แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ยื่นคำร้องสอดว่า คดีของผู้ร้องสอดเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ให้ผู้ร้องสอดเสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องภายในนัดหน้าครั้นถึงวันนัดผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางค่าธรรมเนียมศาลและขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดทุนทรัพย์ด้วย ศาลชั้นต้นสอบทนายผู้ร้องสอดเกี่ยวกับราคาทรัพย์พิพาทแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดแถลงจำนวนทุนทรัพย์และเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนในนัดต่อไป มิฉะนั้นจะสั่งว่าผู้ร้องสอดทิ้งคำร้องสอด เมื่อถึงวันนัดผู้ร้องสอดได้ยื่นต่อศาลแต่เพียงหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินพิพาทว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้กำหนดราคาประเมินไว้ตารางวาละ 1,500 บาท และขอถือเป็นทุนทรัพย์ โดยผู้ร้องสอดไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง คำร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ถือเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1(3) จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174(2)
ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาท โดย อ. เจ้าของเดิมนำไปขายฝากไว้แก่โจทก์แล้วไม่ได้ไถ่คืนภายในเวลาที่กำหนด โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าตึกแถวดังกล่าวจาก อ. มาแต่เดิมอยู่ในตึกแถวนั้นต่อไป ซึ่งได้บอกกล่าวให้จำเลยรับทราบแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยจึงเป็นการอยู่ในตึกแถวของโจทก์โดยละเมิดเป็นการบรรยายถึงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่และการทำละเมิดของจำเลยชัดเจนแล้ว ไม่เคลือบคลุม
จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเพิกเฉยไม่ยอมออกไปจากตึกแถวและที่ดินพิพาทภายในกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าว และยังคงอยู่ในตึกแถวและที่ดินพิพาทนั้นตลอดมาจนกระทั่งโจทก์ฟ้องอันเป็นการละเมิดที่ต่อเนื่องคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15857 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินคือตึกแถวชั้นเดียวไม่มีเลขที่ จำนวน 2 ห้อง โดยนางอารีย์ เล็กเครือสุวรรณ เจ้าของเดิมได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมาขายฝากไว้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์2536 มีกำหนดเวลาไถ่ 3 ปี แต่นางอารีย์ไม่ได้ไถ่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายในกำหนด ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นมา จำเลยทั้งสองประกอบกิจการค้าในตึกแถวไม่มีเลขที่จำนวน 2 ห้อง ของโจทก์ดังกล่าวซึ่งมีขนาดพื้นที่กว้างห้องละ 4 เมตร ยาวห้องละประมาณ 10 เมตร โดยอาศัยสิทธิการเช่าจากนางอารีย์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองประกอบกิจการในตึกแถวดังกล่าวอีกต่อไป จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวของโจทก์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2540 แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากโจทก์นำตึกแถวให้บุคคลอื่นเช่าจะสามารถเก็บค่าเช่าในอัตราไม่น้อยกว่าเดือนละ 3,000 บาท ต่อห้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากตึกแถวดังกล่าวของโจทก์ และส่งมอบตึกแถวคืนให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยทั้งสองต่างชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15857 ทั้งมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองในตึกแถวชั้นเดียวจำนวน 2 ห้อง ตามฟ้อง ความจริงตึกแถวดังกล่าวเป็นของนางสาวพจวรรณ สิริรัตน์ จำเลยทั้งสองเข้าประกอบกิจการค้าในตึกแถวดังกล่าวมาตั้งแต่ก่อนปี 2536 โดยเช่าจากนางสาวพจวรรณ จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์ หากโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องคดีโจทก์ก็ขาดอายุความเนื่องจากเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดเกินกว่า 1 ปีนับแต่วันที่ขายฝาก และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่าเพราะเหตุใดจำเลยทั้งสอง