แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยื่นขอให้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาหรือ อนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 จะต้องยื่นภายในกำหนดอายุฎีกา ในชั้นฎีกา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงดังเช่นในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งและกรณีเกี่ยวกับบุคคลผู้มีอำนาจรับรองหรืออนุญาตให้ฎีกานี้มาตรา 248 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า มีบุคคลใดบ้าง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยผู้มีอำนาจ อนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงคืออธิบดีผู้พิพากษาภาค มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ คำว่า ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 หมายถึงผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคและอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ด้วย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ. 2532 มาตรา 8 ในกรณีผู้ฎีกาขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาครับรองหรือ อนุญาตให้ฎีกาหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของ จำเลยแล้ว ในชั้นฎีกาไม่มีบทบัญญัติโดยตรงในเรื่องนี้กรณีจึงต้องนำมาตรา 230 วรรคสาม มาใช้บังคับโดย อนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 247 กล่าวคือ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา ผู้ฎีกาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นถึง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคภายใน 7 วัน เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ศาลชั้นต้นต้องส่งคำร้องนั้นพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค เพื่อมีคำสั่ง ยืนตามหรือกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งก็คือการไม่อนุญาต หรืออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั่นเอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาวันที่ 13 พฤษภาคม 2541แต่จำเลยทราบคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2541 และยื่นคำร้องขอให้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคอนุญาตให้ฎีกาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 ต้องถือว่าเป็นการยื่นภายในกำหนดเวลา ศาลชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป เสียก่อนมีคำสั่งไม่รับฎีกา การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งประการใดในคำร้อง ของ จำเลยทั้งสองและมิได้ ส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมสำนวนคดีนี้ไปยังอธิบดีผู้พิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาคพิจารณาและมีคำสั่ง จึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า นิติกรรมการจดทะเบียนยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 19159 ตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2537 เป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 2ไปจดทะเบียนเพิกถอน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและให้จำเลยที่ 2 คืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2541 พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3ไม่รับรอง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง
ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2541 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา และเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้อง 2 ฉบับฉบับแรกมีข้อความว่า จำเลยทั้งสองประสงค์ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 รับรองฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องและสำนวนคดีนี้ไปให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 พิจารณาส่วนฉบับที่ 2 มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองประสงค์ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องฉบับแรกว่า “ตามคำร้องไม่ปรากฏว่าอธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 เกี่ยวข้องกับการขอให้รับรองฎีกาในข้อเท็จจริงได้อย่างไร จึงให้ยกคำร้องค่าคำร้องเป็นพับ” ส่วนคำร้องฉบับหลังศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งประการใด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ศาลชั้นต้นต้องส่งคำร้อง ของจำเลยทั้งสองที่ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงพร้อมสำนวนคดีนี้ไปให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นฎีกาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ดังเช่นในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และกรณีเกี่ยวกับบุคคลผู้มีอำนาจรับรองหรืออนุญาตให้ฎีกานี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่ามีบุคคลใดบ้าง ไม่จำต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยผู้มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงมาใช้บังคับโดยอนุโลมดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่าศาลชั้นต้นต้องส่งคำร้อง ของ จำเลยทั้งสองที่ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงพร้อมสำนวนคดีนี้ไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้มีใจความว่า คดีที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ถ้าไม่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ ผู้ฎีกาอาจขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ถ้าไม่มีคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คำว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในมาตรานี้หมายถึงผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคและอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ. 2532 มาตรา 8 ซึ่งการยื่นขอให้รับรองหรืออนุญาตตามมาตรานี้จะต้องยื่นภายในกำหนดอายุฎีกาแต่ในกรณีของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองหรืออนุญาตให้ฎีกาหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองแล้วซึ่งในชั้นฎีกาไม่มีบทบัญญัติโดยตรงในเรื่องนี้อย่างเช่นในชั้นอุทธรณ์ที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 230 วรรคสาม จึงต้องนำมาตรา 230 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 247 กล่าวคือ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาผู้ฎีกาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ภายใน 7 วัน เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ศาลชั้นต้นต้องส่งคำร้องนั้นพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อมีคำสั่งยืนตามหรือกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ซึ่งก็คือการไม่อนุญาตหรืออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั่นเองคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา วันที่ 13 พฤษภาคม 2541 แต่จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2541และยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 ต้องถือว่าเป็นการยื่นภายในกำหนดเวลาศาลชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งต่อไปการที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งประการใดในคำร้องของจำเลยทั้งสองและมิได้ส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมสำนวนคดีนี้ไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและมีคำสั่งจึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้อง ของ จำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2541 ที่ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกา พร้อมสำนวนคดีนี้ไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและมีคำสั่งนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น