คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4302/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถ ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมีพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542 มาตรา 6ให้ยกเลิกความในมาตรา 127 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2535 และให้เพิ่มความในวรรคสองของมาตรา 127 ทวิ ว่า “ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 102(3 ทวิ)หรือ (3 ตรี) ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แล้วแต่กรณี แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแล้วแต่กรณี อีกหนึ่งในสาม” จึงต้องลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสองซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2542 เวลากลางวันในขณะที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุก จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8,57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ),127 ทวิ

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นบทกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถ จะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง แต่ตามฎีกาของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านได้ความว่า จำเลยประกอบอาชีพทำสวนและรับจ้างขับรถยนต์เป็นบางครั้ง โดยรถยนต์ที่จำเลยใช้ขับรับจ้างเป็นเพียงรถยนต์กระบะมิใช่รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่หรือรถยนต์โดยสาร ดังนี้ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นโดยปกติย่อมน้อยกว่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยเพื่อให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษจำคุกไว้ แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ จึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยด้วย

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้มีพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542 มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 127 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 และให้เพิ่มความในวรรคสองของมาตรา 127 ทวิ ว่า “ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 102(3 ทวิ) หรือ (3 ตรี) ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแล้วแต่กรณี แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแล้วแต่กรณี อีกหนึ่งในสาม” ดังนี้ จึงต้องลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง โดยให้ลงโทษปรับจำเลย50,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้วคงปรับ 25,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปีและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีกกับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share