แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้อาวุธปืน แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ดังฟ้อง แต่โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 โดยมิได้อ้างมาตรา 140 จึงลงโทษตามมาตรา 140 ไม่ได้ เพราะโทษตามมาตรา 140 สูงกว่ามาตรา 138ย่อมเป็นการเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138,289 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 พ.ศ. 2519ข้อ 4 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง มาตรา 289(2) ประกอบด้วยมาตรา 80 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41พ.ศ. 2519 ข้อ 4 เป็นความผิดกรรมเดียวให้ลงโทษตามมาตรา 289(2)ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2) ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุก 2 ปีโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาที่ว่า ตามฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 แต่มิได้อ้างมาตรา 140ศาลจะลงโทษตามมาตรา 140 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยต่อสู้ขัดขวางโดยใช้อาวุธปืน ศาลก็จะลงโทษตามมาตรา 140 ไม่ได้ เพราะโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140มีโทษสูงกว่ามาตรา 138 จึงเป็นการเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก”
พิพากษายืน