คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 807/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยฟ้องแย้งว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์หยุดงานไปเองจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันโดยมีข้ออ้างที่เกี่ยวพันกันว่าเหตุที่โจทก์หยุดงานไปนั้น เป็นเพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามคำฟ้องของโจทก์ หรือจำเลยหยุดงานไปเองตามฟ้องแย้งของจำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ และที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า จำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินเปอร์เซ็นต์จากจำเลย เพราะโจทก์ขายสินค้าให้จำเลยได้ต่ำกว่าที่กำหนดซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชดใช้เงินสำหรับส่วนของสินค้าที่ขายต่ำกว่าที่กำหนดไว้นั้นก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันโดยมีข้ออ้างที่เกี่ยวพันกันว่า โจทก์ขายสินค้าให้จำเลยมากกว่าจำนวนที่กำหนดและมีสิทธิได้รับเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าจากจำเลยตามคำฟ้องหรือขายสินค้าได้น้อยกว่าที่กำหนดและจะต้องรับผิดชำระเงินให้จำเลยตามฟ้องแย้งฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมเช่นกันฟ้องแย้งของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นฟ้องแย้งที่ชอบจะให้รับไว้พิจารณาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยจำเลยค้างจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าเป็นเงิน15,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย และค่าเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์หยุดงานไปเอง โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าตามสมควรและไม่ได้ส่งมอบงานที่โจทก์รับผิดชอบให้แก่จำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงิน 70,000 บาท เพราะทำให้งานของจำเลยต้องหยุดชะงัก ต้องเสียเวลาหาผู้จัดการฝ่ายขายใหม่ซึ่งขณะนี้ยังหาไม่ได้จำเลยไม่ได้ต้องรับผิดค่าจ้างจ่ายประจำเดือนสิงหาคม 2535 จำนวน 30,000 บาทเพราะจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ไม่มารับเงินเดือนไปเองโจทก์ขายสินค้าให้จำเลยได้เฉลี่ยต่ำกว่ายอดที่กำหนดไว้ตลอดมาจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายสินค้าให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ให้ค่าเสียหายที่โจทก์หยุดงานไปเองเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน70,000 บาท และใช้ค่าที่ขายสินค้าได้ไม่ถึงตามที่กำหนดเป็นเงิน89,169.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางสั่งรับเป็นคำให้การของจำเลยส่วนฟ้องแย้งนั้นไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมไม่รับฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมที่จะให้รับไว้พิจารณาหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ จำเลยฟ้องแย้งว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์หยุดงานไปเองจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้นเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันโดยมีข้ออ้างที่เกี่ยวพันกันว่าเหตุที่โจทก์หยุดงานไปนั้น เป็นเพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามคำฟ้องของโจทก์ หรือจำเลยหยุดงานไปเองตามฟ้องแย้งของจำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ และที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า จำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวจากจำเลย เพราะโจทก์ขายสินค้าให้จำเลยได้ต่ำกว่าที่กำหนดที่โจทก์ต้องรับผิดชดใช้เงินสำหรับส่วนของสินค้าที่ขายต่ำกว่าที่กำหนดไว้นั้น ก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันโดยมีข้ออ้างที่เกี่ยวพันกันว่าโจทก์ขายสินค้าให้จำเลยมากกว่าจำนวนที่กำหนดและมีสิทธิได้รับเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าจากจำเลยตามคำฟ้อง หรือขายสินค้าได้น้อยกว่าที่กำหนดและจะต้องรับผิดชำระเงินให้จำเลยตามฟ้องแย้งฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมเช่นกันด้วยเหตุดังวินิจฉัยแล้ว จึงเห็นว่าฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องแย้งที่ชอบจะให้รับไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสาม ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับว่า ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาดำเนินการต่อไป

Share