๐๒ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยโดยเด็ดขาดเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์๒๕๐๒ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนได้ความว่าจำเลยดำรงชีพอยู่ด้วยการกู้ยืมจากเจ้าหนี้หลายรายในระยะเวลา ๓ ปีก่อนถูกฟ้องล้มละลายปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ต่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จำเลยมีเจ้าหนี้ไม่ต่ำกว่า ๒๐ รายเป็นหนี้ประมาณ ๒ ล้านบาทเศษ จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๔เนื้อที่ประมาณ ๓๐ ตารางวารวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นห้องแถวไม้ ๖ ห้องและเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๕ เนื้อที่ประมาณ ๗๒ ตารางวารวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแถวรวม ๕ คูหา เลขที่ ๑๐๕, ๑๐๗, ๑๐๙, ๑๑๑, ๑๑๓ต่อมาที่ดินแปลงนี้แบ่งออกเป็นที่ดิน ๔ โฉนด คือโฉนดเลขที่ ๕๖๘๓, ๕๖๘๔,๕๖๘๕ และ ๕๖๘๖
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๑ อันเป็นระยะเวลาภายใน ๓ เดือนก่อนถูกฟ้องล้มละลาย จำเลยได้ขายที่ดินโฉนดที่ ๑๐๖๔ รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้นายศิริ บุศยอังกูร ในราคา ๔๐,๐๐๐ บาท
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ อันเป็นระยะเวลาภายใน ๓ เดือนก่อนถูกฟ้องล้มละลาย จำเลยได้ขายที่ดินโฉนดที่ ๑๐๖๕ เฉพาะส่วนเนื้อที่๑๓ ตารางวา รวมทั้งตึกแถวเลขที่ ๑๐๙ ซึ่งปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นโฉนดที่ ๕๖๘๕ให้นางสุนีย์ ตั้งเกียรติวุฒิ ในราคา ๓๘,๑๒๕ บาท
เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ อันเป็นระยะเวลาภายใน ๓ ปีก่อนถูกฟ้องล้มละลายจำเลยได้ขายที่ดินโฉนดที่ ๑๐๖๕ เฉพาะส่วนเนื้อที่ ๑๓ ตารางวารวมทั้งตึกแถวเลขที่ ๑๑๓ ให้นางสาวสร้อย สันธิโยธิน ในราคา ๔๕,๐๐๐ บาทต่อมานางสาวสร้อยได้โอนขายให้นางกรรณิการ์ เหลืองวุฒิวิโรจน์ ในราคา๔๕,๐๐๐ บาท
เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ อันเป็นระยะเวลาภายใน ๓ ปีก่อนถูกฟ้องล้มละลายจำเลยได้ขายที่ดินโฉนดที่ ๑๐๖๕ เฉพาะส่วนเนื้อที่๑๗ ตารางวา รวมทั้งตึกแถวเลขที่ ๑๑๑ ซึ่งปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นโฉนดที่ ๕๖๘๖ ให้แก่นายเกียรติ ภัทรานุประวัติ ในราคา ๔๕,๐๐๐ บาท
ราคาขายที่ดินทั้ง ๔ ราย เป็นราคาต่ำกว่าราคาจริงมาก และมิได้มีการชำระเงินตามจำนวนดังกล่าวในขณะหรือวันที่ทำสัญญาขาย ทั้งนี้โดยจำเลยและผู้รับโอนได้ทำนิติกรรมโดยมีเจตนาจะหลีกเลี่ยงป้องกันมิให้บรรดาเจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยได้รับชำระหนี้จากจำเลย อันเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้บรรดาเจ้าหนี้อื่น ๆ เสียเปรียบ ยิ่งกว่านั้น ผู้รับโอนทั้ง ๖ รายและผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำนิติกรรมยังทราบในขณะทำนิติกรรมว่าจำเลยเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งเป็นหนี้ที่มีจำนวนเงินมาก จำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ให้หมดสิ้นได้นิติกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้นด้วยความไม่สุจริตมุ่งหมายให้บรรดาเจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ เป็นการต้องห้ามตาม มาตรา ๑๑๔, ๑๑๕แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ขอให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้ง ๔ ราย
นายศิริ ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘ จำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดที่ ๑๐๖๔ รวมทั้งห้องแถว ๖ ห้องไว้กับผู้คัดค้านเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐บาท เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๐๐ จำเลยจำนองที่ดินอีกแปลงพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างไว้กับผู้คัดค้านเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน๒๕๐๐ จำเลยกู้เงินผู้คัดค้านอีก ๓๐,๐๐๐ บาท ครั้นวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑จำเลยไถ่จำนองที่ดินรายหลัง โดยชำระเงินต้นให้เพียง ๗๐,๐๐๐ บาทส่วนเงินต้นที่เหลือ ๓๐,๐๐๐ บาท กับหนี้ตามสัญญากู้อีก ๓๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยที่ค้าง ๘,๗๕๐ บาท รวมเป็นเงิน ๖๘,๗๕๐ บาท ได้ตกลงรวมทำเป็นสัญญากู้ขึ้นใหม่ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๑ จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๑๐๖๔ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างให้ผู้คัดค้าน เพื่อชำระหนี้จำนองกับหนี้เงินกู้ดังกล่าว รวมเป็นเงิน ๑๐๘,๗๕๐ บาท ไม่ใช่ ๔๐,๐๐๐ บาทตามคำร้อง และมิใช่ราคาต่ำกว่าราคาจริง ผู้คัดค้านได้รับโอนโดยมีค่าตอบแทนและด้วยความสุจริต ไม่ใช่ด้วยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ทั้งไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
