แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นหนี้โจทก์เพียง 65,168.31 บาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนักเมื่อคำนึงถึงอาชีพทนายความและรายได้ของจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจ้าหนี้รายอื่นอีก รูปคดีมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2497 มาตรา 14
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์สองจำนวนคือหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน 47,000 บาท ดอกเบี้ย 15,178.31 บาทและหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง 111,868.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท โจทก์ขอออกหมายบังคับคดีแล้ว จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์เป็นเงิน43,212.27 บาท คงเหลือหนี้ทั้งสองจำนวนรวม 189,210.96 บาทโจทก์ทวงถามเป็นหนังสือสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยเพิกเฉยและจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยจึงเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า เดิมโจทก์ปลดหนี้ให้จำเลย 99,230.81 บาทจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ 110,168.31 บาท จำเลยชำระเงินให้โจทก์อีก45,000 บาท จึงคงค้างชำระเพียง 65,168.31 บาท ต่อมาจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์อีก 3,000 บาท คงค้างชำระโจทก์เพียง 62,168.31 บาทจำเลยมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวโดยมีความสามารถที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีทางชำระหนี้ให้โจทก์ยังไม่มีเหตุสมควรให้จำเลยล้มละลาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว สำหรับปัญหาข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 แล้วจำเลยยังคงเป็นหนี้เพียง 62,000 บาทเศษ นั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.1 ระบุใจความว่าตามที่จำเลยเสนอขอชำระหนี้ให้โจทก์เป็นจำนวน 110,000 บาทเศษ โดยการผ่อนชำระนั้น บัดนี้โจทก์ได้พิจารณาคำขอของจำเลยแล้วมีมติให้จำเลยชำระหนี้เป็นจำนวนเงิน 110,168.31 บาทโดยให้ชำระทันทีเป็นเงิน 45,000 บาท ส่วนที่เหลือให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท ชำระให้เสร็จภายใน 1 ปี โดยให้สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าไว้ทุกฉบับ หากชำระให้โจทก์ตามมตินี้แล้วโจทก์จะได้ถอนฟ้องคดีล้มละลายต่อไป แสดงว่าโจทก์ยินยอมลดหนี้ให้จำเลยคงเหลือหนี้ที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์เพียง 110,168.31 บาท เท่านั้นถือได้ว่าโจทก์ปลดหนี้ให้จำเลยบางส่วน การปลดหนี้ดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 วรรคสอง แล้วทั้งไม่มีเงื่อนไขอย่างใด ในกรณีที่จำเลยผิดนัดการชำระหนี้ส่วนที่เหลือดังกล่าว ยิ่งกว่านี้ยังได้ความต่อมาว่า หลังจากนั้นจำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ 45,000 บาท และโจทก์ก็ได้ถอนฟ้องคดีล้มละลายให้แล้ว ฉะนั้น หนี้ส่วนที่โจทก์ปลดให้จำเลยจึงเป็นอันระงับสิ้นไป จำเลยจึงยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เพียง 65,168.31 บาท
ปัญหาต่อไปที่ว่า คดีมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่จำเลยเป็นหนี้โจทก์เพียง 65,168.31 บาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนักเมื่อคำนึงถึงอาชีพทนายความและรายได้ของจำเลยทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจ้าหนี้รายอื่นอีก รูปคดีมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง