คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1414/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ระบุถึง อ.มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเป็นคดีนี้เท่านั้นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้ามาในคดีเดียวกันและหนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 แทนโจทก์ด้วยก็ตาม ก็หามีผลทำให้การมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของโจทก์ที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไปไม่ ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลจะต้องพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์เป็นหลักว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นหลักว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นและคำขอบังคับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง แล้วหรือไม่ หาใช่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ ส่วนปัญหาว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่อ้างในคำฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้สมกับที่อ้างในคำฟ้องหรือไม่เพื่อวินิจฉัยข้อแพ้ชนะในประเด็นข้อพิพาทนั้นต่อไป ในประเด็นที่ว่าสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางและเป็นการโอนสิทธิโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และไม่มีค่าตอบแทนจึงตกเป็นโมฆะเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอุทธรณ์หรือไม่นั้น ปัญหาดังกล่าวศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและจำเลยที่ 1 ก็มิได้คัดค้านโดยให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจในประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์มาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ส่วนข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท ดังนี้ข้อที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้ว ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทโดยฉ้อฉลโจทก์หรือไม่นั้น ย่อมรวมถึงประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่อยู่ในตัว เพราะก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ได้นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่อันเป็นประเด็นที่ปรากฏอยู่ในคำฟ้องและคำให้การจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเสียก่อน หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์แล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีแล้วนั่นเอง การที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อคดีมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่รวมอยู่ด้วยแล้ว และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นเพียงความเข้าใจผิดของโจทก์ที่เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เท่านั้น คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพียงใด และแม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบ ถึงค่าเสียหายได้ตามจำนวนที่ปรากฏในคำฟ้อง แต่ศาลก็มีอำนาจ กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่เห็นสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายอุดมเดช ชาญชัยศึกฟ้องคดีแทน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1188, 1189, 1190, 1364, 28554 และ29859 ตำบลลาดบัวขาว (คลองสอง) อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานครรวม 6 แปลง เนื้อที่ 217 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา จากจำเลยที่ 2ในราคาไร่ละ 650,000 บาท เป็นเงิน 141,495,250 บาท โดยวางเงินมัดจำไว้จำนวน 20,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันที่ 24 ธันวาคม 2532 ซึ่งเป็นวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงทำบันทึกชำระเงินเพิ่มอีก 39,000,000 บาท และขยายเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินออกไปเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 โอนขายสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนั้นแก่โจทก์ในราคาไร่ละ 700,000 บาท เป็นเงิน 152,379,500 บาท กำหนดชำระเงินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำหรับราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นไร่ละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,884,250 บาท ถือเป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 141,595,250 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนั้น เมื่อโจทก์ชำระค่าตอบแทนจำนวน 10,884,250 บาท แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 2 ทันที กับให้สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบันทึกต่อท้ายสัญญาโอนไปยังโจทก์ทั้งหมด โดยให้โจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาดังกล่าวเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 แทนจำเลยที่ 1 ได้ทันที ต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2533จำเลยที่ 1 ขอเพิ่มราคาขายสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากโจทก์อีก1,350,000 บาท แล้วเปลี่ยนข้อตกลงเป็นให้โจทก์ชำระราคาที่ดินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 จำนวน 132,000,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 21,729,500 บาท จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ชำระพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ภายใน 6 เดือน นับแต่วันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1 ทำไว้กับนายปิติ บุญสูง ผู้แทนโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 นำสิทธิเรียกร้องที่ขายให้โจทก์แล้วไปขายแก่ผู้อื่นครั้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์จึงให้ทนายความโจทก์แจ้งถึงสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 โอนให้โจทก์ไปยังจำเลยที่ 2 ขอให้ระงับการโอนที่ดินให้ผู้อื่นทั้งแจ้งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวและต่อมาวันที่12 