แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 และจำเลยที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจ การจ้างการก่อสร้างบ้านพักครู 1 หลัง มีหน้าที่ตรวจและควบคุมการจ้างให้ดำเนินไปตามข้อกำหนดในสัญญา แบบแปลนและแผนผัง เมื่อตรวจ เห็นเป็นการถูกต้องแล้ว ให้รับมอบงานแล้วรายงานต่อผู้มีอำนาจสั่งจ้างทราบพร้อมด้วยหลักฐาน การที่จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 และจำเลยที่ 6 ได้ทำหลักฐานใบตรวจรับงานจ้างเหมาแจ้งว่าจำเลยที่ 7 ได้ ก่อสร้างบ้านพักครูแล้วเสร็จตาม สัญญาจ้าง ทั้ง ๆ ที่เป็นความเท็จโดยงานยังไม่แล้วเสร็จ เป็นการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162(4) และเป็นเหตุให้มีการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้จำเลยที่ 7 รับไป จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับความเสียหายมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๑๕๗, ๑๖๒, ๓๔๑, ๘๓, ๘๖, ๙๐, ๙๑
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๒, ๓๔๑, ๘๖, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุกคนละ ๑ ปี จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ให้จำคุกอีกคนละ ๑ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ คนละ ๒ ปี ส่วนจำเลยที่ ๗ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๒, ๘๖, ๓๔๑, ๙๑ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗, ๘๖ ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยที่ ๗ กระทำผิด ๖ กรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ ให้จำคุกกระทงละ ๘ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๗ ไว้ ๑ ปี ๔ เดือน
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมาเพียงใดหรือไม่นั้น เห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรได้มีคำสั่งที่ ๕๘๐/๒๕๑๙ หมาย จ.๕ แต่งตั้งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ และครูใหญ่โรงเรียนบ้านลานตาบัวเป็นกรรมการตรวจการจ้างในการก่อสร้างบ้านพักครูโรงเรียนบ้านลานตาบัว ๑ หลัง ในวงเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท ต่อมาเมื่อครูใหญ่โรงเรียนบ้านลานตาบัวถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๖ ซึ่งปฏิบัติราชการแทนครูใหญ่โรงเรียนบ้านลานตาบัวจึงเข้าเป็นกรรมการแทนครูใหญ่คนเดิมโดยตำแหน่ง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ้างของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๑๘ หมาย จ.๖ ได้ระบุหน้าที่กรรมการตรวจการจ้างได้ ๕ ประการ เช่นตรวจสัญชาติและจำนวนกรรมการคนไทยที่ใช้ในการจ้าง ตรวจและควบคุมการจ้างให้ดำเนินไปตามข้อกำหนดในสัญญาแบบแปลน แผนผัง ตรวจและทำใบรับรองผลการปฏบัติของผู้รับจ้างสำหรับการจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนตามแบบหมายเลข ๑ ท้ายระเบียบนี้ เมื่อตรวจเห็นเป็นการถูกต้องแล้วให้รับมอบของหรืองาน แล้วรายงานต่อผู้มีอำนาจสั่งจ้างทราบพร้อมด้วยหลักฐาน ฯลฯ การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ทำหลักฐานใบตรวจรับงานจ้างเหมาหมาย จ.๙ และ จ.๑๕ แจ้งว่าจำเลยที่ ๗ ได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างโดยก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาทั้งสองงวด และจำเลยที่ ๖ ได้ทำหลักฐานใบตรวจรับงานจ้างเหมาหมาย จ.๑๕ ว่าจำเลยที่ ๗ ก่อสร้างแล้วเสร็จในงวดที่สองแล้ว ทั้ง ๆ ที่เป็นความเท็จนั้น เป็นการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ (๔) ดังที่โจทก์ฟ้อง การทำหลักฐานดังกล่าวเป็นเหตุให้มีการเบิกจ่ายเงินให้จำเลยที่ ๗ รับไป ๘๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ และที่ ๖ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจึงปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้รับความเสียหายต้องสูญเสียเงินจำนวนดังกล่าวไป จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ และที่ ๖ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ด้วย สำหรับจำเลยที่ ๕ และจำเลยที่ ๗ นั้น มิใช่เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยอื่นกระทำผิดดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ ๕ กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามฟ้องของโจทก์ปรากฏชัดว่าจำเลยที่ ๕ ไม่ใช่เจ้าพนักงาน ทั้งโจทก์ก็ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๕ ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดของเจ้าพนักงานเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๗ เท่านั้น สำหรับจำเลยที่ ๗ นั้นได้รับเงินค่าก่อสร้างทั้งสองงวดเนื่องจากตนทำใบแจ้งหนี้เท็จ ๒ ครั้ง โดยจำเลยอื่น ๆ สนับสนุน จำเลยที่ ๗ จึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ อีกบทหนึ่งด้วย ส่วนจำเลยอื่น ๆ นั้นมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ ๗ ในความผิดฐานฉ้อโกง จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ประกอบมาตรา ๘๖ อีกบทหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน ข้อนำสืบของจำเลยทั้งเจ็ดไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานเอกสารของโจทก์ซึ่งบ่งชี้ขัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยได้ ที่จำเลยทุกคนนำสืบทำนองว่าจำเลยกระทำการตามที่โจทก์ฟ้องโดยนายอำเภอพรานกระต่ายรู้เห็นและสนับสนุนให้ทำนั้นหาเป็นข้อแก้ตัวที่จะจำให้จำเลยทุกคนพ้นผิดไปได้ไม่ เพราะแม้หากนายอำเภอพรานกระต่ายจะมีคำสั่งให้จำเลยกระทำในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนั้นสำหรับบันทึกข้อความหมาย ล.๒ ที่จำเลยที่ ๗ ทำขึ้นเองและจำเลยส่งอ้างนั้นระบุชัดว่าจำเลยที่ ๗ ได้รับเงินค่าก่อสร้างไปครบถ้วนจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ บาท สำหรับค่าก่อสร้างบ้านพักรายพิพาทกับรายอื่นอีก ๑ หลัง ขัดกับคำเบิกความของจำเลยที่ ๗ ที่ว่า จำเลยที่ ๗ ได้รับเงินเพียงงวดเดียวเป็นเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท ที่จำเลยที่ ๗ อ้างว่าไม่ได้ทำใบแจ้งหนี้หมาย จ.๘ นั้นก็รับฟังไม่ได้ เพราะปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า จำเลยที่ ๗ ได้รับเงินตามใบแจ้งหนี้ดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ และจำเลยที่ ๖ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๒ (๔) และมาตรา ๓๔๑ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำเลยที่ ๖ กระทำผิดตามบทมาตราดังกล่าวเพียงกรรมเดียวให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ กระทำผิดตามบทมาตราดังกล่าว ๒ กรรม จำคุกกระทงละ ๑ ปี รวม ๒ กระทง คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ คนละ ๒ ปี จำเลยที่ ๕ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๒ (๔), ๓๔๑ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ อันเป็นบทหนักจำเลยที่ ๔ กระทำผิดตามบทมาตราดังกล่าวรวม ๓ กระทง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ ๘ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๕ มีกำหนด ๑ ปี ๔ เดือน จำเลยที่ ๗ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๒ (๔) ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ อีกบทหนึ่งด้วย ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ อันเป็นบทหนัก จำเลยที่ ๗ กระทำผิดตามบทมาตราดังกล่าว ๒ กระทง ให้จำคุกกระทงละ ๘ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๗ มีกำหนด ๑ ปี ๔ เดือน ข้อหาอื่นตามฟ้องให้ยก.