คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4369/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนเฟนิลโพรพาโนลามีนซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำเลยที่ 1 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและพยายามขายในวันเวลาเดียวกันต่อเนื่องกันและเป็นจำนวนเดียวกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4 ที่บังคับใช้ในขณะเกิดเหตุกำหนดคำนิยามของคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขาย จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพียงบทเดียว
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 3 (1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ซึ่งความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตามมาตรา 16 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 118 ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท ต่างจาก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 89 ที่ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 12, 18, 58, 62, 81 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 89, 116 ริบเมทแอมเฟตามีนและเฟนิลโพรพาโนลามีนกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ของกลาง นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 284/2552 ของศาลจังหวัดแม่สอด
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่หลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 (ที่ถูกมาตรา 80, 83) และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 62 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกต้องระบุมาตรา 81 ด้วย) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต และปรับคนละ 3,000,000 บาท ฐานร่วมกันขายเฟนิลโพรพาโนลามีน จำคุก 20 ปี และปรับคนละ 300,000 บาท ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทาง จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน ฐานอยู่ในราชอาญาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพภายหลังสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 กระทงละหนึ่งในสาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 46 ปี 13 เดือน 10 วัน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 46 ปี 10 เดือน 20 วัน และปรับคนละ 2,200,000 บาท นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 284/2552 ของศาลจังหวัดแม่สอด จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน เฟนิลโพรพาโนลามีน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และร่วมกันขายเฟนิลโพรพาโนลามีน ไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ดาบตำรวจ สมชาย และนายจักรพล นักสืบสวนสอบสวนประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกับพวกร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 13,800 เม็ด เฟนิลโพรพาโนลามีน 3 ถุง และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ของจำเลยทั้งสองได้เป็นของกลาง จากการจัดส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ เมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 254.556 กรัม เฟนิลโพรพาโนลามีนของกลางน้ำหนักสุทธิ 1,964.250 กรัม จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางและฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและร่วมกันขายเฟนิลโพรพาโนลามีนหรือไม่ โจทก์มีดาบตำรวจ สมชาย และนายจักรพล ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความว่า เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2550 ดาบตำรวจ สมชายได้รับแจ้งจากสายลับว่าสามารถติดต่อล่อซื้อยาเสพติดจากจำเลยทั้งสองได้โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 7309 xxxx มีหน้าที่จัดหายาเสพติดมาจากทางภาคเหนือแล้วหาลูกค้าทางภาคกลางและภาคใต้ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 6944 xxxx มีหน้าที่ขนส่งยาเสพติดจากทางภาคเหนือมาเก็บไว้ที่กรุงเทพมหานครเพื่อส่งให้ลูกค้าและเก็บเงินจากลูกค้า จำเลยทั้งสองเสนอขายเมทแอมเตฟามีน 40,000 เม็ด และเฮโรอีน 3 กิโลกรัม ให้สายลับในราคา 6,810,000 บาท ดาบตำรวจ สมชายจึงรายงานผู้บังคับบัญชาและได้รับคำสั่งให้อำพรางตัวเป็นเถ้าแก่เพื่อล่อซื้อโดยให้ประสานงานกับนายจักรพลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงนัดวางแผนเพื่อล่อซื้อและจับกุมในวันเกิดเหตุโดยให้ดาบตำรวจ สมชายกับสายลับไปติดต่อล่อซื้อ ส่วนนายจักรพลกับพวกสะกดรอยติดตามเพื่อเข้าจับกุม ดาบตำรวจ สมชายโทรศัพท์นัดหมายกับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 มาพบดาบตำรวจ สมชายและสายลับแล้วพาไปที่ห้องพักเลขที่ 320 ของ 49 กะรัตอพาร์ทเมนท์ พบจำเลยที่ 1 อยู่ในห้องพัก ดาบตำรวจ สมชายขอดูยาเสพติด จำเลยที่ 2 ไปหยิบเมทแอมเฟตามีน 1 ถุง จากตู้เสื้อผ้ามามอบให้ดาบตำรวจ สมชายดู ดาบตำรวจ สมชายขอดูทั้งหมดแล้วจะชำระเงินให้ จำเลยที่ 2 จึงเดินไปหยิบเมทแอมเฟตามีนรวม 69 ถุง ซึ่งบรรจุอยู่ในกระป๋องแป้งและ เฟนิลโพรพาโนลามีนซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าเป็นเฮโรอีน 3 ถุง จากตู้เสื้อผ้ามามอบให้ดาบตำรวจ สมชายดู ดาบตำรวจ สมชายจึงโทรศัพท์แจ้งให้นายจักรพลกับพวกเข้าจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมทั้งยึดเมทแอมเฟตามีน เฟนิลโพรพาโนลามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งสองเป็นของกลาง เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเบิกความนับตั้งแต่ที่ให้สายลับติดต่อล่อซื้อยาเสพติดจากจำเลยทั้งสอง การวางแผนล่อซื้อโดยมีการเตรียมเงินที่ใช้ในการล่อซื้อ การนัดหมายส่งมอบยาเสพติดจนกระทั่งสามารถจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน เฟนิลโพรพาโนลามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งสองเป็นของกลางเป็นลำดับโดยปราศจากข้อพิรุธ แม้โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการติดต่อล่อซื้อยาเสพติดจากจำเลยทั้งสอง แต่ดาบตำรวจ สมชายเบิกความว่า สายลับใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 1788 xxxx ในการติดต่อกับจำเลยทั้งสอง ซึ่งตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ปรากฏว่าสายลับโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองใช้โทรศัพท์ติดต่อกันเองตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2550 จนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุที่มีการจับกุมจำเลยทั้งสองจำนวนหลายครั้งต่อเนื่องกันมาโดยตลอดและขณะที่จำเลยที่ 