แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดทำสุราโดยมิได้รับอนุญาต และมาตรา 32บัญญัติเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 5 สุราตามบทมาตราทั้งสองดังกล่าวหมายความถึงทั้งสุรากลั่นและสุราแช่ เมื่อจำเลยกระทำความผิดในคราวเดียวกันโดยการทำสุรากลั่นและสุราแช่จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกันกรรมหนึ่ง และการมีสุรากลั่นและสุราแช่ไว้ในครอบครองก็เป็นความผิดกรรมเดียวกันอีกกรรมหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าศาลล่างพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดตามฟ้องไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยทำสุราแช่บรรจุถังขนาด 200 ลิตร จำนวน 2 ใบปริมาณน้ำสุราแช่ 60 ลิตร มีสุราแช่บรรจุปีบขนาด 20 ลิตรจำนวน 8 ใบ ปริมาณน้ำสุรา 160 ลิตร ไว้ในครอบครองทำสุรากลั่นบรรจุถังขนาด 20 ลิตร จำนวน 2 ใบ ปริมาณน้ำสุรา 38 ลิตร มีสุรากลั่นบรรจุถังจำนวน 2 ใบ ปริมาณน้ำสุรา 38 ลิตร ไว้ในครอบครอง มีถังต้มกลั่นสุรา 2 ใบกระทำเหล็กขนาดใหญ่ 2 ใบ แป้นและท่อคงคา 2 ชุดกรวยพลาสติก 2 อัน สายยาง 4 เส้น ถังแก๊ส 2 ใบหัวแก๊สพร้อมสายแก๊ส 2 อัน ถังพลาสติก 2 ใบ ปีบ 8 ใบอันเป็นเครื่องต้มกลั่นสุราไว้ในครอบครอง และขายสุราแช่สุรากลั่นที่จำเลยมีไว้ในครอบครองดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 5, 17,30, 31, 32, 40, 45 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 4, 5, 17, 30, 31, 32, 40, 45การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานทำสุราแช่ ปรับ 200 บาท ฐานมีสุราแช่ไว้ในครอบครองปรับ1,000 บาท ฐานทำสุรากลั่น จำคุก 2 เดือน ฐานมีสุรากลั่นไว้ในครอบครองปรับ 1,000 บาท ฐานมีภาชนะเครื่องต้มกลั่นสุราจำคุก 4 เดือน ฐานขายสุราแช่สุรากลั่น จำคุก 6 เดือนรวมจำคุก 12 เดือน และปรับ 2,200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ1,100 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493มาตรา 5 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดทำสุราโดยมิได้รับอนุญาตและมาตรา 32 บัญญัติเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 5 นั้น สุราตามบทมาตราทั้งสองดังกล่าวหมายความถึงทั้งสุรากลั่นและสุราแช่ ดังนั้นเมื่อจำเลยกระทำความผิดในคราวเดียวกัน การทำสุรากลั่นและสุราแช่จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน และการมีสุรากลั่นและสุราแช่ไว้ในครอบครองก็เป็นความผิดกรรมเดียวกันอีกกรรมหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดตามฟ้องจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมีภาชนะเครื่องต้มกลั่นสุรา ฐานมีสุรากลั่นและสุราแช่ ฐานทำสุรากลั่นและสุราแช่ และฐานขายสุรากลั่นและสุราแช่
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำจึงให้ลงโทษปรับและกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานมีภาชนะเครื่องต้มกลั่นสุรา จำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาทฐานทำสุรากลั่นและสุราแช่ จำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาทฐานมีสุรากลั่นและสุราแช่ ปรับ 1,000 บาท ฐานขายสุรากลั่นและสุราแช่ จำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท รวมจำคุก 3 เดือนและปรับ 11,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 5,500 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2