คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2368/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยผู้นำสินค้าเข้าชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของอากรขาเข้าจำนวน 1,050,684.10 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ในคำฟ้องของโจทก์และตามทางนำสืบของโจทก์มิได้สืบให้เห็นว่าเงินค่าอากรขาเข้าที่ค้างชำระโดยไม่รวมเงินเพิ่มจำนวนเท่าใด เมื่อไม่ทราบจำนวนเงินอากรขาเข้าที่จะใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินเพิ่มได้เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมไม่อาจให้จำเลยชำระเงินเพิ่มจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่โจทก์ขอได้ ประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ บัญญัติถึงความรับผิดของผู้เสียภาษีที่ผิดนัดไม่ชำระค่าภาษีอากรไว้โดยเฉพาะแล้ว หากผู้ประกอบการค้าไม่ชำระภาษีภายในกำหนดต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะเช่นนี้แล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดใน ป.พ.พ. อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับอีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2517 ถึงวันที่ 12กรกฎาคม 2520 จำเลยนำสินค้าเข้าตามใบขนสินค้ารวม 19 ฉบับ โดยสำแดงว่าสินค้าที่นำเข้ามีสภาพเป็นวัตถุดิบจะใช้ในการผลิตสินค้าส่งออกจากภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าและประสงค์ขอคืนเงินอากรพนักงานของโจทก์ได้ตรวจสอบสิค้าตามใบขนสินค้าทั้ง 19 ฉบับ จำเลยให้ธนาคารค้ำประกันการชำระภาษีอากรไว้ เมื่อพ้นระยะเวลา 1 ปีนับแต่จำเลยนำสินค้าเข้า จำเลยมิได้นำสินค้าที่นำเข้าตามใบขนทั้ง 9 ฉบับ ไปใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกจำเลยจึงไม่มีสิทธิขอคืนเงินอากรขาเข้า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงทำการประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรใหม่แจ้งให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระค่าภาษีอากรซึ่งธนาคารได้ชำระเป็นเงิน 1,980,800 บาท ่ตามวงเงินค้ำประกันจำเลยต้องชำระภาษีและเงินเพิ่มสำหรับอากรขาเข้าต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1ต่อเดือนนับแต่วันตรวจปล่อยสินค้าจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต้องชำระเงินเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 1ต่อเดือน นับแต่วันตรวจปล่อยสินค้าจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล จำเลยมีหน้าที่ยื่นใบสรุปยอดอากรและชำระเงินค่าภาษีอากรกับเงินเพิ่มที่จำเลยจะต้องเสียสำหรับสินค้าที่นำเข้า โดยไม่มีการผลิตส่งออก ภายในเวลา 18 เดือน นับแต่วันนำสินค้าเข้า แต่จำเลยเพิกเฉย เมื่อหักเงินที่ธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระให้แก่โจทก์แล้วจำเลยต้องชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องเป็นอากรขาเข้าจำนวน 1,050,684.10 บาทภาษีการค้า 170,706.13 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 17,050.44 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาและบังคับจำเลยชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน 1,238,439.96 บาท กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มค่าภาษีอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,238,438.96 บาทแก่โจทก์กับเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของค่าอากรขาเข้าที่ค้างชำระจำนวน 72,181.61 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าจำนวน 19 ฉบับ โดยสำแดงว่าเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตสินค้าและจะส่งออกไปจำหน่ายนอกราชอาณาจักรภายใน1 ปี นับแต่วันนำเข้าและขอคืนเงินอากรเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ได้ตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวให้จำเลยรับไป แต่ให้จำเลยจัดหาธนาคารมาค้ำประกัน ครั้นเมื่อครบ 1 ปี จำเลยมิได้นำสินค้าดังกล่าวไปใช้ในการผลิตและส่งออกนอกราชอาณาจักร จำเลยจึงหมดสิทธิขอคืนเงินอากรแต่จำเลยต้องชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มตามกฎมหมาย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในการนำสินค้าดังกล่าวเข้ามา จำเลยได้สำแดงสินค้าไว้ในใบขนสินค้าไม่ถูกต้องจำนวน 10 ฉบับโจทก์ที่ 1 จึงประเมินราคาใหม่แล้วคำนวณค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่ม เมื่อหักกับจำนวนเงินที่ธนาคารชำระแทนจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว จำเลยยังค้างชำระค่าอากรขาเข้ากับเงินเพิ่มจนวน 1,050,684.10 ภาษีการค้าและเงินเพิ่มจำนวน 170,706.13 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่ม 17,050.44 บาทรวม 3 รายการ เป็นเงิน 1,238,440.67 บาท แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยชำระเพียง 1,238,439.96 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรขาเข้าตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องนับแต่วันฟ้องหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ค้างชำระด้วยหรือไม่สำหรับปัญหาเรื่องเงินเพิ่มของค่าอากรขาเข้านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้กฎหมายจะบัญญัติว่า เมื่อผู้นำของเข้านำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1ต่อเดือน ของค่าอากรที่นำมาชำระนับแต่วันที่ได้ส่งมอบจนถึงวันนำเงินมาชำระก็ตาม แต่ในฟ้องของโจทก์ก็ดี ตามทางนำสืบของโจทก์ก็ดี โจทก์ยอมรับว่าจำนวนเงินอากรขาเข้าท่ฟ้องขอให้ชำระจำนวน1,050,684.10 บาทนั้น ได้รวมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของเงินค่าอากรขาเข้าที่ค้างชำระคำนวณถึงวันฟ้องแล้ว โดยในคำฟ้องของโจทก์และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มิได้แยกได้ให้เห็นว่าเงินค่าอากรขาเข้าที่ค้างชำระโดยไม่รวมเงินเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์อ้างในฎีกาว่า โจทก์ได้แสดงรายละเอียดเฉพาะยอดตัวภาษีโดยไม่รวมเงินเพิ่มไว้ในเอกสารหมาย จ.1 แล้วนั้น ได้ตรวจดูเอกสารหมาย จ.1แล้วก็ไม่สามารถทราบได้โดยชัดแจ้งว่ายอดเงินค้าอากรขาเข้าที่ไม่รวมเงินเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใด แม้แต่ในฎีกาของโจทก์เองก็ไม่ได้ระบุว่ายอดเงินอากรที่ไม่รวมเงินเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใด และปรากฏตัวเลขดังกล่าวในช่องไหนของเอกสารหมาย จ.1 ทั้งได้พิจารณาคำเบิกความของนางสาวสุวรรณี ทวีศรี พยานโจทก์ผู้จัดทำเอกสารหมาย จ.1 แล้วก็ไม่ปรากฏว่าพยานได้เบิกความถึงจำนวนเงินค่าอากรขาเข้าที่ไม่รวมเงินเพิ่มว่าเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อไม่ทราบจำนวนเงินค่าอากรขาเข้าที่จะใช้เป็นหลักฐานในการกำหนดเงินเพิ่มได้เข่นนี้แล้วศาลก็ไม่อาจให้จำเลยชำระเงินเพิ่มจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1ต่อเดือนของค่าอากรขาเข้าที่ค้างชำระ 72,181.61 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองอยู่แล้วฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยในเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้เสียภาษีที่ผิดนัดไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติให้ผู้ประกอบการค้าที่ไม่ชำระภาษีภายในกำหนดต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะเช่นนี้แล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับอีกที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาไม่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share