แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดจำเลยที่3นำเงินจำนวนสองล้านบาทไปวางไว้กับโจทก์เป็นประกันการจำนองที่ดินเพื่อไถ่จำนองเอาโฉนดคืนไปและตกลงว่าถ้าจำเลยที่3แพ้คดีก็ยอมให้โจทก์นำเงินสองล้านบาทหักชำระหนี้ได้การวางเงินดังกล่าวจำเลยที่3มีความประสงค์เพียงขอเปลี่ยนหลักทรัพย์โฉนดที่ดินที่วางเป็นประกันหนี้โดยใช้เงินทดแทนมิใช่การวางเงินโดยยอมรับผิดตามป.วิ.พ.มาตรา136วรรคแรกและถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้ล่วงหน้าต่อมามีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสี่แพ้คดีจำเลยที่3จึงต้องร่วมรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จการที่จำเลยที่3คำนวณดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันวางเงินจึงไม่ถูกต้องแม้โจทก์จะได้รับประโยชน์จากเงินจำนวนสองล้านบาทดังกล่าวก็เป็นข้ออ้างที่จำเลยที่3คิดว่าเสียเปรียบจะนำมาหักล้างการชำระหนี้ตามกฎหมายไม่ได้.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก “…ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1ใช้เงินโจทก์จำนวน 13,149,765.56 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นหนี้จำนองที่บังคับได้จึงให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์จำนวนสองล้านบาทพร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราและของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยที่ 3 จะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระให้บังคับจำนองเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ ถ้าไม่พอให้บังคับคดีเอากับทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 3 จนครบและหากได้มีการไถ่จำนองแล้วก็ให้โจทก์บังคับเอากับเงินจำนวนสองล้านบาทที่ฝากไว้กับธนาคารโจทก์ได้…และให้จำเลยทั้งสี่คนร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม(ค่าขึ้นศาลคิดเท่าที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดโดยกำหนดค่าทนายความ40,000 บาทแทนโจทก์)…”
ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า “…จำเลยได้นำเงินสองล้านบาทชำระให้แก่โจทก์ไว้เป็นการชำระหนี้ล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่วันที่31 ตุลาคม 2518 เมื่อนับจากวันฟ้องถึงวันชำระหนี้เป็นเวลา 4 ปี16 วัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินสองล้านบาทเป็นดอกเบี้ย 606,575.34 บาท จำเลยได้ติดต่อขอชำระดอกเบี้ยจำนวน606,575.34 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมโดยอ้างว่าจะต้องคิดดอกเบี้ยจากวันฟ้องถึงวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คือวันที่ 11 มิถุนายน2523 รวมเวลา 3,159 วัน เป็นดอกเบี้ย 1,298,219.18 บาท จำเลยที่ 3 เห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะตามคำพิพากษาระบุไว้ชัดว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์จำนวนสองล้านบาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในอัตราและของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 3 จึงนำเงิน 606,575.34 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยวางไว้ต่อศาลเพื่อชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาขอให้ศาลชั้นต้นรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้เพื่อชำระให้โจทก์สำหรับต้นเงินสองล้านบาทนั้น จำเลยที่ 3 ได้ชำระให้โจทก์ไปแล้ว…”
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า “…ที่จำเลยที่ 3 นำเงินจำนวน606,757.34 บาท ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 3 ได้นำเงินจำนวนสองล้านบาทไปวางไว้กับโจทก์เป็นการประกันการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3593, 3594 ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก อำเภอป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร เพื่อไถ่ถอนจำนองเอาโฉนดคืนไป และถ้าจำเลยที่ 3 แพ้คดีก็ยอมให้โจทก์นำเงินสองล้านบาทชำระหนี้ได้ทันที รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย ซึ่งโจทก์ยอมรับตามข้อเสนอนี้ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2518 แล้วจำเลยได้นำเงินสองล้านบาทมอบให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2518 และได้ดำเนินคดีตลอดมา ในที่สุดศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่11 มิถุนายน 2523 เมื่อคำนวณหนี้ตามคำพิพากษาแล้วปรากฏว่าต้นเงินสองล้านบาท ดอกเบี้ยในต้นเงินสองล้านบาทจากวันฟ้องถึงวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีการวม 3,159 วัน เป็นเงินดอกเบี้ย 1,298,219.18บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 3,298,219.18 บาท จำเลยที่ 3 จะต้องนำเงินสองล้านบาทที่วางไว้กับโจทก์ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระเสียก่อน เหลือเท่าใดจึงชำระเงินต้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 329 เมื่อนำเงินสองล้านบาทไปชำระดอกเบี้ย 1,298,219.18บาท แล้วคงเหลือเงิน 701,780.82 บาท นำเงินที่เหลือจำนวนดังกล่าวชำระเงินต้นสองล้านบาท จำเลยที่ 3 จึงยังค้างชำระเงินต้นเป็นเงิน 1,298,219.18 บาท คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ค้างชำระจำนวนดังกล่าว นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศษลฎีกา ถึงวันที่ 30 มิถุนายน2525 เป็นเวลา 148 วัน เป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น 199,534.51 บาท รวมเป็นยอดหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 3 ค้างชำระเป็นเงิน1,497,753.69 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 1,298,219.18 บาท นับจากวันที่ 30 มิถุนายน 2525เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 3 จำชำระเสร็จอีกจำนวนหนึ่งด้วย การที่จำเลยที่ 3 นำเงินวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียง 606,575.34บาท จึงเป็นการเข้าใจผิดของจำนวนเองขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามคำร้องคัดค้านของโจทก์…”
