คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1946/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 3 จะได้นำเงินจำนวน 60,000 บาท ไปวางต่อ สำนักงานวางทรัพย์ก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่โจทก์ก็ปฏิเสธไม่ยอมรับเงินดังกล่าวตลอดมาเพราะโจทก์ เห็นว่าเป็นการชำระหนี้ไม่ถูกต้อง เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ถึงที่สุดมิได้กล่าวถึงการวางเงินของจำเลยที่ 3 ต่อ สำนักงานวางทรัพย์แต่ประการใด อีกทั้งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีของเงิน60,000 บาท นับแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2539 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 3 ไม่ยอมชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่น ของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้มาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวได้อ่านให้คู่ความฟัง เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2532 และถึงที่สุดไปแล้วโดยจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาย่อมมีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เมื่อ จำเลยที่ 3 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ถึงที่สุด โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ได้ การที่ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน117,859.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่23 ตุลาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิด 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด60,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ให้จำเลยที่ 2ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีและให้จำเลยที่ 3 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 60,000 บาท หากจำเลยที่ 3ไม่ยอมชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนอง ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้ชำระหนี้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2540 ว่าหลังจากศาลมีคำพิพากษา จำเลยที่ 3 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์เพียง60,000 บาท โดยนำไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ ส่วนที่เหลือยังไม่ชำระ ขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่31 กรกฎาคม 2540 ว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งถึงที่สุดแล้วนั้นจำเลยที่ 3 ยังมีหน้าที่ต้องชำระในส่วนดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีกจึงให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ด้วย
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ว่า จำเลยที่ 3ได้วางเงินไว้ต่อสำนักงานวางทรัพย์เป็นการชำระหนี้ให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2529 ก่อนวันที่ 23 ตุลาคม 2529 อันเป็นวันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์คิดดอกเบี้ยโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 ได้อีก คำสั่งศาลชั้นต้นที่ว่าจำเลยที่ 3 ยังมีหน้าที่ต้องชำระในส่วนดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบขอให้เพิกถอนคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่ง ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2540 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่าเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2540 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินน.ส.3 เลขที่ 206/129 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีเพราะจำเลยที่ 3ไม่มีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ ขอให้ยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงแก่จำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดโดยให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้จำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2529เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ชำระหนี้โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ดังนั้นการที่เจ้าพนักงาน บังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์การบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้วให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองกรณี
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 3ได้นำเงินไปวางต่อสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 2 นั้นโจทก์ได้ปฏิเสธการรับเงินดังกล่าวตลอดมา เพราะโจทก์เห็นว่าเป็นการชำระหนี้ไม่ถูกต้อง จนกระทั่งต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามและต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 3 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของเงิน 60,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยที่ 3 ไม่ยอมชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้มาชำระหนี้แก่โจทก์ โดยมิได้กล่าวอ้างถึงการวางเงินของจำเลยที่ 3 ต่อสำนักงานวางทรัพย์เลย โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ถึงที่สุดแล้วได้นั้น เห็นว่าแม้จำเลยที่ 3 จะได้นำเงินจำนวน 60,000 บาท ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์ก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่โจทก์ก็ปฏิเสธไม่ยอมรับเงินดังกล่าวตลอดมา เพราะโจทก์เห็นว่าเป็นการชำระหนี้ไม่ถูกต้อง เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ถึงที่สุดมิได้กล่าวถึงการวางเงินของจำเลยที่ 3 ต่อสำนักงานวางทรัพย์แต่ประการใด อีกทั้งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีของเงิน 60,000 บาท นับแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 3 ไม่ยอมชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้มาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวได้อ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2532 และถึงที่สุดไปแล้วโดยจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกา ย่อมมีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ถึงที่สุด โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ได้ การที่ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของ จำเลยที่ 3

Share