2 มาพบดาบตำรวจ สมชายกับพวกที่จุดนัดพบก่อนที่จะพาไปที่ห้องพักที่เกิดเหตุก็มีการบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน เมื่อไปถึงห้องพักที่เกิดเหตุก็พบจำเลยที่ 1 อยู่ในห้องและสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนและเฟนิลโพรพาโนลามีนที่มีการติดต่อซื้อขายและส่งมอบกันได้เป็นของกลาง ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าว ที่จำเลยที่ 1 เบิกความอ้างว่า นางมะนวยไม่ปรากฏชื่อสกุลเคยพาชายไทยคนหนึ่งมาพบจำเลยที่ 1 โดยแนะนำว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและเป็นเถ้าแก่ ขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยติดต่อล่อซื้อยาเสพติดจากพวกกะเหรี่ยงดีเคบีเอที่ติดต่อไว้แล้วนั้นก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่ปรากฏว่าชายไทยดังกล่าวเป็นใครและเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริงหรือไม่ เพราะตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีการแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจให้จำเลยที่ 1 ดูแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าการมีหรือจำหน่ายยาเสพติดเป็นความผิดร้ายแรงและมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต ไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะตกลงรับเป็นคนกลางในการติดต่อล่อซื้อยาเสพติดให้แก่เถ้าแก่ซึ่งคิดว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อเป็นการช่วยเหลืองานราชการโดยไม่มีหลักฐานการแสดงตัวหรือบันทึกเกี่ยวกับการที่ขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยติดต่อล่อซื้อยาเสพติดจากผู้จำหน่ายมาเป็นหลักฐานแต่อย่างใด ในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธโดยมิได้แจ้งหรือให้สายลับที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ปลอมตัวเป็นเถ้าแก่ช่วยแจ้งให้ดาบตำรวจ สมชาย นายจักรพลกับพวกซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมทราบว่า จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนและเฟนิลโพรพาโนลามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 ตามที่ได้รับการติดต่อจากสายลับของดาบตำรวจ สมชายเพื่อป้องกันมิให้ตนเองต้องถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดีในคดีนี้ นอกจากนี้พันตำรวจโท เรวัต พนักงานสอบสวนพยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความยืนยันว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพต่อหน้าทนายความและล่าม โดยจำเลยที่ 1 ก็มิได้แจ้งว่าเหตุที่ถูกจับกุมในคดีนี้เพราะจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนและเฟนิลโพรพาโนลามีนของกลางตามที่ได้รับการติดต่อจากสายลับซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ปลอมตัวเป็นเถ้าแก่แต่อย่างใด หนังสือรับรองก็ไม่ปรากฏเลขที่หนังสือของทางราชการและจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำพันตำรวจตรี พงษ์วิชช์ ซึ่งระบุว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองดังกล่าวมาเบิกความยืนยันรับรองว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจในการติดต่อล่อซื้อคดีนี้ อีกทั้งตามหนังสือรับรองดังกล่าวระบุเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมช่วยเหลืองานเจ้าพนักงานตำรวจตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 ถึงเดือนมีนาคม 2550 แต่จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมในคดีนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่มีการระบุไว้ในหนังสือรับรองดังกล่าวถึง 5 เดือน จึงเป็นพิรุธขาดน้ำหนักโดยเฉพาะตามหนังสือขอความเป็นธรรม นั้น จำเลยที่ 1 เพิ่งทำขึ้นหลังจากที่ถูกจับกุมเป็นระยะเวลาถึง 1 ปีเศษ หากจำเลยที่ 1 ถูกกลั่นแกล้งจับกุมดังที่ระบุในหนังสือดังกล่าวจริงก็น่าจะต้องรีบทำหนังสือติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมหรือพนักงานสอบสวนทราบตั้งแต่แรกเพื่อมิให้ตนเองต้องถูกดำเนินคดี จึงเป็นพิรุธขาดน้ำหนักเช่นเดียวกัน พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ขาดน้ำหนักไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ แต่การที่ดาบตำรวจ สมชายกับพวกขอดูเมทแอมเฟตามีนและเฟนิลโพรพาโนลามีนก่อนแล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนและเฟนิลโพรพาโนลามีนของกลางมาให้ดูโดยยังไม่ได้มีการตกลงซื้อขาย ไม่ได้ส่งมอบและไม่ได้ชำระราคากันเพราะดาบตำรวจ สมชายกับพวกร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสองก่อน การซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและเฟนิลโพรพาโนลามีนของกลางจึงยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนเฟนิลโพรพาโนลามีนซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและพยายามขายในวันเวลาเดียวกันต่อเนื่องกันและเป็นจำนวนเดียวกัน ซึ่งตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4 ซึ่งบังคับใช้ในขณะเกิดเหตุกำหนดคำนิยามของคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขาย จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพียงบทเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 3 (1) ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ซึ่งความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตามมาตรา 16 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 118 ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท ต่างจากพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 89 ที่ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 87 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2558 มาตรา 16, 118 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท ฐานร่วมกันขายเฟนิลโพรพาโนลามีน จำคุก 20 ปี และปรับ 300,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 กระทงละหนึ่งในสาม ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 2,000,000 บาท ฐานร่วมกันขายเฟนิลโพรพาโนลามีน จำคุก 13 ปี 4 เดือน และปรับ 200,000 บาท เมื่อรวมกับความผิดฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางและฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 46 ปี 13 เดือน 10 วัน และปรับ 2,200,000 บาท โดยให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 284/2552 ของศาลจังหวัดแม่สอด ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share