แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 หลังจากที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินซึ่งจะต้องชำระภาษีอากรตามฟ้องเพียง 9 วัน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 ควรจะต้องรู้ว่าการขายที่ดินดังกล่าวเป็นการขายเพื่อการค้าหรือหากำไร เพราะจำเลยที่ 1ซื้อที่ดินทั้งหมดมาในราคาประมาณ 7,000,000 บาท แต่ขายต่อไปในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เป็นเงินถึง 124 ล้านบาทเศษ ซึ่งการขายในลักษณะดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากการขายที่ดินดังกล่าวในวันที่ 5 กันยายน 2538แล้วก็ได้มีการแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 และหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็รีบไปจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ในวันที่ 20 กันยายน 2538 และไปจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 กรณีจึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2ได้รู้ว่าในการขายที่ดินดังกล่าว บริษัทจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี และบริษัทจำเลยที่ 1 จึงได้ร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 1 รีบจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชำระบัญชีของจำเลยที่ 2 ยังปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ยังมีเงินสดเหลืออยู่อีกจำนวน 1,480,108.75บาท การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้แบ่งเงินที่เหลือดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนเฉลี่ยตามสัดส่วนของการถือหุ้น จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ.มาตรา 1269เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินที่เหลือจำนวน 1,480,108.75 บาท ไปชำระหนี้ภาษีตามฟ้องให้แก่กรมสรรพากรโจทก์ก่อน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีในวงเงินไม่เกิน1,480,108.75 บาท
ย่อยาว
โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน๑๓,๕๔๕,๗๙๘.๗๕ บาท แก่โจทก์ พร้อมเงินเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ๑.๕ ต่อเดือน จากต้นเงิน ๓,๗๓๑,๖๒๕ บาท แต่ไม่เกินเงินต้นนับแต่วันที่ ๑๖มิถุนายน ๒๕๔๐ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ ๑โดยจำเลยที่ ๒ เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ในฐานะผู้ชำระบัญชีชำระเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน ๓,๗๓๑,๖๒๕ บาท เบี้ยปรับจำนวน ๗,๔๖๓,๒๕๐ บาท เงินเพิ่มจำนวน ๑,๑๑๙,๔๘๗.๕๐ บาท ภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน ๑,๒๓๑,๔๓๖.๒๕ บาท รวมเป็นเงิน ๑๓,๕๔๕,๗๙๘.๗๕ บาท และชำระเงินเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน ๓,๗๓๑,๖๒๕ บาท นับแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๐เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้เมื่อรวมกับเงินเพิ่มจำนวน ๑,๑๑๙,๔๘๗.๕๐ บาท แล้วต้องไม่เกินจำนวน ๓,๗๓๑,๖๒๕ บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คัดค้านว่า เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๖๑๘ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ในราคา ๔๓๘,๐๐๐ บาท จากนายไพบูลย์ จิรนันทศักดิ์ และซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๐๕, ๓๘๘๖๕, ๔๐๙๗๔, ๔๑๒๔๐ และ ๕๗๑๔๙ ตำบลพันท้ายนรสิงห์อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร รวม ๕ แปลง ในราคา ๖,๕๖๒,๐๐๐ บาทจากนางวิภา จิรนันทศักดิ์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ได้ขายที่ดินทั้ง ๖ แปลงดังกล่าวให้แก่บริษัททรัพย์สิริมงคล จำกัด ในราคา ๑๒๔,๓๘๗,๕๐๐ บาทและในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ชำระบัญชี และในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี หลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลไปยังจำเลยที่ ๑ โดยแจ้งให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ชำระบัญชีทราบเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๒มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๒จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ชำระค่าภาษีอากรตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๒ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๘ หลังจากที่จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินซึ่งจะต้องชำระภาษีอากรตามฟ้องเพียง ๙ วัน จำเลยที่ ๒ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ ๑ ควรจะต้องรู้ว่าการขายที่ดินดังกล่าวเป็นการขายเพื่อการค้าหรือหากำไร เพราะจำเลยที่ ๑ ซื้อที่ดินทั้งหมดมาในราคาประมาณ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ขายต่อไปในระยะเวลาประมาณ ๖ เดือน เป็นเงินถึง ๑๒๔ล้านบาทเศษ ซึ่งการขายในลักษณะดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ ๑ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ ภายหลังจากการขายที่ดินดังกล่าวในวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๘ แล้วก็ได้มีการแต่งตั้งจำเลยที่ ๒เป็นผู้ชำระบัญชีเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๘ และหลังจากนั้นจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ ๑ ก็รีบไปจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ ๑ ในวันที่๒๐ กันยายน ๒๕๓๘ และไปจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ ๑เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๘ กรณีจึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ได้รู้ว่าในการขายที่ดินดังกล่าวนี้ บริษัทจำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ชำระบัญชี และบริษัทจำเลยที่ ๑จึงได้ร่วมกับบริษัทจำเลยที่ ๑ รีบจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ ๑ และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชำระบัญชีของจำเลยที่ ๒ ยังปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ ๑ ยังมีเงินสดเหลืออยู่อีกจำนวน ๑,๔๘๐,๑๐๘.๗๕ บาท การที่จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้แบ่งเงินที่เหลือดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนเฉลี่ยตามสัดส่วนของการถือหุ้น จึงเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๒๖๙ ซึ่งบัญญัติว่า “อันทรัพย์สินของ… บริษัทนั้นจะแบ่งคืนให้แก่… ผู้ถือหุ้นได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของ… บริษัทเท่านั้น” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่นำเงินที่เหลือจำนวน ๑,๔๘๐,๑๐๘.๗๕ บาท ไปชำระหนี้ภาษีตามฟ้องให้แก่โจทก์ก่อน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ ๑นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีในวงเงินไม่เกิน ๑,๔๘๐,๑๐๘.๗๕ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ในวงเงินไม่เกิน ๑,๔๘๐,๑๐๘.๗๕ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.