แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกนั้นกฎหมายมิได้บัญญัติบังคับว่า ผู้มีส่วนได้เสียจะต้องร้องขอเข้ามาในคดีเดิม คือในคดีที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้จะไม่มีการฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกด้วย ผู้ร้องก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีเดิมได้
ข้อคัดค้านที่ว่าผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสีย ที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดก เป็นของผู้คัดค้านซื้อมา ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำคัดค้าน ไม่เป็นประเด็นต้องวินิจฉัย แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยมาก็เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ส่วนปัญหาที่ว่าผู้คัดค้านจดทะเบียนโอนทรัพย์พิพาทเป็นของตนเองหมดแล้ว การจัดการมรดกเสร็จแล้ว แม้ผู้คัดค้านจะยกขึ้นต่อสู้ไว้ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยและผู้คัดค้านมิได้กล่าวอ้างในคำแก้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องนี้จึงไม่มีประเด็นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ปัญหาข้างต้นจึงถือมิได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรน์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
คดีร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1727 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงเท่านั้น มิใช่คดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหรือคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก จึงจะนำอายุความฟ้องคดีมรดกและคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 และ 1733 มาใช้บังคับหาได้ไม่
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนางมุกหรือมุข เชื้อนคร และเป็นน้องของนายห้อง เชื้อนคร ผู้จัดการมรดกนางมุกตามคำสั่งศาลชั้นต้น คดีหมายเลขแดงที่ ๗๕๙/๒๕๒๔ เมื่อ๒๕๒๕ และ ๒๕๒๘ นายห้องแบ่งขายที่ดินมรดกของนางมุกตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓) เลขที่ ๕๓๓ หมู่ที่ ๒ ตำบลศุขลา อำเภอศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีเนื้อที่ ๖ ไร่เศษ ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ๒ ครั้ง รวมเนื้อที่ ๑ ไร่ ๙๙ ตารางวาโดยไม่แบ่งให้แก่ทายาททั้งหมด ที่ดินที่เหลืออยู่อีกประมาณ ๔ ไร่ ก็เพิกเฉยไม่ยอมแบ่งปันแก่ทายาท กลับโอนเป็นชื่อของตนโดยลำพัง และแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินในการขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ ว่า ตนได้มาโดยรับมรดกจากนางมุก มิได้แจ้งว่าตนได้ครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้ถอนนายห้องออกเสียจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางมุกต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องชอบที่จะร้องขอถอนผู้จัดการมรดกในคดีหมายเลขแดงที่ ๗๕๙/๒๕๒๔ ของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคดีเดิม การที่ผู้ร้องร้องขอถอนผู้จัดการมรดกเป็นคดีใหม่เป็นการร้องซ้ำ ต้องห้ามตามกฎหมาย ผู้ร้องมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของนางมุก เนื่องจากผู้ร้องได้รับส่วนแบ่งมรดกของนางมุกจากที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๕๓๓ ไปตามส่วนเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ทางราชการยังไม่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นางมุก ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะได้รับที่ดินตาม น.ส.๓ เลขที่ ๕๓๓ อีก จึงไม่มีอำนาจร้องเป็นคดีนี้ ที่ดินตาม น.ส.๓เลขที่ ๕๓๓ ปรากฏชื่อผู้คัดค้านในฐานะส่วนตัวมิใช่ในฐานะผู้จัดการมรดก การจัดการมรดกได้เสร็จสิ้นไปนานแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องเกินกำหนด ๑ ปี นับแต่นางมุกถึงแก่ความตาย โดยผู้ร้องทราบเหตุการตายดีอยู่แล้ว คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๕๔ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๕๓๓ มิใช่ทรัพย์มรดกของนางมุก เชื้อนคร การที่ผู้คัดค้านจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของตนเอง และขายให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยไปโดยไม่แบ่งเงินให้ผู้ร้อง ถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ไม่มีเหตุที่จะถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดก ปัญหาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๕๓๓เป็นทรัพย์มรดกของนางมุก เชื้อนคร การที่ผู้คัดค้านจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของตนเอง และไม่แบ่งเงินที่ได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทยให้แก่ผู้ร้องและนางม่อม เอมสุรินทร์ ซึ่งเป็นทายาทถือว่าผู้คัดค้านละเลยไม่ทำหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๗๒๗ สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนางมุกเจ้ามรดกแทนผู้คัดค้าน พิพากษากลับให้ถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนางมุกเจ้ามรดก
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบไม่โต้เถียงกันคงฟังยุติได้ว่าผู้ร้อง ผู้คัดค้าน และนางม่อม เอมสุรินทร์ เป็นบุตรนางมุก เชิ้อนคร นางมุกถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๑๕ ขณะถึงแก่กรรมนางมุกมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๕๓๓ ตำบลศุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๖ ไร่๒๐ ตารางวา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกนางมุกเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๔ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนรับมรดกและจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของตนคนเดียวทั้งหมดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ ต่อมาได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม๒๕๒๘ รวมเนื้อที่ ๑ ไร่ ๙๙ ตารางวา และได้ขอรังวัดเพื่อขอออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ ๗สิงหาคม ๒๕๓๐ โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงนที่ดินว่าเป็นที่ดินที่ได้มาโดยรับมรดกจากนางมุก ผู้ร้องและนางม่อมแจ้งผู้คัดค้านให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินและแบ่งที่ดินที่ยังเหลือแก่ผู้ร้องและนางม่อมแล้ว ผู้คัดค้านปฏิเสธไม่ยอมแบ่ง ผู้ร้องจึงร้องขอให้ถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการ-มรดกนางมุกเป็นคดีนี้ คงมีปัญหาในชั้นฎีกาตามฎีกาของผู้คัดค้านเป็นประการแรกว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกเป็นคดีนี้โดยมิได้ฟ้องขอแบ่งทรัพ์มรดกด้วยได้หรือไม่ เห็นว่าการร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกนั้นกฎหมายมิได้บัญญัติบังคับว่า ผู้มีส่วนได้เสียจะต้องร้องขอเข้ามาในคดีเดิม คือในคดีที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นแม้จะไม่มีการฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกด้วยผู้ร้องก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีเดิมได้
ที่ผู้คัดค้านฎีกาต่อไปว่า ผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสีย ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๕๓๓ มิใช่ทรัพย์มรดกของนางมุก ความจริงเป็นของผู้คัดค้าน โดยนางมุกกับนางม่อมซึ่งได้รับที่ดินส่วนหนึ่งเนื้อที่ ๒ ไร่จากนางมุกได้ขายให้แก่ผู้คัดค้านตั้งแต่ก่อนที่นางมุกจะถึงแก่กรรมนั้น เห็นว่า ความข้อนี้ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำคัดค้าน จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัย แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยความข้อนี้มาก็เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่ผู้คัดค้านฎีกาอีกประการหนึ่งว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องสั่งถอนหรือตั้งผู้จัดการมรดกนางมุกอีกต่อไป เพราะผู้คัดค้านได้จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๕๓๓ เป็นของตนเองแต่ผู้เดียวทั้งหมดแล้วตั้งแต่วันที่า ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ จึงไม่มีทรัพย์มรดกอย่างใดที่จะต้องจัดการอีกต่อไป การจัดการมรดกนางมุกเสร็จแล้วนั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้แม้ผู้คัดค้านจะยกขึ้นต่อสู้ไว้แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยและผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำแก้อุทธรณ์ปัญหาเรื่องนี้จึงไม่เป็นประเด็นขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้คัดค้านจึงจะกล่าวอ้างขึ้นมาในชั้นฎีกาอีกหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้ผู้คัดค้านอีกเช่นกัน
ที่ผู้คัดค้านฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ และ ๑๗๓๓ เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องเกินกำหนด ๑ ปี นับแต่ทราบถึงความตายของเจ้ามรดก และเกินกว่า ๕ ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงนั้น เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๗บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงเท่านั้น มิใช่คดีฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดก หรือคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ดังนั้นจะนำอายุความฟ้องคดีมรดกและคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ และ ๑๗๓๓ มาใช้บังคับหาได้ไม่คดีของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความดังที่ผู้คัดค้านฎีกา
พิพากษายืน.