จึงไปละเมิดสิทธิของโจทก์และการละเมิดดังที่โจทก์อ้างนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วันเดือนปีใด ทำให้จำเลยทั้งสองไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์และหลงข้อต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางสาวพจวรรณ สิริรัตน์ ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามทั้งสองสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) และขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 15857 พร้อมตึกแถวเลขที่ 67/19 เป็นของผู้ร้องสอด ห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารับคำร้องของผู้ร้องสอด สำเนาให้โจทก์จำเลยแก้ภายใน 15 วัน และเห็นสมควรให้เลื่อนคดีไปนัดชี้สองสถาน วันที่ 28 กรกฎาคม 2540 เวลา 9 นาฬิกา และสั่งไว้ในคราวเดียวกันนั้นด้วยว่า ตามคำร้องของผู้ร้องสอดอ้างว่า ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาท คดีของผู้ร้องสอดจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ให้ผู้ร้องสอดเสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องภายในนัดหน้าตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น วันที่ 11 กรกฎาคม 2540
ครั้นถึงวันนัด ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางค่าธรรมเนียมศาลและขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและกำหนดทุนทรัพย์เพื่อผู้ร้องสอดจะได้ดำเนินการเสียค่าขึ้นศาลได้ถูกต้องในนัดหน้า ศาลชั้นต้นสอบทนายผู้ร้องสอดว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทมีราคาเท่าใด ทนายผู้ร้องสอดแถลงไม่ทราบ และได้สอบทนายผู้ร้องสอดเกี่ยวกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1073/2538 ของศาลชั้นต้น ซึ่งผู้ร้องสอดเป็นโจทก์และโจทก์คดีนี้กับพวกเป็นจำเลยด้วย ทนายผู้ร้องสอดแถลงว่า จะสอบทนายโจทก์ว่าจะถือผลแพ้ชนะในคดีดังกล่าวเป็นผลแพ้ชนะระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดในคดีนี้หรือไม่ ภายหลังศาลชั้นต้นสอบทนายผู้ร้องสอดดังกล่าวแล้วได้มีคำสั่งว่า ผู้ร้องสอดเป็นฝ่ายอ้างว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดซึ่งมีผลให้คดีของผู้ร้องสอดเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ผู้ร้องสอดจึงต้องแถลงจำนวนทุนทรัพย์ในคดีนี้เพื่อกำหนดค่าขึ้นศาลต่อไป จึงให้ผู้ร้องสอดแถลงจำนวนทุนทรัพย์คดีนี้ และเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนในนัดหน้า มิฉะนั้นศาลจะสั่งว่าทิ้งคำร้องสอด และเห็นสมควรให้เลื่อนคดีไปนัดพร้อมหรือชี้สองสถานในวันที่ 18 กันยายน2540 เวลา 9 นาฬิกา ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น วันที่ 28 กรกฎาคม 2540
เมื่อถึงวันที่ 18 กันยายน 2540 ซึ่งเป็นวันนัด ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางค่าธรรมเนียมไปนัดหน้าอีกโดยอ้างเหตุเพื่อรอฟังผลคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1073/2538 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจะมีผลต่อรูปคดีและการตัดสินใจของผู้ร้องสอดที่จะเข้ามาในคดีนี้ต่อไปหรือไม่ และพร้อมกันนั้นผู้ร้องสอดก็ได้ยื่นคำแถลงขอเสนอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินพิพาทซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้กำหนดประเมินไว้ตารางวาละ 1,500 บาทมีเนื้อที่ทั้งหมด 90 ตารางวา คิดเป็นเงิน 135,000 บาท ผู้ร้องสอดจึงขอถือเป็นทุนทรัพย์คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ศาลได้ให้เวลาผู้ร้องสอดเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนรวม 2 นัดแล้ว ซึ่งนับเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนเศษแต่ผู้ร้องสอดก็ยังมาขอขยายเวลาเสียค่าขึ้นศาลอีก ซึ่งตามเหตุผลของผู้ร้องสอดนั้นหากผู้ร้องสอดจะเสียค่าขึ้นศาลก่อนแล้ว ในภายหลังไม่ประสงค์จะเข้าเป็นผู้ร้องสอดคดีนี้ ผู้ร้องสอดก็สามารถขอถอนคำร้องสอดได้ การที่ผู้ร้องสอดขอขยายเวลาในการวางค่าขึ้นศาลครั้งนี้จึงไม่มีเหตุอันสมควรถือว่าผู้ร้องสอดไม่ดำเนินการเสียค่าขึ้นศาลภายในเวลาที่ศาลกำหนดจึงมีคำสั่งว่าผู้ร้องสอดทิ้งคำร้องสอดตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นวันที่ 18 กันยายน 2540