นางสุนีย์ยื่นคำคัดค้านว่า ซื้อตึกแถวเลขที่ ๑๐๙ และที่ดินโฉนดที่ ๕๖๘๕ซึ่งแยกจากโฉนดที่ ๑๐๖๕ จากจำเลยเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ ในราคา๗๖,๒๕๐ บาท แต่ที่ลงในสัญญาซื้อขายน้อยกว่าราคาจริงก็เพื่อจะให้เสียค่าอากรแสตมป์น้อยลง การชำระเงินเป็นการผ่อนชำระ ก่อนโอนโฉนดชำระบางส่วน โอนโฉนดแล้วชำระอีกหลายงวดจนเสร็จ ชำระเสร็จจำเลยยังไม่ได้ถูกฟ้องล้มละลาย ผู้คัดค้านซื้อตึกแถวและที่ดินไว้โดยสุจริต และมีค่าตอบแทนสมควรแก่ราคา ไม่ได้มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงป้องกันมิให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยได้รับชำระหนี้ ทั้งไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
นางสาวสร้อย และนางกรรณิการ์ ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑จำเลยบอกขายตึกแถวเลขที่ ๑๑๓ กับที่ดินโฉนดที่ ๑๐๖๕ มารดาและสามีของนางกรรณิการ์เป็นคนต่างด้าว และขณะนั้นนางกรรณิการ์ก็ยังใช้ชื่อแซ่เป็นจีน จึงขอให้นางสาวสร้อยเป็นผู้ซื้อไว้แทน ทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อ ๔กรกฎาคม ๒๕๐๑ ราคาที่ลงในสัญญาน้อยกว่าที่ซื้อขายกันจริงเพื่อจะให้เสียค่าอากรแสตมป์น้อยลง เมื่อนางกรรณิการ์ใช้ชื่อและนามสกุลว่านางกรรณิการ์เหลืองวุฒิวิโรจน์ แล้ว นางสาวสร้อยจึงได้โอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อ ๘ ธันวาคม๒๕๐๑ ผู้คัดค้านซื้อตึกแถวและที่ดินจากจำเลยโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนโดยสมควรแก่ราคา ไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
นายเกียรติ ยื่นคำคัดค้านว่าได้ซื้อที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ ๑๐๖๕และตึกแถวเลขที่ ๑๑๑ จากจำเลยในราคา ๙๕,๐๐๐ บาท ที่ลงในสัญญาน้อยกว่าราคาจริงก็เพื่อจะได้เสียค่าธรรมเนียมน้อย ผู้คัดค้านซื้อโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
ต่อมาผู้คัดค้านทั้ง ๔ ได้รับอนุญาตให้เพิ่มเติมคำคัดค้านว่า คดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้ง ๔ สำนวนขาดอายุความ เพราะทราบหรือน่าจะทราบเหตุเพิกถอนเกินกว่า ๑ ปีแล้ว
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดที่ ๑๐๖๔รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยกับนายศิริ ผู้คัดค้าน โดยถือว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของจำเลย คำร้องขอเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีก ๓ สำนวนให้ยกเสีย
นายศิริ ผู้คัดค้าน และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นายศิริ ผู้คัดค้านฎีกาขอให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา ขอให้เพิกถอนการโอนในสำนวนที่ ๒, ๓, ๔
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้ง ๔ สำนวนนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินที่จำเลยโอนให้แก่ผู้คัดค้าน โดยบรรยายในคำร้องว่าจำเลยถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๐๒ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยโดยเด็ดขาด เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์๒๕๐๒ กับได้ระบุวันที่จำเลยโอนทรัพย์สินแต่ละรายไว้โดยละเอียดอันอยู่ในระหว่างระยะเวลา ๓ ปีก่อนล้มละลายและ ๓ เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา ๑๑๔ และ ๑๑๕ โดยเฉพาะคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในสำนวนที่ ๓ และ ๔ บรรยายว่า จำเลยได้โอนขายที่ดินโฉนดที่ ๑๐๖๕ ให้แก่ผู้คัดค้านทั้ง ๒ ราย เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ อันอยู่ในระหว่างระยะเวลา ๓ ปี ก่อนที่จำเลยจะถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายในคดีนั้น แม้จะใช้คำว่า “ก่อนที่จำเลยจะถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย”มิได้ใช้คำว่า “ก่อนล้มละลาย” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ก็ตาม แต่เมื่อในคำร้องได้บรรยายไว้ชัดเจนถึงวันที่จำเลยได้กระทำการโอนคือวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ และวันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยโดยเด็ดขาด คือวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์๒๕๐๒ ซึ่งเป็นวันที่การล้มละลายของจำเลยเริ่มต้นมีผลตามมาตรา ๖๒แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ แล้ว ก็ถือได้ว่าการโอนทรัพย์สินที่ขอให้เพิกถอน คือการโอนที่ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา ๓ ปี ก่อนล้มละลายนั่นเอง คำร้องขอให้เพิกถอนในสำนวนที่ ๓ และ ๔ จึงต้องด้วยมาตรา ๑๑๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๓๓/๒๕๑๐ ซึ่งศาลอุทธรณ์อ้างนั้นปรากฏว่าคำร้องระบุว่า จำเลยได้กระทำในระหว่างระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนถูกฟ้องล้มละลายหาได้ระบุรายละเอียดให้เป็นที่เข้าใจว่าเป็นการโอนที่ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา ๓ ปี ก่อนล้มละลายเหมือนคำร้อง ๒ สำนวนนี้ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องขอให้เพิกถอนฯในสำนวนที่ ๓ และ ๔ ชอบที่จะรับไว้พิจารณา
ตามฎีกาของผู้คัดค้านสำนวนที่ ๑ และคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านสำนวนที่ ๔ เรื่องคดีขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนเป็นการร้องตาม มาตรา ๑๑๔ และ ๑๑๕แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ หาใช่การร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๐ มาใช้บังคับไม่ได้และตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ก็มิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความการร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา ๑๑๔ และ ๑๑๕ ไว้จึงต้องนำมาตรา ๑๖๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับฉะนั้น เมื่อคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการโอนได้ยื่นต่อศาลยังไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันโอน จึงยังไม่ขาดอายุความ
การโอนที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างตามสำนวนที่ ๑ เห็นได้ว่าราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยโอนให้นายศิริ ผู้คัดค้าน เพื่อชำระหนี้จำนองและหนี้เงินกู้นั้นต่ำกว่าราคาจริงเกือบครึ่งเท่าตัว จึงฟังได้ว่าจำเลยโอนให้นายศิริผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยโดยจำเลยมุ่งหมายให้นายศิริ ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ชอบที่จะเพิกถอนการโอนนั้นตาม มาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
สำนวนที่ ๒ นั้นเห็นได้ว่า การที่จำเลยโอนที่ดินและตึกแถวให้นางสุนีย์ผู้คัดค้านไปในขณะที่นางสุนีย์ยังชำระเงินไม่หมด เป็นการกระทำอย่างเร่งรีบหลังจากทำสัญญาจะซื้อขายเพียง ๔ เดือน ทั้ง ๆ ที่ตามสัญญามีกำหนดเวลาผ่อนชำระกันถึง ๓ ปี พฤติการณ์ของจำเลยและนางสุนีย์ส่อว่าทั้ง ๒ ฝ่ายร่วมรู้คบคิดกัน สำหรับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ย่อมรู้ดีว่าตนเป็นหนี้คนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก และการโอนทรัพย์รายนี้จะทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ โดยจะยึดทรัพย์รายนี้เพื่อชำระหนี้ไม่ได้ ส่วนผู้คัดค้านซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ผู้จะได้รับโอนตามสัญญาจะซื้อขายย่อมได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น การโอนที่จำเลยกระทำไปฟังได้ว่าจำเลยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามความหมายในมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ศาลจึงสั่งเพิกถอนได้
การโอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสำนวนที่ ๓ และ ๔ เป็นการโอนทรัพย์สินที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา ๓ ปีก่อนล้มละลาย และข้อเท็จจริงได้ความว่าราคาซื้อขายที่ปรากฏในสัญญา ต่ำกว่าราคาจริง ทั้งเชื่อไม่ได้ว่าได้มีการชำระราคาทรัพย์สินที่จำเลยโอนให้ผู้คัดค้านทั้ง ๒ รายเสร็จสิ้นแล้ว ก็ฟังเป็นที่พอใจศาลไม่ได้ว่าการโอนทรัพย์สินของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านทั้ง ๒ สำนวนนี้ได้กระทำโดยสุจริต ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนการโอนได้ตามมาตรา ๑๑๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
พิพากษาแก้ เป็นว่าให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๕ เฉพาะส่วนรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านในสำนวนที่ ๒, ๓และ ๔ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share