คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4121-4124/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงาน ต่อมาจำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยออกข้อบังคับมีสาระสำคัญว่าเมื่อลูกจ้างได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุน ให้ถือว่าสิทธิการรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานภายใต้ระเบียบเดิมของบริษัทที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นอันระงับไป ต่อมาโจทก์ทั้งสี่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยทราบเงื่อนไขตามข้อบังคับดังกล่าวและตกลงสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิมแล้วมาใช้สิทธิตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้วแทน ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่แสดงเจตนาต่อจำเลยยินยอมสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิม เมื่อสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ที่จะได้รับเงินชดเชยตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานนั้น เป็นสิทธิที่เกิดจากระเบียบข้อบังคับ โดยไม่ปรากฏว่าเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่เกิดจากข้อเรียกร้อง จึงสามารถตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 5 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
เมื่อเงินค่าชดเชยตามระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานได้ถูกนำไปรวมเป็นเงินสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. แล้ว จึงต้องถือว่าค่าชดเชยตามระเบียบเดิมนั้นสิ้นสภาพไป และเงินสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มีลักษณะแตกต่างจากค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่เลิกจ้าง ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสี่จะได้รับเงินสมทบและเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. แล้ว โจทก์ทั้งสี่ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 300 วัน เป็นเงิน 383,060 บาท เงินชดเชยจากการเกษียณอายุ 383,060 บาท เงินชดเชยตามอายุงาน 884,230.16 บาท เงินชดเชยเงินประจำตำแหน่งผู้นำหน่วยย่อย 21,300 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 300 วัน เป็นเงิน 334,420 บาท เงินชดเชยจากการเกษียณอายุ 311,900 บาท เงินชดเชยตามอายุงาน 830,251 บาท เงินชดเชยเงินประจำตำแหน่งผู้นำหน่วย 12,000 บาท เงินประจำตำแหน่งหัวหน้างาน K 1 เป็นเงิน 11,700 บาท เงินประจำตำแหน่งหัวหน้างาน K 2 เป็นเงิน 3,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 300 วัน เป็นเงิน 317,290 บาท จ่ายค่าชดเชยจากการเกษียณอายุ 304,840 บาท เงินชดเชยตามอายุงาน 718,914.30 บาท เงินชดเชยเงินประจำตำแหน่งพนักงาน 13,500 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 300 วัน เป็นเงิน 446,480 บาท เงินชดเชยจากการเกษียณอายุ 446,480 บาท เงินชดเชยตามอายุงาน 952,490.60 บาท เงินชดเชยเงินประจำตำแหน่ง E 2 เป็นเงิน 6,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง E 3 เป็นเงิน 11,000 บาท เงินประจำตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนอำนวยความสะดวกการผลิต 4,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างโจทก์แต่ละรายในทุก ๆ 7 วัน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 383,060 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 311,900 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 304,840 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 446,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 วันที่ 1 มีนาคม 2558 วันที่ 1 มกราคม 2558 และวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ตามลำดับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับและไม่ได้เถียงกันว่าโจทก์ทั้งสี่เคยเป็นลูกจ้างจำเลยโดยโจทก์ที่ 1 ทำงานตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2524 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ซึ่งครบเกษียณอายุตามระเบียบของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายผู้นำหน่วยย่อยแผนกปรับปรุงงาน (1) ฝ่ายประกอบขั้นสุดท้าย 2 ได้รับเงินเดือน เดือนละ 38,306 บาท และเงินประจำตำแหน่ง โจทก์ที่ 2 ทำงานตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2558 ซึ่งครบเกษียณอายุตามระเบียบของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายหัวหน้าคนงานไลน์ตกแต่งรถเล็ก (6) กลุ่มงานประกอบขั้นสุดท้าย ได้รับเงินเดือน เดือนละ 33,442 บาท และเงินประจำตำแหน่ง โจทก์ที่ 3 ทำงานตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2524 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งครบเกษียณอายุตามระเบียบของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายพนักงานซ่อมทั่วไป (2) กลุ่มงานประกอบขั้นสุดท้าย ได้รับเงินเดือน เดือนละ 31,729 บาท และเงินประจำตำแหน่ง โจทก์ที่ 4 ทำงานตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2526 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ซึ่งครบเกษียณอายุตามระเบียบของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายผู้ช่วยหัวหน้าส่วนอำนวยความสะดวกการผลิต กลุ่มงานอำนวยการผลิต ได้รับเงินเดือน เดือนละ 44,648 บาท และเงินประจำตำแหน่งเดิมจำเลยมีระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานสำหรับพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาจำเลยออกข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ซึ่งภายหลังได้มีการปรับปรุงเป็นข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้วฉบับใหม่ และใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน โจทก์ทั้งสี่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2540 ขณะโจทก์ทั้งสี่ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับเงินสมทบ (ส่วนของนายจ้าง) และผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมเป็นเงิน 678,258 บาท 477,829 บาท 582,714 บาท และ 792,490 บาท ตามลำดับ และจำเลยจ่ายเพิ่มส่วนต่างให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเงิน 550,642 บาท 360,271 บาท 453,586 บาท และ 534,910 บาท ตามลำดับ แล้ววินิจฉัยว่า ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ข้อ 80 ระบุว่าเมื่อลูกจ้างได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุน ให้ถือว่าสิทธิการรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานภายใต้ระเบียบเดิมของบริษัทที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นอันระงับไป โจทก์ทั้งสี่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยทราบเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว การแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งสี่สามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ย่อมมีผลผูกพันคู่สัญญาคือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์ทั้งสี่ และจำเลย ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยโจทก์ทั้งสี่ตกลงสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิมมาใช้สิทธิตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้วแทน จึงไม่อาจฟ้องเรียกเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิมที่ตนสละแล้ว รวมถึงเงินชดเชยตามอายุงาน และเงินประจำตำแหน่งซึ่งเป็นบรรดาเงินต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานที่ใช้ก่อนการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว การจ่ายเงินชดเชยตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีลักษณะแตกต่างกัน โดยแตกต่างกันในวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณเงินถือว่าเงินสมทบที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แม้ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินสูงกว่าที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือหากลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินสมทบส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน้อยกว่าที่เคยมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานจำเลยจะจ่ายเงินส่วนต่างเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินเท่ากับที่มีสิทธิเดิม ก็ไม่มีผลทำให้เงินสมทบกลับกลายเป็นค่าชดเชยได้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจะอ้างข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ข้อ 80 ว่าเมื่อลูกจ้างได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนแล้ว ถือว่าสิทธิการรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานภายใต้ระเบียบเดิมของบริษัทที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นอันระงับไปมายกเว้นไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หาได้ไม่ เมื่อจำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดเกษียณอายุเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสี่ลงลายมือชื่อในใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการแสดงเจตนาต่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ได้แสดงเจตนาต่อจำเลย ไม่มีผลผูกพันจำเลย การแสดงเจตนาสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิม ตามใบสมัคร ข้อ 3 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่ อีกทั้งการสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามข้อ 3 ดังกล่าวยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการตราพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่สามารถใช้บังคับได้ โจทก์ทั้งสี่จำยอมลงลายมือชื่อในใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อประกาศที่ 22/2540 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2540 มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า “เมื่อพนักงานปัจจุบัน (เข้าทำงานก่อนวันที่ 1 เมษายน 2541) สมัครใจเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนฯ และสมาชิกภาพมีผลบังคับใช้แล้ว ให้ถือว่าสิทธิในการรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานภายใต้ระเบียบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันระงับไป แต่จะมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนฯ แทน โดยบริษัทฯ ให้หลักประกันแก่พนักงานว่า จำนวนเงินสมทบของบริษัทฯ ที่จ่ายเข้ากองทุนให้แก่พนักงานเมื่อรวมกับส่วนเฉลี่ยผลประโยชน์สุทธิของเงินสมทบจะมีจำนวนไม่น้อยกว่าสิทธิที่พนักงานจะได้รับจากระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงาน…” ประกาศดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระเบียบของจำเลยว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงาน จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า ซึ่งจำเลยจะเปลี่ยนแปลงโดยลำพังไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงาน อันได้แก่ เงินชดเชยเมื่อเกษียณอายุเท่ากับเงินเดือนสุดท้าย 10 เดือน เงินชดเชยตามอายุงาน และเงินชดเชยเงินประจำตำแหน่งนั้น เห็นว่า เดิมโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยในกรณีเกษียณอายุคือเงินชดเชยเท่ากับเงินเดือนประจำ 6 เดือน ซึ่งภายหลังปรับปรุงเป็น 10 เดือน เงินชดเชยตามอายุงานและเงินชดเชยเงินประจำตำแหน่งตามระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานสำหรับพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ข้อ 1 และข้อ 2 ท้ายข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ต่อมาจำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยออกข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว และได้ปรับปรุงข้อบังคับที่ได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 80 มีสาระสำคัญว่าเมื่อลูกจ้างได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุน ให้ถือว่าสิทธิการรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานภายใต้ระเบียบเดิมของบริษัทที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นอันระงับไป ต่อมาโจทก์ทั้งสี่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสี่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยทราบเงื่อนไขตามข้อบังคับดังกล่าวและตกลงสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิมแล้วมาใช้สิทธิตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้วแทน เมื่อโจทก์ทั้งสี่สมัครใจเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยความสมัครใจ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะจัดตั้งขึ้นได้โดยความตกลงกันของนายจ้างและลูกจ้างตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 