คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7673/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วสูง ทั้งที่เป็นทางร่วมทางแยกซึ่งโจทก์ต้องลดความเร็วของรถลงเพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 โจทก์จึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย
รถแท็กซี่คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 มีชื่อและตราของจำเลยที่ 2 ติดอยู่ที่ประตูรถทั้งสองด้าน คนทั่วไปที่ได้พบเห็นจะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถออกวิ่งรับคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการรับบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย
ผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยต้องทุพพลภาพ ความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่เป็นตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้ด้วย และศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2538 เวลากลางคืน จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 6 ท – 5421 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือเพื่อกิจการของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท โดยขับรถด้วยความเร็วสูงมาจากถนนแจ้งวัฒนะมุ่งหน้าสู่สี่แยกพงษ์เพชร เลี้ยวขวาเข้าซอยสามัคคีตัดหน้ารถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 1 ร – 3429 ที่โจทก์ขับมาจากสี่แยกพงษ์เพชรอย่างกะทันหันในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ดังกล่าวล้มลง โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 3,538,474 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้เช่ารถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วม เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ค่าเสียหายไม่เกิน 200,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยที่ 2 มิใช่นายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ให้เช่ารถแท็กซี่คันเกิดเหตุแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยจึงหลุดพ้นจากความรับผิดด้วย เหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ค่าเสียหายไม่เกิน 20,000 บาท กรมธรรม์ประกันภัยจำกัดความรับผิดของจำเลยร่วมไม่เกิน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,998,332.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวจำนวน 100,000 บาท กับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และจำเลยร่วมชำระต่อศาลในนามของโจทก์ตามส่วนแห่งความรับผิดของตน ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 1,184,088.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ วันที่ 21 พฤษภาคม 2538 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ คันหมายเลขทะเบียน 6 ท – 5421 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนประชาชื่นจากด้านถนนแจ้งวัฒนะมุ่งหน้าสู่สี่แยกพงษ์เพชร ส่วนโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 1 ร – 3429 ไปตามถนนดังกล่าวจากด้านสี่แยกพงษ์เพชรมุ่งหน้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะในทิศทางตรงกันข้าม ต่อมารถจักรยานยนต์ของโจทก์ชนกับรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 1 ขับเลี้ยวขวาเข้าถนนซอยสามัคคี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี จำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2539 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกมีว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ไปแล้ว ต่อมาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหานี้โดยอ้างเอาข้อความและเนื้อหาเช่นเดียวกับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มาให้ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง แต่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยชัดแจ้งว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายไม่ถูกต้องอย่างไร หรือวินิจฉัยอย่างไรจึงจะถูกต้อง แต่กลับมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในประการต่อมามีว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ปัญหานี้โจทก์มีพันตำรวจตรีมนัสพนักงานสอบสวนเบิกความว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นแยกถนนประชาชื่นตัดกับซอยสามัคคี มีสัญญาณไปจราจรทั้งทางตรงและเลี้ยวขวา ขณะเกิดเหตุสัญญาณไปจราจรสีเขียวดังกล่าวจะขึ้นคู่ คือสัญญาณไฟเลี้ยวขวาจะขึ้นประมาณ 5 วินาที แล้วจะดับ ถ้ามีสัญญาณไฟเลี้ยวขวาขึ้นสัญญาณไฟที่มาจากด้านพงษ์เพชรจะเป็นสัญญาณไปจราจรสีแดง แต่ถ้าสัญญาณไฟเลี้ยวขวาดับแล้วสัญญาณไฟที่มาจากด้านพงษ์เพชรจะเป็นสัญญาณไปจราจรสีเขียว พยานได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 ว่า ขณะเลี้ยวขวาได้เห็นสัญญาณไฟจราจรสีเขียวหรือไม่ จำเลยที่ 1 ว่าเห็น พยานถามว่าเห็นกี่ดวง จำเลยที่ 1 ไม่ยืนยัน เหตุที่พยานมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากประการแรกจำเลยที่ 1 ชนแล้วหลบหนี ประการที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชี้แจงเรื่องสัญญาณไฟได้ว่าเห็นสัญญาณไฟจราจรสีเขียวกี่ดวง น่าเชื่อว่ามีการฝ่าฝืนสัญญาณไฟของรถที่จะเลี้ยวขวา กับมีคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2539 ของศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาจากการเกิดเหตุละเมิดดังกล่าวและจำเลยที่ 1 รับสารภาพว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกันและจำเลยที่ 1 หลบหนี ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีนายทัศนา นายประเทืองและนายวิษณุเป็นพยานเบิกความในทำนองว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่นำจำเลยที่ 1 มาเบิกความยืนยัน นอกจากนั้นพยานจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวยังเบิกความโดยไม่ยืนยันข้อเท็จจริงว่ารถยนต์ที่พยานเห็นชนกันนั้นเป็นรถยนต์ที่ชนกันในคดีนี้หรือไม่ และจากคำเบิกความก็ไม่มีข้อเท็จจริงอย่างใดที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกับพฤติการณ์ที่อ้างว่าได้เห็นเหตุการณ์เช่นมีการหยุดรถให้ความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใดจึงเป็นเพียงคำเบิกความลอยๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังและเป็นพิรุธน่าสงสัยว่าพยานดังกล่าวจะเห็นเหตุการณ์จริงหรือไม่ พยานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์จากภาพถ่ายหลังเกิดเหตุเอกสารหมาย ล.9 ปรากฏว่าสภาพรถแท็กซี่ถูกชนตรงประตูด้านซ้ายบุบเสียหายอย่างมากแสดงให้เห็นว่าถูกชนโดยโดยแรงประกอบกับโจทก์เองได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขนาดสมองได้รับการกระทบกระเทือนเลือดออกในสมองต้องผ่าตัดและกระดูกแขนขาหัก จนต้องทุพพลภาพในเวลาต่อมา พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ต้องขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วสูง ทั้งที่บริเวณดังกล่าวเป็นทางร่วมทางแยกซึ่งโจทก์ต้องลดความเร็วของรถลงเพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 โจทก์จึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นำสืบได้ความว่า รถแท็กซี่คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 มีชื่อและตราของจำเลยที่ 2 ติดอยู่ที่ประตูรถทั้งสองด้าน คนทั่วไปที่ได้พบเห็นรถแท็กซี่คันดังกล่าวจะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 2 ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถคันดังกล่าวออกวิ่งรับคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวเท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการรับบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดดังกล่าวด้วย ส่วนค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น เห็นว่า ผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยต้องทุพพลภาพ โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไปได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต ความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่เป็นตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้ด้วย และศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 สำหรับปัญหานี้เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิเคราะห์กำหนดค่ารักษาพยาบาลจำนวน 434,132.50 บาท ตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์นำมาแสดงและใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายอื่นที่โจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงสำหรับค่าใช้จ่ายคนเฝ้าไข้เป็นเงิน 6,000 บาท และค่ารถยนต์รับจ้างเดินทางไปทำกายภาพบำบัดเป็นเงิน 36,000 บาท นั้นเหมาะสมแก่โจทก์แล้ว ส่วนค่าเสียความสามารถประกอบการงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้เป็นเงิน 1,200,000 บาท นั้น เมื่อพิเคราะห์สำเนาสมุดประจำตัวคนพิการเอกสารหมาย จ.3 ลักษณะความพิการคือแขนขาอ่อนแรง ส่วนอาการทางสมองนั้นได้ความว่า หากโจทก์หายชักภายใน 1 ปี แพทย์จะใส่กะโหลกเทียมที่สมอง แสดงให้เห็นว่าโจทก์เสียความสามารถประกอบการงานในปัจจุบัน และอาจส่งผลในอนาคตจึงเป็นค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว ส่วนค่าเสียหายสำหรับค่าทุพพลภาพกลายเป็นคนพิการสมองไม่ปกติ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้นั้น เห็นว่า โจทก์อายุเพียง 22 ปี อยู่ในวันทำงาน การที่ต้องทุพพลภาพถึงขนาดแขนขาอ่อนแรงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทั้งมีอาการทางสมองถึงขั้นต้องใส่กะโหลกเทียม ถือได้ว่าเป็นอาการพิการที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของโจทก์ และเป็นความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจสมควรที่จะต้องกำหนดค่าเสียหายให้เหมาะสม แต่เมื่อโจทก์ขอค่าเสียหายในส่วนนี้เพียง 300,000 บาท แม้จะเป็นจำนวนไม่มากแต่ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์พึงพอใจชอบที่จะกำหนดให้ตามขอ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลดค่าเสียหายในส่วนนี้ลงเหลือเพียง 100,000 บาท นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อโจทก์มีส่วนประมาทด้วย จึงต้องอาศัยพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นประมาณในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 และมาตรา 223 ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์สองในสามชอบแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,317,421.66 บาท ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ชำระเงินจำนวน 1,317,421.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ

Share