คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการให้แบ่งมรดกตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลย การที่จำเลยบอกโจทก์ว่าตามศาสนาอิสลามโจทก์เป็นหญิงไม่มีสิทธิรับมรดก แต่จะแบ่งให้บ้างถ้าโจทก์ลงชื่อตั้งอนุญาโตตุลาการ มิฉะนั้นโจทก์จะอยู่ในบ้านที่เป็นมรดกไม่ได้ ดังนี้ หาเป็นการข่มขู่หลอกลวงให้ร่วมลงชื่อในสัญญาดังกล่าว นี้ไม่โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เมื่อโจทก์บอกเลิกการตั้งอนุญาโตตุลาการไปยังคณะอนุญาโตตุลาการ จำเลยมิได้ยินยอมด้วยจึงไม่มีผล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางผลเป็นป้าของโจทก์ได้ถึงแก่กรรมโดยไม่มีบุตรบิดามารดาและสามีถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว มีทรัพย์สินเป็นมรดกและมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายสวงซึ่งบิดาได้รับรองแล้วนายสวงเป็นน้องร่วมบิดามารดาของนางผล นายสวงถึงแก่กรรมไปก่อนนางผล โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกของนางผลแทนที่นายสวงแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นบุตรของนายลีน้องชายบิดาของนางผลพร้อมกับพวกซึ่งรู้ดีอยู่แล้วว่าจำเลยทั้ง 8 คนไม่มีสิทธิรับมรดกของนางผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้ร่วมกันหลอกลวงข่มขู่ให้โจทก์ลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยทั้งแปดแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อแบ่งมรดกของนางผลตามกฎหมายอิสลาม โจทก์ถือว่าการที่โจทก์แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการโดยถูกหลอกลวงข่มขู่นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงบอกล้างการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นหนังสือไปยังอนุญาโตตุลาการแต่ละคน ต่อมาเมื่อผู้จัดการมรดกประชุมหารือกันเรื่องจัดการมรดก จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยืนยันให้จัดการแบ่งมรดกตามรายงานของคณะอนุญาโตตุลาการ คือแบ่งเป็น 9 ส่วน โจทก์จำเลยได้คนละ 1 ส่วนเท่ากัน ซึ่งการพิจารณาแบ่งมรดกของอนุญาโตตุลาการหามีผลไม่ เพราะโจทก์ได้บอกล้างการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแล้ว โจทก์เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแต่เพียงผู้เดียวจำเลยทั้งแปดไม่มีสิทธิได้รับมรดก ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายผลแต่เพียงผู้เดียว กับพิพากษาว่าหนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไม่มีผลใช้บังคับ