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ให้ทนายความโจทก์มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยกำหนดนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและชำระราคา ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 เวลา 10 นาฬิกา ซึ่งจำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่โต้แย้งคัดค้าน แต่เมื่อถึงกำหนดนัดก็ไม่จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ กลับโอนขายให้จำเลยที่ 3 โจทก์จึงคัดค้านและขออายัดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดของจำเลยที่ 4 เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียน และอ้างว่าจะต้องส่งเรื่องอายัดที่ดินพิพาทไปหารือจำเลยที่ 4 ก่อน แต่ในวันที่8 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 2 ได้ให้นางจินตนา วงศ์เบญจรัตน์คู่สมรสลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดที่ดินพิพาททั้งหกแปลงโดยไม่สุจริต แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และนางจินตนาร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 โดยไม่สุจริตอีกทั้งจำเลยที่ 3 รับโอนโดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนได้ก่อน จึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต การกระทำของจำเลยทั้งสี่และนางจินตนาเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายอันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย ดังนี้ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่โจทก์ต้องเสียแก่สถาบันการเงิน 1 วันเป็นเงิน 69,028 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกู้เงินจำนวน5,000,000 บาท ค่าขาดกำไรเพราะราคาที่ดินสูงขึ้นถึงไร่ละ1,200,000 บาท คิดเป็นเงิน 108,842,500 บาท และค่าขาดกำไรจากการนำที่ดินมาจัดสรรขาย เป็นเงิน 76,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายจำนวน 189,911,604 บาท ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ให้นางจินตนาคู่สมรสลงชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม และเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1188, 1189, 1190, 1364, 28554 และ 29859 ตำบลลาดบัวขาว (คลองสาน) อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 2 และนางจินตนากับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2533 แล้วให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับเงินค่าที่ดินจำนวน 153,729,500 บาท จากโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการโอน กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน 189,911,604บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกันอย่างไรและจำเลยที่ 1 ผิดข้อตกลงอย่างไร ประมาณเดือนพฤศจิกายน2532 นายปิติ บุญสูง กรรมการผู้จัดการของโจทก์ติดต่อขอซื้อที่ดินพิพาทราคาไร่ละ 700,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งทำไว้กับจำเลยที่ 2ให้แก่โจทก์ มีข้อตกลงว่าโจทก์ต้องชำระเงินซึ่งจำเลยที่ 1วางมัดจำไปแล้วจำนวน 20,000,000 บาท กับเงินส่วนเกินไร่ละ50,000 บาท เป็นเงิน 10,884,250 บาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระในวันทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องโดยนัดทำสัญญาและชำระเงินวันที่5 ธันวาคม 2532 แต่วันนั้นนายปิติแจ้งว่าโจทก์ไม่มีเงินจึงขอขยายเวลาไปถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2532 เมื่อถึงกำหนดโจทก์ก็ยังหาเงินไม่ได้ ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1จึงตกลงกับจำเลยที่ 2 ขยายเวลาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทออกไปถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องชำระราคาที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 39,000,000 บาท โดยแบ่งชำระวันทำสัญญาจำนวน 10,000,000 บาท ชำระวันที่ 28 ธันวาคม 2532จำนวน 3,000,000บาท ชำระวันที่ 10 มกราคม 2533 จำนวน 26,000,000 บาท ในวันเดียวกันนั้นนายปิติแจ้งว่าโจทก์ยังประสงค์จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยตกลงจะชำระเงินมัดจำและราคาที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระแก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว และยังให้ค่าตอบแทนอีกจำนวน 10,884,250 บาท แต่เพราะเหตุที่โจทก์ยังหาเงินไม่ได้จึงขอให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้นำไปแสดงต่อบริษัทเงินทุนขอกู้เงินไปทำโครงการ โดยนายปิติอ้างว่าบริษัทเงินทุนจะมอบเงินส่วนหนึ่งให้ในวันที่2 มกราคม 2533 แล้ววันนั้นโจทก์จะทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 โดยชำระเงินจำนวน 33,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1ชำระแก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว กับให้ค่าตอบแทนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1และโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อชำระราคาที่ดินงวดวันที่10 มกราคม 2533 การทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องก็เพื่อให้โจทก์ใช้ในการกู้ยืมเงินเท่านั้น หาได้มีเจตนาให้ผลผูกพันกันตามสัญญาไม่ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ครั้นถึงวันนัดโจทก์แจ้งว่าจะกู้เงินได้ในวันที่ 5 มกราคม 2533 และนายปิติในฐานะตัวแทนโจทก์ได้เสนอเงื่อนไขใหม่ โดยขอชำระค่าเสียหายเพราะเหตุที่ล่าช้าคือตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2533เพิ่มให้เป็นเงิน 1,350,000 บาท กับชำระราคาที่ดินจำนวน132,000,000 บาท ส่วนเงินจำนวนอีก 20,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 วางมัดจำไว้แต่แรกนั้น นายปิติในฐานะตัวแทนโจทก์ยอมทำสัญญากู้ยืมไว้ต่อจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2533ปรากฏว่าโจทก์หาเงินไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงปฏิเสธการขายสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ หลังจากนั้นวันที่ 10 