แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ หรือจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น แม้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 จะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายต่างฉบับกันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างในการได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายจ้างเช่นเดียวกันสำหรับกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือศาลแรงงานไม่เห็นสมควรให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานอีก
การที่โจทก์นำสาเหตุจากการที่จำเลยเลิกจ้าง ไปยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์และต่อมาโจทก์ได้นำเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวไปฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน อีกจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งชำระเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วโจทก์กับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระเงิน 147,820 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ตกลงรับเงินดังกล่าวและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายและเงินอื่นใดจากจำเลยอีกศาลแรงงานมีคำพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมหมายความว่าโจทก์พอใจจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยชำระตอบแทนในการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว ซึ่งรวมทั้งโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์ด้วย แม้ภายหลังจากที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันแล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ก็ตาม
เมื่อค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลแรงงาน ต่างมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างของจำเลยเดียวกัน ค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของข้อความว่าค่าเสียหายและเงินอื่นใดที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลย ที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง ค่าเสียหายที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระแก่โจทก์ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไปก่อนแล้วโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโจทก์จึงไม่อาจนำมาฟ้องให้จำเลยรับผิดได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 408,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางในข้อหาเดียวกันกับที่ได้ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างจำนวน81,600 บาท พร้อมดอกเบี้ย และวันที่ 7 สิงหาคม 2541
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 19,040 บาทค่าชดเชยจำนวน 169,890 บาท และค่าเสียหายกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องในคดีที่ขอให้จำเลยชำระค่าจ้าง และในวันที่ 13 ตุลาคม 2541 โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2541ตามคดีหมายเลขแดงที่ 17146/2541 ของศาลแรงงานกลาง โดยโจทก์ตกลงรับเฉพาะค่าชดเชย ส่วนค่าเสียหายและเงินอื่นใด โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยอีก ซึ่งศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับรวมไปถึงคำร้องที่โจทก์ยื่นกล่าวหาและเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ด้วย คำร้องดังกล่าวย่อมเป็นอันยกเลิกสิ้นผลไป แม้ต่อมาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งที่ 921/2541 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2541 ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 408,000 บาท โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อีกขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำในศาลแรงงานกลางมีความหมายรวมถึงไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ด้วย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 40,800 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ไปทำคำร้องต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 เพื่อเรียกร้องค่าจ้าง โจทก์จึงยื่นคำร้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าจำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรมระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กล่าวคือ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2541 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมรวมเป็นเงิน 688,930 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ต่อมาในวันที่ 13 ตุลาคม 2541 โจทก์กับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2541 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 17146/2541 ของศาลแรงงานกลาง โดยโจทก์ตกลงรับค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงิน 149,820 บาท ส่วนค่าเสียหายและเงินอื่นใดโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยอีก หลังจากศาลแรงงานกลางพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน408,000 บาท แก่โจทก์ ตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 921/2541 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2541 โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 921/2541ได้อีกหรือไม่ เห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ หรือจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น แม้บทบัญญัติของกฎหมายคือพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 จะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้แตกต่างกัน และเป็นกฎหมายต่างฉบับกันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างในการได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายจ้างเช่นเดียวกันสำหรับกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือศาลแรงงานกลางไม่เห็นสมควรให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานอีก ฉะนั้น การที่โจทก์นำสาเหตุจากการที่จำเลยเลิกจ้างเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 ไปยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท และต่อมาโจทก์ได้นำเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวไปฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมทั้งชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามคดีหมายเลขดำที่ 13928/2541 คดีในศาลแรงงานกลางดังกล่าวโจทก์กับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระเงิน 147,820 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ตกลงรับเงินดังกล่าวและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายและเงินอื่นใดจากจำเลยอีกศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ 17146/2541ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมหมายความว่า โจทก์พอใจจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยชำระตอบแทนในการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541แล้ว ซึ่งรวมทั้งโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์ด้วย แม้ภายหลังจากที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันแล้วคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 408,000 บาทแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลแรงงานกลางก็มาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างของจำเลยในวันที่ 17 กรกฎาคม2541 เช่นเดียวกัน จึงเห็นได้ว่า ค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของข้อความว่า ค่าเสียหายและเงินอื่นใดที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง ดังนั้น ค่าเสียหายที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระแก่โจทก์ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไปก่อนแล้วโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจนำมาฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นคดีนี้
พิพากษายืน