คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1065/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องจำเลยตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 328/2507 ของศาลจังหวัดว่าจำเลยทำสัญญาจำนองทรัพย์ไว้กับโจทก์(สัญญาฉบับเดียวกับที่ฟ้องคดีนี้) ขอให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระเฉพาะ2 เดือน 5,000 บาท โดยไม่ได้ฟ้องขอบังคับจำนอง จำเลยให้การในคดีนั้นว่า สัญญาจำนองเป็นโมฆะ แต่ไม่ได้ยกข้อต่อสู้ว่าทรัพย์หมายเลข 2 ถึงเลข 7 จำนองกันไม่ได้ดังคำให้การในคดีนี้ต่อมาโจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำนองตามสัญญาจำนองฉบับเดียวกับคดีก่อน ศาลชั้นต้นสั่งงดรอคดีนี้ไว้ฟังผลของคดีก่อน ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาคดีก่อนว่า โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนนิติกรรมจำนองด้วยกันการกล่าวอ้างและข้อนำสืบของจำเลยไม่น่าเชื่อฟัง พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย 5,000 บาท ดังนี้ในคดีก่อนไม่มีประเด็นว่า ทรัพย์รายใดจำนองกันได้หรือไม่ได้ตามกฎหมาย เพราะมิใช่คดีฟ้องบังคับจำนองศาลฎีกาจึงชี้ขาดคดีก่อนเพียงในประเด็นว่า จำเลยได้ทำสัญญาจำนองโดยจดทะเบียนนิติกรรมไว้จริง ไม่ได้ชี้ขาดไปถึงว่า ทรัพย์ที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองรายการใดจำนองกันได้หรือไม่ได้ แต่ในคดีนี้จำเลยได้ต่อสู้ด้วยว่า ทรัพย์หมายเลข 2 ถึงเลข 7 ไม่เป็นทรัพย์ที่อาจจำนองได้ ศาลจึงต้องชี้ขาดในประเด็นนี้อีก ไม่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน
เครื่องผสมอาหาร เรือยนต์ (ไม่ปรากฏระวางบรรทุก)เรือลำเลียงขนาด 2 ตัน เครื่องบดอาหาร รถยนต์บรรทุกและตู้ฟักไข่ไม่มีกฎหมายใดให้จดทะเบียนได้เฉพาะการ และไม่เป็นทรัพย์ที่จะจำนองได้
เมื่อคำขอท้ายฟ้องอุทธรณ์มากเกินกว่าที่จะได้ ศาลก็พิพากษาให้เท่าที่กล่าวในฟ้องได้ ไม่เป็นฟ้องอุทธรณ์เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองจำนองโรงเรือนและทรัพย์สินอื่นไว้กับโจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พ้นระยะเวลาจำนองแล้วค้างดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 95,000 บาท ชำระ 5,000 บาทไว้ตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 328/2507 คดีอยู่ระหว่างฎีกา จำเลยจึงคงค้างดอกเบี้ย 90,000 บาท โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการบังคับจำนอง 12,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยนำเงิน290,000 บาท กับค่าสินไหมทดแทน 12,000 บาท ไถ่ถอนจำนอง ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในต้นเงิน 200,000 บาท ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะไถ่ถอน ถ้าจำเลยไม่ไถ่ถอนการจำนอง ให้เอาทรัพย์สินจำนองขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ

จำเลยทั้งสองให้การว่า ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2505 จำเลยไปทำสัญญาจะจำนองทรัพย์ 200,000 บาทไว้กับโจทก์ที่อำเภอแต่ยังไม่ได้จดทะเบียน โดยจำเลยขอให้ระงับไว้เพราะโจทก์ยังไม่มีเงิน 200,000 บาท มาให้จำเลย ได้ตกลงกันให้เอาเอกสารต่าง ๆ ที่ทำมาแล้วฝากเจ้าหน้าที่อำเภอไว้ก่อน ครั้นวันรุ่งขึ้นโจทก์เอาเอกสารสัญญาที่ทำกันไว้มาบ้านจำเลยปรากฏว่าสัญญาจำนองได้รับการจดทะเบียนแล้วในวันที่ 25 นั้นเอง โดยโจทก์ไม่ได้นำเงินค่าจำนอง 200,000 บาท มาให้จำเลย ทรัพย์ตามสัญญาจำนองอันดับ 2 ถึง 7 เป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่อาจจำนองได้