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1จึงโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาให้บุคคลที่สาม เพื่อให้บุคคลที่สามชำระราคาที่ดินงวดวันที่ 10 มกราคม 2533 จำนวน 26,000,000บาท แก่จำเลยที่ 2 ภายหลังบุคคลที่สามโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 3 ครั้นวันที่ 8 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงจดทะเบียนซื้อขายและชำระราคากัน นอกจากนี้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ฝ่ายเดียว จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะ สำหรับหนังสือของทนายความโจทก์ที่แจ้งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงวันที่5 ธันวาคม 2532 และวันที่ 2 มกราคม 2533 นั้น เมื่อปรากฏว่าข้อตกลงนั้นยกเลิกกันไปแล้ว จึงไม่มีผลให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย และไม่ทราบว่าจ่ายค่าอะไรบ้างทั้งเป็นเหตุการณ์ในอนาคตไม่แน่นอนว่าจะเสียหายหรือไม่ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนขายสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบันทึกต่อท้ายแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้องด้วยโจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับเอาจากจำเลยที่ 1 อีกทั้งจำเลยที่ 2ไม่เคยได้รับหนังสือฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2533 กับฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2533 ทั้งลายมือชื่อผู้รับตามใบตอบรับมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะได้รับหนังสือนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องโต้แย้งเพราะโจทก์เป็นบุคคลภายนอก จึงไม่มีสิทธิสั่งให้ระงับการโอนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 ก็เป็นการปฏิบัติตามสัญญาซึ่งจำเลยที่ 2 ทำไว้ เป็นการกระทำโดยสุจริตโดยโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และไม่มีสิทธิบังคับจำเลยที่ 1ให้รับค่าที่ดินจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและภายหลังทำบันทึกต่อท้ายกับจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้นให้บริษัทมั่นคงเคหะการ จำกัด โดยวันดังกล่าวบริษัทมั่นคงเคหะการ จำกัด ได้จ่ายเงินจำนวน26,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปชำระแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาแก่บริษัทมั่นคงเคหะการ จำกัด หลังจากนั้นวันที่ 26 กุมภาพันธ์2533 บริษัทมั่นคงเคหะการ จำกัด ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาแก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 จ่ายเงินตอบแทนให้จำนวน27,660,000 บาท กำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและชำระเงิน ณสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี ในวันที่28 กุมภาพันธ์ 2533 เวลา 11 นาฬิกา ซึ่งจำเลยที่ 3 ตกลงซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 และบริษัทมั่นคงเคหะการ จำกัด ในราคาไร่ละ 650,000 บาท เป็นเงิน 141,495,250 บาท เพราะที่ดินพิพาทไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ และจำเลยที่ 3 ต้องซื้อที่ดินข้างเคียงเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะสิ้นเงินไป 10,000,000บาทเศษ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 2 ไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ที่ 3 และบริษัทมั่นคงเคหะการจำกัด จึงแจ้งอายัดที่ดินพิพาท แต่ต่อมาตกลงกันได้ ครั้นวันที่8 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในนามของจำเลยที่ 2 และนางจินตนา วงศ์เบญจรัตน์ แก่จำเลยที่ 3ในราคา 141,495,250 บาท แล้วจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทต่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นเงิน 120,000,000 บาทซึ่งโจทก์ทราบและไม่โต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ 3 กระทำโดยสุจริตเปิดเผย และเสียค่าตอบแทนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องโดยคิดราคาที่ดินพิพาทไร่ละ 700,000 บาท ไม่เป็นความจริงเพราะไม่มีข้อตกลงเช่นว่านั้น อีกทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะจำเลยที่ 2ไม่ได้ตกลงหรือรู้เห็นยินยอมด้วย นอกจากนี้ความเสียหายที่โจทก์อ้างตามฟ้องก็ไม่เป็นความจริงโจทก์ยังมิได้ลงทุน จึงไม่เสียหายหากเสียหายอย่างมากไม่เกิน 10,000 บาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 เพราะหนังสือมอบอำนาจมิได้ให้อำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ภายหลังสืบพยานโจทก์ทั้งหมดสิ้นและสืบพยานฝ่ายจำเลยไปบ้างแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 7,000,000บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ให้คิดคำนวณนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1ข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ได้ระบุให้ฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วย หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสี่ เห็นว่า แม้หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 จะมิได้ระบุให้นายอุดมเดช ชาญชัยศึกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 แทนโจทก์ คงระบุให้มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 กับพวกเป็นคดีนี้ก็ตาม แต่ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวยังคงแสดงเจตนาของโจทก์ชัดแจ้งว่าโจทก์ประสงค์ให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้ามาในคดีเดียวกันและมิได้ระบุในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4แทนโจทก์ด้วยก็ตาม ก็หามีผลทำให้การมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 ของโจทก์ที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นอันเสียไปไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