5 อีกทั้งจำเลยเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่และภายหลังจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วจำเลยก็ยังมีหน้าที่จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่อยู่อีก การที่โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยตกลงสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิม ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่แสดงเจตนาต่อจำเลยยินยอมสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิม เมื่อสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ที่จะได้รบเงินชดเชยตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานนั้น เป็นสิทธิที่เกิดจากระเบียบข้อบังคับ โดยไม่ปรากฏว่าเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่เกิดจากข้อเรียกร้อง จึงสามารถตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 และความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ตกลงยินยอมในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จึงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงาน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสี่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยยอมรับและเข้าใจข้อตกลงให้เปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินค่าชดเชยตามระเบียบข้อบังคับเดิมเป็นรูปแบบใหม่ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย เมื่อโจทก์ทั้งสี่เกษียณอายุจะได้รับเงินสองส่วน คือ งานที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินที่จ่ายจากจำเลย โดยจำเลยจะคำนวณเงินที่โจทก์ทั้งสี่เคยมีสิทธิได้รับตามข้อบังคับว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานฉบับเดิมแล้วนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนเงินสมทบส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่จำเลยนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากจำนวนเงินสมทบส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์ของเงินสมทบมีจำนวนน้อยกว่าสิทธิที่ลูกจ้างเคยได้รับตามข้อบังคับว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานฉบับเดิม จำเลยจะจ่ายเงินส่วนต่างแก่ลูกจ้างเพื่อให้จำนวนเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับมีจำนวนเท่าเดิมกับสิทธิเดิมที่ลูกจ้างเคยได้รับอันจะมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามข้อบังคับ ข้อ 52 อีกทั้งการคำนวณเงินชดเชยกรณีเกษียณอายุกับการคำนวณค่าชดเชยตามกฎหมายมีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงถือว่าเงินส่วนต่างที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายอีกนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง กำหนดเงื่อนไขให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างต่อเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างเท่านั้น และมาตรา 118 (1) ถึง (5) กำหนดหลักเกณฑ์การคิดคำนวณค่าชดเชยตามอัตราค่าจ้างผันแปรตามระยะเวลาทำงาน แต่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ได้ห้ามนายจ้างที่จะออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าชดเชยรวมไปกับเงินประเภทอื่น ดังนั้น การพิจารณาว่าเงินชดเชยที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่แล้วนั้นถือว่าเป็นค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นสำคัญ เดิมจำเลยออกระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานสำหรับพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ในกรณีลูกจ้างเกษียณอายุมีสิทธิได้รับเงินชดเชย คือ เงินเดือนประจำ 10 เดือน เงินชดเชยตามอายุงานโดยคำนวณจากอายุงานนับเป็นเดือน ลบ 120 คูณฐานเงินเดือน หาร 12 และเงินประจำตำแหน่ง ต่อมาจำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยออกข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ (ประเทศไทย) จำกัด และปรับปรุงใหม่ โดยข้อบังคับดังกล่าวข้อ 52 และข้อ 52.1 กำหนดให้สมาชิกที่เข้าทำงานกับนายจ้างก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 และสิ้นสมาชิกภาพเนื่องจากครบเกษียณอายุ เสียชีวิต ถูกให้ออกจากงานโดยไม่มีความผิด ศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือลาออกจากงาน โดยมีอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี มีสิทธิได้รับเงินสมทบและส่วนเฉลี่ยผลประโยชน์สุทธิของเงินสมทบดังต่อไปนี้ ในกรณีเงินสมทบและส่วนเฉลี่ยผลประโยชน์สุทธิของเงินสมทบมีจำนวนน้อยกว่าเงินชดเชยเมื่อออกจากงาน ให้กองทุนจ่ายเงินสมทบพร้อมทั้งส่วนเฉลี่ยผลประโยชน์ของเงินสมทบเต็มจำนวน และนายจ้างจ่ายเงินผลต่างระหว่างเงินสองจำนวนนี้เต็มจำนวนให้แก่สมาชิก หรือในกรณีที่เงินสมทบและส่วนเฉลี่ยผลประโยชน์สุทธิของเงินสมทบมีจำนวนมากกว่าเงินชดเชยเมื่อออกจากงาน ให้สมาชิกได้รับเงินสมทบและส่วนเฉลี่ยผลประโยชน์สุทธิของเงินสมทบเต็มจำนวน ข้อบังคับดังกล่าวทำให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้น ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว และมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลย การที่โจทก์ทั้งสี่ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว จำเลยได้นำเงินค่าชดเชยตามระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานของบริษัทอีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เรื่อง เงินชดเชยเมื่อออกจากงานมาสมทบที่นายจ้างจ่ายประเดิมครั้งแรก ข้อ 46 (ข) เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายประเดิมครั้งแรก ซึ่งส่งผลให้ค่าชดเชยตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวสิ้นสุดลงและเปลี่ยนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานอีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลต่างหากจากนายจ้าง และเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบจะจ่ายแก่สมาชิกที่พ้นจากการเป็นลูกจ้างด้วยเหตุครบเกษียณอายุ เสียชีวิต และลาออกโดยมีอายุงาน 10 ปี ซึ่งแตกต่างจากเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่เลิกจ้าง แม้โจทก์ทั้งสี่จะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว โจทก์ทั้งสี่ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share