จำเลยทั้งแปดให้การว่า จำเลยทุกคนเป็นทายาทของนางผล โจทก์จำเลยและเจ้ามรดกเป็นคนไทยนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อนางผลถึงแก่กรรมโจทก์จำเลยและผู้เกี่ยวข้องคนอื่น ๆ ต่างอ้างสิทธิเป็นทายาท ในที่สุดโจทก์จำเลยและผู้เกี่ยวข้องได้ตกลงตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามว่าใครเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดก เพื่อระงับข้อพิพาททุกคนตกลงยอมรับและปฏิบัติตามคำชี้ขาด โจทก์จำเลยและผู้เกี่ยวข้องได้ลงนามในหนังสือตั้งอนุญาโตตุลาการด้วยความสมัครใจไม่มีการข่มขู่หลอกลวงแต่อย่างใด อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ตกลงแบ่งให้โจทก์และจำเลยที่ 8 คนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายมีผลผูกพันโจทก์จำเลย โจทก์จะบอกเลิกล้างเพิกถอนการตั้งอนุญาโตตุลาการไม่ได้ เพราะจำเลยหาได้ยินยอมด้วยไม่ โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ……………..ที่โจทก์อ้างว่า ถูกจำเลยหลอกลวงข่มขู่นั้น โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนพูดกับโจทก์ที่หลังบ้าน คนอื่นไม่ได้ยิน และได้เบิกความตอบทนายโจทก์ไว้ว่า จำเลยทุกคนบอกโจทก์ว่าจำเลยเป็นบุตรของนายลีอาของนางผล ตามศาสนาอิสลามจำเลยมีสิทธิได้รับมรดกของนางผลทั้งหมด โจทก์เป็นผู้หญิง ไม่มีสิทธิในมรดกของนางผล แต่จำเลยเห็นว่า โจทก์เป็นหลานของนางผล ก็จะแบ่งมรดกของนางผลให้บ้าง แต่โจทก์ต้องลงชื่อร่วมกับจำเลยแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อแบ่งมรดก ถ้าโจทก์ไม่ยอมลงชื่อแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการร่วมกับจำเลย จำเลยจะไม่แบ่งมรดกให้และโจทก์จะอยู่ในบ้านของนางผลไม่ได้ ถ้อยคำดังกล่าวนี้ หากจะฟังว่าจำเลยกล่าวแก่โจทก์จริง ก็เป็นการเกลี้ยกล่อมให้โจทก์ตกลงตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อแบ่งมรดกตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม จำเลยไม่ได้หลอกลวงว่าการแบ่งมรดกตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามนั้น โจทก์จะได้รับประโยชน์มาก แต่กลับบอกให้โจทก์รู้เสียด้วยว่าโจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย โจทก์จะได้รับส่วนแบ่งบ้างก็ต้องอาศัยความกรุณาของฝ่ายจำเลย โดยต้องร่วมลงชื่อตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นการแลกเปลี่ยน ส่วนการที่จำเลยกล่าวว่าโจทก์จะอยู่ในบ้านของนางผลไม่ได้นั้น ก็ไม่เป็นการข่มขู่ที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ เพราะเท่ากับว่าถ้าโจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกเลยแล้ว ก็จะอยู่ในบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกต่อไปไม่ได้ เมื่อโจทก์เป็นหลานของเจ้ามรดกอยู่ด้วยกันตลอดมา ไฉนจะยอมกลัวคำขู่เช่นนี้ โดยไม่สอบถามหารือผู้ใดก่อนว่าใครจะมีสิทธิรับมรดกกันบ้าง……………. ตามพฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่า เจ้ามรดกเป็นอิสลามศาสนิก โจทก์จำเลยก็เป็นอิสลามศาสนิกซึ่งอยู่ในแวดวงของผู้ร่วมศาสนา ย่อมพอใจที่จะให้ผู้มีความรู้ทางศาสนาอิสลามจัดการแบ่งมรดกรายนี้ตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ครั้นต่อมาภายหลังโจทก์มาทราบว่าถ้าแบ่งมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วโจทก์จะได้รับมรดกแต่ผู้เดียว โจทก์จึงต้องการเพิกถอนข้อตกลงร่วมกันที่จะให้แบ่งมรดกตามบทบัญญัติของกฎหมายอิสลามนั้นเสีย กรณีเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจโจทก์อยู่ แต่ตามข้อเท็จจริงก็ไม่อาจฟังว่าโจทก์ได้ลงลายมือชื่อร่วมตกลงตั้งอนุญาโตตุลาการไปเพราะถูกข่มขู่หรือหลอกลวง หากแต่เป็นความบกพร่องของโจทก์เองที่ด่วนตกลงกับจำเลยไปโดยไม่ไต่ถามให้รู้ชัดถึงทางได้ทางเสียให้ดีเสียก่อน

หนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการระบุชื่อโจทก์กับจำเลยทั้งแปดว่าเป็นทายาทตามกฎหมายและตามศาสนาอิสลาม ขอแต่งตั้งให้บุคคลดังที่ได้ระบุชื่อไว้ 3 คนเป็นอนุญาโตตุลาการจัดการแบ่งมรดกของนางผลผู้ตายตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม โดยผู้แต่งตั้งทุกคนยอมให้ถือว่ามีผลบังคับทั้งในทางศาสนาอิสลามและกฎหมาย ตอนท้ายผู้ที่ร่วมกันแต่งตั้งทั้ง 9 คนได้ลงลายมือชื่อไว้ โดยลงฐานะว่า “ผู้ให้ความยินยอมตามสัญญา”แล้วมีผู้ลงลายมือชื่อต่อไปเป็นพยาน หนังสือนี้นอกจากเป็นหลักฐานสำหรับอนุญาโตตุลาการใช้อ้างอิงแล้ว ยังเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วยในตัว โจทก์กับจำเลยเป็นคู่สัญญาของสัญญาประนีประนอมยอมความ การบอกเลิกสัญญาหรือบอกล้างโมฆียกรรมโจทก์จะต้องแสดงเจตนาต่อจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญา โจทก์อ้างว่าได้ร่วมลงลายมือชื่อแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการให้แบ่งมรดกตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามเพราะถูกจำเลยข่มขู่หลอกลวง แต่เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ถูกข่มขู่หลอกลวง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่โจทก์บอกเลิกการตั้งอนุญาโตตุลาการไปยังคณะอนุญาโตตุลาการโดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วยนั้นจึงไม่มีผล

พิพากษายืน

Share