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “…ให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้จำนวนสองล้านบาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อคิดดอกเบี้ยจากวันฟ้องถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2523 ที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วได้ดอกเบี้ยเท่าใดให้นำไปรวมกับเงินต้น ในวันที่ 11 มิถุนายน2523 ที่โจทก์นำเงินสองล้านบาทชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อหักดอกเบี้ยออกจากเงินจำนวนสองล้านบาทแล้วเหลือเท่าใดจึงหักชำระต้นเงินที่ค้างชำระ เหลือต้นเงินค้างชำระเท่าใดคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2523 จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2525ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 3 นำเงินมาวางศาล ได้ดอกเบี้ยเท่าใดให้นำไปรวมกับเงินต้นที่ค้างชำระ แล้วนำเงินจำเลยที่ 3 วางศาลชำระดอกเบี้ยแล้วชำระต้นเงิน เหลือหนี้เงินต้นอีกเท่าใด ให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2525 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์…”
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2518 นั้นมีข้อความที่จำเลยที่ 3 รับว่าจะนำเงินจำนวนสองล้านบาทไปวางไว้กับโจทก์เป็นประกันการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3593 และ 3594 ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก อำเภอป้อมปราบกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการไถ่จำนองเอาโฉนดคืนไป และถ้าจำเลยที่ 3 แพ้คดีก็ยอมให้โจทก์นำเงินสองล้านบาทชำระหนี้ได้ รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย ดังนั้นเงินจำนวนสองล้านบาท ที่จำเลยที่ 3 วางไว้ให้โจทก์จึงมิใช่เป็นการชำระหนี้เพื่อปลดจำนองเพราะขณะนั้นคดียังไม่ถึงที่สุด การวางเงินดังกล่าวจำเลยที่ 3 มีความประสงค์เพียงขอเปลี่ยนหลักทรัพย์โฉนดที่ดินที่วางเป็นประกันหนี้โดยใช้เงินสดแทน มิใช่จำเลยที่ 3 วางเงินโดยยอมรับผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 136วรรคแรก และการวางเงินสองล้านบาทเพื่อเปลี่ยนหลักทรัพย์ดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้ล่วงหน้าที่ไม่ต้องคิดดอกเบี้ยเมื่อคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ชำระเงินให้โจทก์สองล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และเมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 11 มิถุนายน 2523 จำเลยที่ 3 จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดคครึ่งต่อปีในต้นเงินสองล้านบาทนับแต่วันฟ้องที่ 15 ตุลาคม 2514 จนถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2523 แล้วนำดอกเบี้ยนี้มารวมกับต้นเงินสองล้านบาทรวมเป็นยอดเงินที่จำเลยที่ 3 จะต้องชำระให้โจทก์ในวันที่ 11 มิถุนายน 2523 ต่อจากนั้นจึงนำเงินสองล้านบาทที่จำเลยที่ 3 มาวางไว้หักชำระดอกเบี้ยเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 ถ้ายังมีเงินเหลือก็นำเงินเหลือไปหักชำระเงินต้น เมื่อหักแล้วยังไม่พอชำระเงินต้น จำเลยที่ 3 ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่12 มิถุนายน 2523 ต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 3ว่าจำเลยที่ 3 ได้นำเงินดอกเบี้ย 606,575.34 บาท โดยคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนถึงวันนำเงินสองล้านบาทวางโจทก์และถือว่าได้ชำระหนี้โจทก์เสร็จสิ้นครบถ้วนแล้วนั้น จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ไม่ถูกต้องตามที่โจทก์คัดค้าน สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 3ที่ว่าเงินสองล้านบาท ที่จำเลยที่ 3 วางไว้กับโจทก์ โจทก์เป็นธนาคารย่อมนำเงินดังกล่าวไปหาประโยชน์ตามธุรกิจของโจทก์จะได้ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากจะให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 ได้อีกในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งโจทก์จะได้ดอกเบี้ยสองทางรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 22 ครึ่งต่อปี จึงไม่ควรเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 อีกนั้น ก็เห็นว่าถ้าจะคิดอย่างจำเลยที่ 3ฎีกาโจทก์จะได้ประโยชน์สองทางจริง แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3ต้องการเอาโฉนดคืนจากโจทก์โดยเอาเงินสองล้านบาทเป็นประกันแทน อันเป็นความประสงค์ของจำเลยที่ 3 โดยไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าระหว่างวางเงินนี้ไม่ให้คิดดอกเบี้ยกัน ดังนั้นจำเลยที่ 3 จะนำข้ออ้างที่จำเลยที่ 3 คิดว่าเสียเปรียบมาหักล้างการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวแล้วหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ที่จำเลยที่ 3 ยังชำระไม่ครบจึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000บาทแทนโจทก์.