คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2597/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในเรื่องเดียวกับคดีนี้ ครั้นในวันที่ 30 สิงหาคม 2534ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2534 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ใหม่ วันที่ 11 ตุลาคม 2534 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยมิได้สอบถามจำเลยที่ 1ก่อนเป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลนำคดีขึ้นมาพิจารณาต่อไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ครั้นวันที่ 14 พฤศจิกายน2534 จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในคดีเดิมต่อศาลอุทธรณ์โดยอ้างว่าก่อนศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยก่อน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีเดิมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2534 จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงถึงที่สุด การที่จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 14พฤศจิกายน 2534 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ไม่มีผลกระทบถึงคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและถึงที่สุดไปแล้วโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 1 ตุลาคม 2534 ซึ่งเป็นเวลาที่คดีเดิมถึงที่สุดไปแล้ว ไม่ได้อยู่ระหว่างพิจารณา คดีโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ที่ดินที่จำเลยทั้งสองขายให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาพิพากษาให้โอนไปเป็นของบุคคลอื่น จึงเป็นกรณีบุคคลอื่นมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อในอันที่จะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือที่ดินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขาย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 จำเลยที่ 1 ผู้ขายเป็นคู่ความในคดีเดิม โจทก์ไม่ได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอกหรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง กรณีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1จึงไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481และมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องของโจทก์เริ่มนับแต่วันที่4 เมษายน 2534 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 1 ตุลาคม 2534คดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ แต่จำเลยที่ 2นั้นปรากฏว่าไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม กรณีจึงต้องตามมาตรา 481 คดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความตามกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2522 จำเลยทั้งสองทำสัญญาขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ทะเบียนเลขที่ 2242 และ 2245 หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะสะบ้า อำเภอเทพาจังหวัดสงขลา ให้แก่โจทก์ในราคา 500,000 บาท การที่จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินทั้งสองแปลงแล้วนำที่ดินไปขายให้แก่โจทก์ซึ่งซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจึงเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ได้ครอบครองบำรุงรักษาปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น มะม่วง มะพร้าว และล้อมรั้วไว้อย่างดี หากโจทก์นำที่ดินทั้งสองแปลงไปขายให้บุคคลอื่นจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้คืนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางบุญจิราทำให้โจทก์ขาดกำไรไปไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินจำนวน500,000 บาท ที่ได้รับไปจากโจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เคยนำคดีนี้มาฟ้องตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 94/2534 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างพิจารณาฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน โจทก์ทราบว่าจำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินอันทำให้โจทก์เกิดสิทธิเรียกร้องในเงินค่าที่ดินที่ได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2523แต่โจทก์ก็ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องภายในเวลา 1 ปีฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์จำนวน1,645,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในเรื่องเดียวกับคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2534 ครั้นในวันที่ 30 สิงหาคม 2534ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1138/2534 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่1 ตุลาคม 2534 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ใหม่ วันที่11 ตุลาคม 2534 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1138/2534 ว่า การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยมิได้สอบถามจำเลยที่ 1 ก่อนเป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลนำคดีขึ้นมาพิจารณาต่อไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ครั้นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2534จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1138/2534 ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยอ้างว่าก่อนศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยก่อนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1138/2534 หรือไม่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1138/2534 ของศาลชั้นต้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลซึ่งในเวลาต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง หากศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว การฟ้องและการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ก็จะเป็นการฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำซ้อนกับคดีดังกล่าว ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1138/2534 เมื่อวันที่30 สิงหาคม 2534 เสมียนทนายจำเลยผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งแล้ว จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงถึงที่สุด การที่จำเลยที่ 1ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2534ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 229 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบไม่มีผลกระทบถึงคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและถึงที่สุดไปแล้ว ส่วนคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปนั้น เมื่อปรากฏว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องถึงที่สุดไปแล้วคำร้องของจำเลยที่ 1ดังกล่าวก็ไม่มีผลกระทบถึงคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและถึงที่สุดไปแล้วเช่นเดียวกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 1 ตุลาคม 2534 จึงเป็นเวลาที่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1138/2534 ถึงที่สุดไปแล้ว ไม่ได้อยู่ระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) คดีโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมายมาตราดังกล่าว
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และค่าเสียหายสูงเกินไป เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองขายให้โจทก์นั้นศาลฎีกาพิพากษาให้โอนไปเป็นของบุคคลอื่น จึงเป็นกรณีบุคคลอื่นมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อในอันที่จะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือที่ดินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขาย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะไม่ได้ฟ้องภายในสามเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 481 เห็นว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขายเป็นคู่ความในคดีเดิมโจทก์ไม่ได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอกหรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง กรณีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 และมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องของโจทก์เริ่มนับแต่วันที่ 4 เมษายน 2534 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 1 ตุลาคม 2534 คดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความแต่จำเลยที่ 2 นั้นปรากฏว่าไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมกรณีจึงต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 คดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความตามกฎหมายดังกล่าว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์อีก 1,500,000 บาทเห็นว่าสูงเกินไปเห็นควรกำหนดให้โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 645,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 ตุลาคม 2534) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share