ฎีกาจำเลยที่ 1 ปัญหาที่ 2 มีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์แตกต่างจากคำเบิกความของพยานโจทก์อย่างชัดเจน เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบแตกต่างจากคำฟ้อง จึงเป็นผลให้จำเลยเสียเปรียบและหลงข้อต่อสู้ คำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม เห็นว่า ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลจะต้องพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์เป็นหลักว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น และคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วหรือไม่หาใช่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ ส่วนปัญหาว่าโจทก์จะนำสืบข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่อ้างในคำฟ้องหรือไม่เป็นปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้สมกับที่อ้างในคำฟ้องหรือไม่เพื่อวินิจฉัยข้อแพ้ชนะในประเด็นข้อพิพาทนั้นต่อไป
ฎีกาจำเลยที่ 1 ปัญหาที่ 3 มีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางและเป็นการโอนสิทธิโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และไม่มีค่าตอบแทนจึงตกเป็นโมฆะนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อได้พิจารณาปัญหาตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาดังกล่าวข้างต้นกับการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในการชี้สองสถานของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 กันยายน 2533 แล้วปรากฏว่า ปัญหาดังกล่าวศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท และจำเลยที่ 1ก็มิได้คัดค้านโดยให้ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจในประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์มาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าประเด็นข้อที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นรวมอยู่ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดในเรื่องอำนาจฟ้องแล้ว เพราะหากฟังว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.7 ที่ทำต่อกันมีเจตนาไม่ให้มีผลผูกพันและไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยที่ 1อ้างมาในอุทธรณ์แล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 อ้างได้นั้น เห็นว่า ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องต่อไป เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทข้อที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว
ฎีกาจำเลยที่ 1 ปัญหาที่ 4 มีว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่ และที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เพราะศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในส่วนนี้ไว้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทโดยฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ สำหรับปัญหาหลังที่ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 ได้ทำกับจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1กลับทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทรายเดียวกันนี้ให้แก่ผู้อื่น โดยจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และผู้อื่นได้ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไว้ก่อน จึงเป็นการไม่สุจริต ให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับผู้อื่นโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ต้องการซื้อที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจากจำเลยที่ 2แต่โจทก์ยังหาเงินไม่ได้ จึงขอให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ก่อน เพื่อโจทก์จะได้นำไปแสดงต่อบริษัทเงินทุนเพื่อขอกู้ยืมเงินไปทำโครงการ ไม่มีเจตนาให้มีผลผูกพันกันตามสัญญาหลังจากจำเลยที่ 1 กับโจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ให้แก่บุคคลอื่น และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และบุคคลอื่นได้ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 1 ประกอบกันแล้ว เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทโดยฉ้อฉลโจทก์หรือไม่นั้น ย่อมรวมถึงประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่อยู่ในตัว เพราะก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ได้นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่อันเป็นประเด็นที่ปรากฏอยู่ในคำฟ้องและคำให้การจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเสียก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์แล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีแล้วนั่นเอง ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่ ข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีเงินพร้อมชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามสัญญาโอนสิทธิเอกสารหมาย จ.7ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาประการสุดท้ายมีว่า ค่าเสียหายมีเพียงใด ข้อนี้ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าคดีมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่ด้วยและข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นเพียงความเข้าใจผิดของโจทก์ที่เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายนั้นเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เท่านั้น คดีจึงมีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพียงใด เห็นว่า จากการที่โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับจัดสรรที่ดินขาย เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับสิทธิตามสัญญาดังกล่าวที่จะบังคับให้ผู้จะขายที่ดินพิพาทโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปจัดสรรขายตามโครงการของโจทก์ได้ ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ได้ แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบถึงค่าเสียหายได้ตามจำนวนที่ปรากฏในคำฟ้อง แต่ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่เห็นสมควรได้ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นจำนวนค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน

Share