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาท 2 ห้อง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 15857ตำบลตาหลวง (คลองตาหลวง) อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาทให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวพิพาทของโจทก์
ผู้ร้องสอดและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จะได้วินิจฉัยข้อฎีกาของผู้ร้องสอดและจำเลยทั้งสองตามลำดับดังต่อไปนี้
ฎีกาผู้ร้องสอดที่ว่า ศาลชั้นต้นยังไม่ได้กำหนดจำนวนทุนทรัพย์เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ร้องสอดได้เสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องสอดทิ้งคำร้องสอดจึงเป็นการไม่ชอบนั้นศาลฎีกาได้พิจารณาฎีกาแล้ว เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าผู้ร้องสอดทิ้งคำร้องสอดนั้น ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในวันที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่าคดีของผู้ร้องสอดเป็นคดีมีทุนทรัพย์ให้ผู้ร้องสอดเสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องภายในนัดหน้า ครั้นถึงวันนัดผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางค่าธรรมเนียมศาลและขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและกำหนดทุนทรัพย์ด้วย ศาลชั้นต้นสอบทนายผู้ร้องสอดเกี่ยวกับราคาทรัพย์พิพาทแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดแถลงจำนวนทุนทรัพย์และเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนในนัดต่อไป มิฉะนั้นจะสั่งว่าผู้ร้องสอดทิ้งคำร้องสอดเมื่อถึงวันนัดผู้ร้องสอดได้ยื่นต่อศาลแต่เพียงหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินพิพาทว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้กำหนดราคาประเมินไว้ตารางวาละ 1,500 บาท และขอถือเป็นทุนทรัพย์คดีนี้โดยผู้ร้องสอดไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวแล้วแต่ประการใด คำร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) นี้ถือเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1(3) ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องสอดเพิกเฉยไม่เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดไว้ดังกล่าวจึงเป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174(2) ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาเฉพาะข้อ 1.1 และ 1.2 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อ 1.1 ว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมไม่ได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่าเหตุใดจำเลยทั้งสองจึงละเมิดสิทธิของโจทก์ การละเมิดเกิดขึ้นเมื่อใดและโดยวิธีใด ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยนางอารีย์ เจ้าของเดิมนำไปขายฝากไว้แก่โจทก์แล้วไม่ได้ไถ่คืนภายในเวลาที่กำหนด โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้เช่าตึกแถวดังกล่าวจากนางอารีย์มาแต่เดิมอยู่ในตึกแถวนั้นต่อไป ซึ่งได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองรับทราบแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงเป็นการอยู่ในตึกแถวของโจทก์โดยละเมิด เป็นการบรรยายถึงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่และการทำละเมิดของจำเลยทั้งสองชัดเจนแล้ว ไม่เคลือบคลุมดังจำเลยทั้งสองกล่าวอ้างมาในฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาข้อ 1.2 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากนางอารีย์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 ครบกำหนดไถ่วันที่ 25 กุมภาพันธ์2539 นับแต่วันที่ขายฝากหรือนับแต่วันที่ครบกำหนดไถ่ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้เกินกว่า 1 ปี คดีขาดอายุความแล้วนั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาข้อนี้แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเพิกเฉยไม่ยอมออกไปจากตึกแถวและที่ดินพิพาทภายในกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าวให้ดำเนินการ และยังคงอยู่ในตึกแถวและที่ดินพิพาทนั้นตลอดมา จนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้ อันเป็นการละเมิดที่ต่อเนื่องคดีของโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน