คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 866/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมายเลข 33และ 34 ท้ายฟ้อง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดของรายการต่าง ๆ ไว้แล้ว จำเลยย่อมสามารถตรวจสอบได้คำฟ้องของโจทก์จึงถือได้ว่าได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม สัญญากู้ระบุว่าผู้กู้ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญานี้ภายในวันที่ 27สิงหาคม 2525 แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนถึงกำหนดที่กล่าวมาก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร โดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ และผู้กู้สัญญาว่าในกรณีที่ผู้ให้กู้เรียกร้องดังกล่าวมานี้ ผู้กู้จะชำระหนี้ตามที่เรียกร้องทันที ข้อสัญญานี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญามีผลผูกพันกันได้ ทนายโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญากู้กับสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทางไปรษณีย์ตอบรับลงทะเบียนแต่ไม่ได้รับใบตอบรับโดยไม่ทราบเหตุขัดข้อง จึงไปทำคำร้องขอไต่สวนไปรษณีย์ตอบรับในประเทศ ต่อมาทนายโจทก์ได้รับแจ้งจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยว่าส่งได้โดยระบุวันที่ส่งและชื่อผู้รับมาด้วยตามใบตอบรับที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้จัดทำขึ้นตามหน้าที่ ทั้งระบุสถานที่นำหนังสือไปส่งตรงกับภูมิลำเนาของจำเลย ใบตอบรับดังกล่าวทำภายหลังจากทนายโจทก์ทำคำร้องขอไต่สวน การไม่มีลายมือชื่อของผู้รับในใบตอบรับจึงไม่เป็นพิรุธ ฟังได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ร่วมกันรับผิดตามสัญญากู้ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และสัญญาจำนองที่ดินและเครื่องจักร ชำระเงินจำนวน 57,073,626.36 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในจำนวนเงิน 54,751,560.36บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระก็ขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 4ขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ หากไม่พอชำระก็ขอให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 4 มาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบจำเลยทั้งสี่ให้การว่า หนี้ตามฟ้องทั้งสิ้นยังไม่ถึงกำหนดชำระ จำเลยไม่เคยรับเงินจากโจทก์ รายการตามบัญชีของโจทก์ที่โจทก์อนุมัติจ่ายเงินแก่ผู้นำเช็คไปขอรับเงินจากโจทก์ไม่ถูกต้องเพราะการหักทอนบัญชีผิดพลาดหลายรายการเช็คที่นำไปเบิกเงินในบัญชีของจำเลยที่โจทก์อนุมัติจ่ายไปบางรายการเป็นเช็คปลอม โจทก์ไม่มีอำนาจจ่ายเงินตามเช็คนั้น ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์เมื่อใดคราวใด จำนวนเท่าใด นำเงินเข้าชำระหนี้โจทก์ยอดลดลงเท่าใด คิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาใด และนำเงินเข้าเพิ่มเป็นยอดหนี้ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดเท่าใด ตามระยะเวลาไหน จำนวนเท่าใดในการ์ดบัญชีเบิกเงินเกินบัญชีและลดยอดหนี้และดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคารเมื่อใด จำนวนเงินเท่าใดจำเลยไม่อาจทราบและเข้าใจได้ถูกต้อง ทั้งจำเลยไม่มีความรู้ทางบัญชีของธนาคารจึงให้การต่อสู้คดีไม่ได้ ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมจำเลยไม่เคยได้รับการบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน57,073,626.36 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน54,751,560.36 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 ให้ชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงินจำนวน1,000,000 บาท ในจำนวนหนี้ทั้งหมดของจำเลยที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ในวงเงินดังกล่าวนับแต่วันจำนองจนกว่าชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ดังกล่าวไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 4 มาขายทอดตลาดชำระหนี้ตามส่วนหนี้แต่ละคนต้องรับผิด หากไม่พอชำระหนี้โจทก์ก็ให้บังคับเอาทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 มาขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสี่ฎีกาต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้รายละเอียดต่าง ๆ ของการเบิกเกินบัญชีไปจากโจทก์ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมายเลข 33 และ 34 ท้ายฟ้อง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดของรายการต่าง ๆ ไว้โดยละเอียดแล้ว จำเลยย่อมสามารถตรวจสอบได้คำฟ้องของโจทก์จึงถือได้ว่าได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า หนี้ยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระ และจำเลยไม่เคยได้รับเงิน พิเคราะห์สัญญากู้เอกสารหมาย จ.16 ซึ่งเป็นสัญญาหลักของการกู้เงินทั้งหมดแล้วปรากฏว่า สัญญาข้อ 3 ระบุว่าผู้กู้ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญานี้ภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2525 แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนถึงกำหนดที่กล่าวมาก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควรและโดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ ผู้กู้สัญญาว่าในกรณีที่ผู้ให้กู้เรียกร้องดังกล่าวมานี้ ผู้กู้จะชำระหนี้ตามเรียกร้องทันที เห็นว่า หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดไม่สัญญามีผลผูกพันกันได้ แม้สัญญาข้อ 4 จะมีข้อกำหนดให้โจทก์เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่งทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนที่ทบเข้ากันนั้นได้และโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาดังกล่าวก็ตาม โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดตามสัญญาได้ข้อที่ว่าจำเลยมิได้รับเงินนั้น นายวิจิตรและนายอนุรักษ์ ธุวรุ่งเรือง ผู้ช่วยผู้จัดการโจทก์ เบิกความได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์สาขานครปฐม ประเภทเงินกู้โดยจำนองและเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ จำเลยที่ 1 กู้เงินรวม 3ครั้ง และได้รับเงินทั้ง 3 ครั้ง ตามเอกสารหมาย จ.30 ถึง จ.32แต่ละครั้งจะมีการบันทึกบัญชีในช่องลูกหนี้ หากจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระจะบันทึกไว้ในช่องเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระดอกเบี้ยและต้นเงินนับแต่เดือนกรกฎาคม 2524 ตลอดมา โจทก์จึงโอนหนี้ตามบัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.45 ซึ่งมียอดหนี้จำนวน 40,351,701.88บาท ไปเข้าบัญชีลิควิเดชั่น หมายถึงบัญชีที่ขาดการติดต่อและจะมอบหมายให้ดำเนินคดีต่อไปตามเอกสารหมาย จ.46 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวม 3 ครั้ง เป็นวงเงิน22,000,000 บาท ต่อมาลดลงเหลือ 12,000,000 บาท การเบิกเงินเกินบัญชีทำโดยจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คยอมให้โจทก์หักทอนค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้โดยให้รวมเข้ากับต้นเงิน เมื่อถึงสิ้นเดือนโจทก์มีบัญชีควบคุมตามเอกสารหมาย จ.47จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งสุดท้ายจำนวน14,400,258.48 บาท และโจทก์ได้โอนหนี้ดังกล่าวไปเข้าบัญชีลิควิเดชั่นเช่นเดียวกับหนี้เงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.47 แผ่นสุดท้ายจากพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญากู้และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ตามฟ้องและแม้จะฟังว่าบัญชีต่าง ๆ ฝ่ายโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นเอง ไม่ได้รับความเห็นชอบของจำเลยก็ตาม แต่ก็ไม่มีพิรุธ คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 2เบิกความลอย ๆ ว่าหนี้ดังกล่าวไม่ถูกต้อง เห็นว่า ไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานฝ่าย โจทก์ได้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามแล้วหรือไม่ โจทก์มีนายอุดมศักดิ์ ศุกรวรรณทนายโจทก์ เบิกความว่า ได้ส่งหนังสือเอกสารหมาย จ.1 บอกเลิกสัญญากู้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และบอกกล่าวบังคับจำนองทางไปรษณีย์ตอบรับลงทะเบียนให้จำเลยนำเงินชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่31 มีนาคม 2525 พยานไม่ได้รับใบตอบรับของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4โดยไม่ทราบเหตุขัดข้อง จนปลายเดือนมีนาคม 2525 พยานจึงไปทำคำร้องขอไต่สวนไปรษณีย์ตอบรับภายในประเทศเมื่อวันที่ 7 เมษายน2525 ว่าส่งหนังสือได้หรือไม่ เมื่อไร และใครเป็นผู้รับหนังสือต่อมากลางเดือนเมษายน 2525 พยานได้รับแจ้งจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยว่า หนังสือที่ส่งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4นั้นส่งได้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2525 โดยนายไล้ แซ่ตั้ง เป็นผู้รับไว้ ตามใบตอบรับและหนังสือแจ้งของนายไปรษณีย์โทรเลขเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.8 พิเคราะห์แล้วน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่4 ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์แล้วตามใบรับตอบรับนั้นเพราะเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้จัดทำขึ้นตามหน้าที่ซึ่งเชื่อได้ว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นความจริง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4นำสืบปฏิเสธมาลอย ๆ และตอบทนายโจทก์ถามค้านถึงภูมิลำเนาของตนเองก็ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้บันทึกมาในเอกสารหมาย จ.3 ถึงจ.8 และแม้ใบตอบรับเอกสารหมาย จ.3 จ.5 และ จ.7 ไม่มีลายมือชื่อผู้รับก็ตาม แต่เป็นเอกสารที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ทำภายหลังที่นายอุดมศักดิ์ได้ทำคำร้องขอไต่สวนไป การไม่มีลายมือชื่อของผู้รับในใบตอบรับจึงไม่เป็นพิรุธแต่อย่างใด เชื่อได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.1 แล้ว ในเอกสารหมาย จ.1 ได้ระบุหนี้ทั้งหมดไว้ชัดแจ้ง ซึ่งโจทก์ได้ทวงถามจำเลยที่ 2 และที่ 3ผู้ค้ำประกันกับจำเลยที่ 4 ผู้จำนองให้ชำระหนี้ทั้งหมดภายในวันที่31 มีนาคม 2525 จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ที่ 3ผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 4 ผู้จำนองแล้วการฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share