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองนำเงิน 290,000 บาท ไถ่ถอนการจำนอง ให้จำเลยทั้งสองเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน200,000 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะไถ่ถอนเสร็จ หากไม่อาจไถ่ถอนการจำนองได้ ก็ให้เอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดมาชำระหนี้โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ทรัพย์สินตามบัญชีต่อท้ายสัญญาจำนองเลขที่ 2 ถึงเลขที่ 7 ไม่ตกอยู่ในข่ายแห่งสัญญาจำนองจะเอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินส่วนนี้ชำระหนี้ให้โจทก์ก่อนเจ้าหนี้สามัญไม่ได้

โจทก์ฎีกา

ได้ความว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาจำนองทรัพย์ 8 รายการไว้กับโจทก์ สำหรับทรัพย์หมายเลข 2 ถึง 7 เป็นสังหาริมทรัพย์คือ เครื่องผสมอาหาร เรือยนต์ 1 ลำ (ไม่ปรากฏระวางบรรทุก) เรือลำเลียงขนาด 2 ตัน 1 ลำ เครื่องบดอาหาร รถยนต์บรรทุก 2 คัน และตู้ฟักไข่ คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่าโจทก์จะบังคับจำนองจากสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ได้หรือไม่

คดีได้ความว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 328/2507 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่าจำเลยทำสัญญาจำนองทรัพย์ไว้กับโจทก์ (สัญญาฉบับเดียวกับที่ฟ้องคดีนี้) ขอให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระเฉพาะ 2 เดือน 5,000 บาท โดยไม่ได้ฟ้องขอบังคับจำนอง จำเลยให้การในคดีนั้นว่า การจดทะเบียนสัญญาจำนองทำไปโดยจำเลยไม่รู้เห็นด้วย สัญญาจำนองเป็นโมฆะ ทำนองเดียวกับที่ให้การต่อสู้ในคดีนี้ แต่ไม่ได้ยกข้อต่อสู้ว่าทรัพย์หมายเลข 2 ถึงเลข 7 จำนองกันไม่ได้ดังคำให้การในคดีนี้ ต่อมาโจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำนองตามสัญญาจำนองฉบับเดียวกับคดีก่อน ศาลชั้นต้นสั่งงดรอคดีนี้ไว้ฟังผลของคดีก่อนในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาคดีก่อนว่า โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนนิติกรรมจำนองด้วยกัน การกล่าวอ้างและข้อนำสืบของจำเลยไม่น่าเชื่อฟังพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย 5,000 บาท ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีก่อนมีประเด็นตามที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้ว่า 1. สัญญาจำนองที่เป็นมูลให้เรียกดอกเบี้ยสมบูรณ์หรือไม่ 2. หากสมบูรณ์จำเลยได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหรือไม่ ไม่มีประเด็นไปถึงว่าทรัพย์รายใดจำนองกันได้หรือจำนองกันไม่ได้ตามกฎหมาย เพราะไม่ใช่คดีฟ้องบังคับจำนอง ศาลฎีกาจึงชี้ขาดคดีก่อนเพียงในประเด็นว่าจำเลยได้ทำสัญญาจำนองโดยจดทะเบียนนิติกรรมไว้จริง ศาลฎีกาไม่ได้ชี้ขาดไปถึงว่าทรัพย์ที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองรายการใดจำนองกันได้หรือไม่ได้ แต่ในคดีนี้นอกจากจำเลยจะต่อสู้ว่า การจดทะเบียนสัญญาจำนองทำไปโดยจำเลยไม่รู้เห็นด้วยแล้ว จำเลยยังต่อสู้ว่าทรัพย์หมายเลข 2 ถึงเลข 7 ไม่เป็นทรัพย์ที่อาจจะจำนองได้ ศาลจึงต้องชี้ขาดในประเด็นนี้อีก หาใช่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนไม่

สังหาริมทรัพย์หมายเลข 2 ถึงเลข 7 ดังกล่าวแล้ว ไม่มีกฎหมายใดให้จดทะเบียนได้เฉพาะการ และไม่เป็นทรัพย์ที่จะจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 703 จึงต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่จำนองไม่ได้

ฎีกาโจทก์อีกข้อหนึ่งมีว่า จำเลยฟ้องอุทธรณ์คัดค้านทรัพย์บางรายการ แต่คำขอท้ายฟ้องอุทธรณ์กลับขอให้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า เมื่อคำขอท้ายฟ้องมากเกินกว่าที่จะได้ ศาลก็พิพากษาให้เท่าที่กล่าวในฟ้องได้ หาเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่เคลือบคลุมไม่

พิพากษายืน

Share