คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4145/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเสนอชำระหนี้ให้โจทก์ ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเป็นคดีนี้แล้วโดยหนี้ตามสัญญา เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องถึงกำหนดชำระ ตั้งแต่ก่อนฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เสนอขอชำระหนี้ ให้โจทก์ในช่วงเวลาดังกล่าว กรณีจึงมิใช่เป็นการขอ ชำระหนี้ตั้งแต่เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701 วรรคแรก จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นคดีแล้ว จะหลุดพ้นจากความรับผิด ได้ ก็แต่โดยนำเงินตามที่เห็นว่าจะต้องรับผิดต่อโจทก์มาวางศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 135,136 เท่านั้น สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า ถ้าต่อไปอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม สูงขึ้นไปอีกก็ดี หรืออัตราต่ำลงประการใด ผู้เบิกเงินเกินบัญชี ยอมรับที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่ธนาคารจะได้กำหนดขึ้นใหม่ และสัญญาค้ำประกันระบุว่าผู้ค้ำประกันยินยอม เข้าค้ำประกันผู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงินไม่เกินกว่า 100,000 บาท และอุปกรณ์แห่งหนี้อันมีดอกเบี้ย ตลอดไปจนกว่า ธนาคารจะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้จนสิ้นเชิงทุกประการ ดังนี้ แม้สัญญาค้ำประกันมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ก็ต้องถืออัตรา ดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นหนี้ประธานซึ่งกำหนดให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ค้ำประกันไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศธนาคารโจทก์ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นไปตามสัญญาและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ระบุให้จำเลยที่ 1 ส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันที่สิ้นเดือน และยอมให้เอายอดเงินดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับจำนวนเงินที่ได้เบิกเงินเกินบัญชี ไปในทันที และให้ถือจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นกลายเป็น จำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไป โจทก์ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ย จากจำเลยที่ 1ผู้กู้และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแบบทบต้นในทันที ที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนตามสัญญาเบิกเงิน เกินบัญชี จนกว่าบัญชีจะเลิกกัน และเฉพาะในจำนวนเงิน ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิด ดอกเบี้ยทบต้นได้เช่นเดียวกับที่คิดจากจำเลยที่ 1 หาใช่ สัญญาค้ำประกันมิได้ระบุเวลาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ จึงยังไม่มี วันที่จำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 5,312,691.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 3,284,772.34 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเกินวงเงินตามอำเภอใจโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นยินยอม จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เกินวงเงิน 100,000 บาท และต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีเท่านั้น สัญญาเลิกกันเมื่อถึงวันครบกำหนด โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงถึงวันที่ 1 เมษายน 2532 และจำเลยที่ 2 ได้เสนอขอชำระหนี้ในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันพร้อมค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระจำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,284,772.34 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,027,919.45 บาท ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง คงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 238 โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2531 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงิน 100,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยสำหรับยอดเงินที่อยู่ในวงเงินในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ส่วนที่เกินวงเงินให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือนหากค้างชำระให้คิดทบต้นและยอมให้โจทก์ปรับดอกเบี้ยขึ้นลงได้กำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่ 1 เมษายน 2532 ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ทุกชนิดที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์รวมกันภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท และอุปกรณ์แห่งหนี้ โดยยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 จำเลยที่ 1 เดินบัญชีสะ พัดกับโจทก์ตามการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 เมื่อสัญญาครบกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้คืนโจทก์และยังเดินบัญชีสะ พัดกันต่อไป โจทก์หักทอนบัญชีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534 สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 3,284,772.34 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.21ถึง จ.25 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว ตามหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.27 ถึง จ.30 จำเลยที่ 2 ได้เสนอขอชำระหนี้แก่โจทก์หลังถูกฟ้อง ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย ล.6 แต่โจทก์ไม่ยอมรับ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกมีว่าจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์แล้ว ได้ติดต่อขอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวงเงินสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น ๆ อีก 64,600 บาท รวมเป็นเงิน 164,600 บาทโจทก์ตกลงตามที่จำเลยที่ 2 เสนอ แต่ภายหลังกลับไม่ยอมรับชำระหนี้จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิด เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 เสนอชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2537 ตามเอกสารหมายล.6 นั้น เป็นการเสนอขอชำระหนี้ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้แล้ว โดยหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2532 จำเลยที่ 2 มิได้เสนอขอชำระหนี้ให้โจทก์ในช่วงเวลาดังกล่าวกรณีจึงมิใช่เป็นการขอชำระหนี้ตั้งแต่เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701 วรรคแรกจำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด การที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเป็นคดีแล้ว จำเลยที่ 2 จะหลุดพ้นจากความรับผิดได้ก็แต่โดยนำเงินตามที่จำเลยที่ 2 เห็นว่าจะต้องรับผิดต่อโจทก์มาวางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 135, 136 เท่านั้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการต่อไปมีว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกำหนดไว้ว่า ให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในวงเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 2 ค้ำประกันเพียงวงเงิน 100,000 บาท จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีเท่านั้น เห็นว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 3 ระบุว่า ถ้าต่อไปอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นไปอีกก็ดีหรืออัตราต่ำลงประการใด ผู้เบิกเงินเกินบัญชียอมรับที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่ธนาคารจะได้กำหนดขึ้นใหม่ และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 1 ระบุว่าผู้ค้ำประกันยินยอมเข้าค้ำประกัน ภายในวงเงินไม่เกินกว่า 100,000 บาท และอุปกรณ์แห่งหนี้อันมีดอกเบี้ย ตลอดไปจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้จนสิ้นเชิงทุกประการ แม้สัญญาค้ำประกันมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ก็ต้องถืออัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นหนี้ประธานซึ่งกำหนดให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปี เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.22 และประกาศธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.23 อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นไปตามสัญญาและชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ฎีกาว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เริ่มผิดนัดชำระหนี้จำเลยที่ 2 ก็ควรมีความรับผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 เมื่อวงเงินความรับผิดของจำเลยที่ 2 มีเพียง 100,000 บาท ฉะนั้น ตามบัญชีของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีเกินกว่า 100,000 บาท ในวันที่ 5 เมษายน 2533 จำเลยที่ 2 จึงควรรับผิดในดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่6 เมษายน 2533 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เอกสารหมาย จ.7 ระบุให้จำเลยที่ 1 ส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันที่สิ้นเดือน และยอมให้เอายอดเงินดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับจำนวนเงินที่ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปในทันทีและให้ถือจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นกลายเป็นจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไป ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองแบบทบต้นในทันทีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จนกว่าบัญชีจะเบิกกันซึ่งโจทก์คิดดอกเบี้ยเช่นนี้จากจำเลยที่ 1 ตลอดมาและเฉพาะในจำนวนเงิน 100,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้เช่นเดียวกับที่คิดจากจำเลยที่ 1 หาใช่สัญญาค้ำประกันมิได้ระบุเวลาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ จึงยังไม่มีวันที่จำเลยที่ 2 ผิดนัดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แบบไม่ทบต้นเพียงตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2533 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปเกินกว่า 100,000 บาท โจทก์ไม่อุทธรณ์และโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงไม่จำต้องกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นอย่างอื่นเกินไปกว่าที่โจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ 2 รับผิดในดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2533
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share